หน้าแรกแกลเลอรี่

“โควิด-19” มากีฬาพัง! สบช่องสู่เกมวิถีใหม่ "เวอร์ชวลสปอร์ต"

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

30 ธ.ค. 2563 06:33 น.

คงไม่มีใครคาดคิดเป็นแน่แท้ว่า วันหนึ่ง การแข่งขันกีฬาทั่วโลก ย้ำว่าทั่วโลกจะต้องหยุดชะงักลงไปแบบพร้อมๆกัน

เต็มที่ที่สุดก็ดินถล่ม ฟ้าทลาย มีภัยธรรมชาติรุนแรงแบบไม่ทันตั้งตัว หรือเลวร้ายกว่านั้น ก็อาจเป็นสงครามที่ต้องรบรา ทำกีฬาต้องเบรกตัวเองไว้ก่อนในบางพื้นที่

แต่สุดท้ายเรื่องที่ไม่มีใครคิดถึงก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ถือกำเนิดเกิดขึ้น กลายเป็นเพชฌฆาตเงียบ

ทำให้ชาวโลกไปกันต่อไม่ได้ จากที่เคยใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไปไหนมาไหนก็ได้ ในทุกแห่ง ทุกที่บนโลกใบนี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ไม่สามารถทำกิจกรรมในที่สาธารณะได้เหมือนเคย เดินทางข้ามประเทศกันลำบาก

ต้องระมัดระวังกับไวรัสอันตรายตัวนี้กันอยู่

จริงๆแล้ว การแพร่ระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2019 โดยมีศูนย์กลางในจีน และหลังจากนั้นการแพร่ระบาดก็หนักหน่วงไปทั่วโลกขึ้นเรื่อยๆ จนลุกลามใหญ่โต พบมีผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตมากขึ้นทุกวัน

หากจำกันได้ ในวงการกีฬามีสัญญาณเตือนมาทีละนิดๆ เห็นได้ชัดเป็นบาสเกตบอล เอ็นบีเอ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา คู่ระหว่างยูทาห์ แจ๊ซซ์ กับโอกลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์ เมื่อทีมธันเดอร์ ไม่ยอมลงแข่งขัน เนื่องจากทราบมาว่า รูดี้ โกแบร์ต เซ็นเตอร์ทีมแจ๊ซซ์ ป่วยและไข้ขึ้นสูง ก่อนมีผลตรวจออกมาว่า เขาติดเชื้อโควิด-19

นั่นทำให้เกิดการประชุมก่อนการแข่งอย่างเร่งด่วน และมีมติให้เลื่อนการแข่งขันนัดนี้ออกไป

จากนั้นกีฬาชนิดต่างๆ ในทั่วทุกหัวระแหงบนโลกใบนี้ ก็ค่อยๆทยอยเลื่อน ทยอยยกเลิก กันไป แฟนกีฬาไม่สามารถเข้าชม หรือดูกีฬาได้เหมือนเก่า

ใหญ่โตที่สุดเห็นจะเป็นโอลิมปิก และพาราลิมปิก โตเกียว 2020 ที่จำใจต้องหลีกทาง ขยับไปแข่งขันในปีหน้าแทน

โลกกีฬาเหมือนถูกปิดสวิตช์ ความสนุกสนาน ความบันเทิงที่เคยชิน ทำไม่ได้อีกต่อไป อึดอัดกันอย่างไม่เคยเจอมาก่อน ขณะที่นักกีฬาก็ได้รับความเดือดร้อน เมื่อโปรแกรมแข่งขันต้องหยุดลง รายได้หดหาย ส่วนผู้จัด สโมสรต้นสังกัด ก็ได้รับความเสียหาย

ใกล้ตัวที่สุดในบ้านเรา รัฐบาลโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ต้องเยียวยาช่วยดูแลนักกีฬาอาชีพ นักกีฬาสมัครเล่น นักมวย และผู้เกี่ยวข้อง บุคลากรรอบด้าน ด้วยจำนวนเงินที่ไม่น้อย

จะบอกว่าโควิดมาทำกีฬาโลกพังไปเลย ก็คงไม่ผิดนัก!!!

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้ประเมินความเสียหายของวงการกีฬาในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา เอาไว้ พบว่า เสียหายมหาศาล เป็นเงินรวมถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 31.25 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีการประเมินมูลค่าที่ลีกกีฬาและทัวร์นาเมนต์การแข่งขันต้องสูญเสียรายได้ไปในช่วงโควิด-19 ซึ่งหากไม่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ นี่คือมูลค่าที่แต่ละลีกจะต้องได้รับ

เริ่มจากเมเจอร์ ลีก เบสบอล สหรัฐฯ จะได้รับ 2,256 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 70,522 ล้านบาท, อเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล สหรัฐฯ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 43,763 ล้านบาท, บาสเกตบอล เอ็นบีเอ สหรัฐฯ 1,011 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 31,603 ล้านบาท

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ 718 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 22,444 ล้านบาท, ลาลีกา สเปน 544 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 17,005 ล้านบาท, บุนเดสลีกา เยอรมนี 504 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15,755 ล้านบาท และเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ สหรัฐฯ 296 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,252 ล้านบาท

แต่สุดท้าย เป้าหมายรายได้ก็พังทลายหายไป

อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่ามนุษย์เรานี่แหละที่ฉลาดที่สุดในโลก เมื่อถึงทางตัน เมื่อเห็นว่ารายได้ที่เคยมีจะขาดหายไป หากไม่ทำอะไรสักอย่างคงจะอดตายอยู่กันแบบน่าเบื่อหน่าย

ประกอบกับในช่วงที่สภาวการณ์ของโลกเราปกติก็มีการแข่งขันอีสปอร์ต ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ชาวกีฬาเมื่อหลังพิงฝา ไอเดียจึงบังเกิด สามารถนำเทคโนโลยีในด้านเกมมาประยุกต์ใช้กับการแข่งขันกีฬาที่ขาดหายไปได้

กีฬาเสมือนจริง หรือ “เวอร์ชวล” จึงถูกนำมาแทนที่

ที่สำคัญยังได้นำนักกีฬาอาชีพในชนิดนั้นๆ มาทำการแข่งขันร่วมกัน เป็นการแก้ขัด ไม่ว่าจะเป็นฟอร์มูล่า วัน ที่นำนักแข่งเอฟ วัน มาขับกันจริงๆ ซึ่งอเล็กซานเดอร์ อัลบอน นักขับเอฟ วัน ลูกครึ่งไทย-อังกฤษของเรดบูล เรซ-ซิ่ง ทีม ก็ร่วมแข่งขันและคว้าแชมป์มาครองได้ 1 สนามด้วย

ส่วนพรีเมียร์ลีก ก็ได้จัดศึก “อี พรีเมียร์ลีก” โดยได้รวบรวม 20 นักเตะจาก 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เข้ามาร่วมการแข่งขัน มีบรรดานักเตะชื่อดังอย่าง ราฮีม สเตอร์ลิง จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้, เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ จากลิเวอร์พูล, ดิโอโก โชตา ตอนนั้นยังเล่นให้วูล์ฟส์ ก่อนย้ายมาหงส์แดง, อังเดร โกเมส จากเอฟเวอร์ตัน เป็นตัวชูโรง ซึ่งได้รับความนิยมจนต้องจัดถึง 2 ครั้ง

ด้านเทนนิสก็จัดการแข่งขัน “เวอร์ชวล มาดริด โอเพ่น” มีบรรดานักหวดชื่อดังเข้าร่วม นำโดย แอนดี เมอร์เรย์, ราฟาเอล นาดาล, อเล็กซานเดอร์ ซเวเรฟ, ดิเอโก ชวาร์ตซ์มัน ส่วนฝ่ายหญิง นำโดยอังเกลลา เคอร์เบอร์, มาดิสัน คีย์, เอลินา สวิโตลินา เป็นต้น

แชมป์ฝ่ายชายตกเป็นของเมอร์เรย์ ส่วนกีกี เบอร์เทนส์ นักหวดสาวชาวดัตช์ ก็ซิวแชมป์ประเภทหญิง ทั้งคู่ได้เงินรางวัลคนละ 150,000 ยูโร หรือประมาณ 5.25 ล้านบาท ก่อนนำไปบริจาคช่วยเหลือนักเทนนิสที่ได้รับผลกระทบขาดรายได้ในการดำรงชีวิต เนื่องจากไม่มีการแข่งขันเพราะไวรัสโควิด-19

ด้านศึกโมโตจีพี ก็จัดแข่งแบบ “เวอร์ชวล” เช่นกัน นักแข่งตบเท้าเข้าร่วมเพียบ ไม่ว่าจะเป็น 2 พี่น้อง “มาร์ก-อเล็กซ์ มาร์เกซ” จากเรปโซล ฮอนด้า, วาเลนติโน รอสซี อดีตแชมป์โลกชาวอิตาลีจากมอนสเตอร์ เอเนอร์จี้ ยามาฮ่า, ดานิโล เปตรุซซี จากดูคาติ เป็นต้น

นอกจากที่ต่างประเทศแล้ว ในไทยก็มีการจัดแบบ “เวอร์ชวล” เอาใจแฟนๆมอเตอร์สปอร์ตเช่นกัน ในศึก “เอ.พี.ฮอนด้า เวอร์ชวล เรซ” นำนักบิดดาวรุ่งจากโครงการเรซ ทู เดอะ ดรีม ของเอ.พี. ฮอนด้า มาประชันฝีมือแข่งขันผ่านเกมคอนโซลชื่อดังอย่างเพลย์สเตชัน 4 ขณะเดียวกัน ยังมีศึก “ยามาฮ่า แชมเปียนชิป เวอร์ชวล เรซ” ให้แฟนๆ ผู้ชื่นชอบความเร็วได้ลุ้นกันอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ก็ปรับตัวได้รวดเร็ว พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “ปั่นในบ้าน ต้านโควิด” ส่งเสริมให้ประชาชน ออกกำลังกายอยู่ที่บ้านของตนเอง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการปั่นจักรยานออนไลน์ หรือ E-Cycling ผ่านแอปพลิเคชัน “Zwift” ซึ่งจำลองสนามจริงทั่วโลกมาไว้ในแอปพลิเคชันนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

แบ่งเป็นการปั่นเพื่อสุขภาพ และเพื่อการแข่งขัน มีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Live เฟซบุ๊กแฟนเพจ Thaicycling Association เป็นประจำทุกวัน ซึ่งผลตอบรับน่าพอใจ มีผู้เข้าร่วมครึ่งล้าน กว่า 5 แสนวิว

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นเจ้าภาพจัดงาน United Through Sports World Virtual Youth Festival 2020 กีฬาและกิจกรรมเยาวชน แบบเสมือนจริงครั้งแรกของโลก รอบชิงชนะเลิศ ไปเมื่อวันที่ 20-22 พ.ย.ที่ผ่านมา งานนี้คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ ได้รับการแต่งตั้งจากไอโอซี ให้เป็นประธานจัดงาน และได้รับความร่วมมือจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานด้านกีฬา รวมกว่า 100 องค์กรทั่ว โลก และรัฐบาล ไทยที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี

มีเยาวชนทั่วโลกกว่า 2 แสนคน ได้มาแลกเปลี่ยนด้านกีฬา และวัฒนธรรม แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนได้รับเสียงชื่นชมไปทั่ว พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่น เป็นการปูทางในการเสนอตัวจัดกีฬายูธโอลิมปิก ในปี 2030 ของไทยต่อไป

รวมไปถึงการแข่งขันรายการระดับนานาชาติ อีกหลายรายการ ที่สหพันธ์กีฬาก็ปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธี มาชิงชัยกันผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะกับเทควันโดถือว่าทำได้เลย กับประเภทพุมเซ่ หรือท่ารำ เริ่มตั้งแต่สหพันธ์เทควันโดยุโรป จัดแข่งขันพุมเซ่แบบออนไลน์ ในรูปแบบเรียลไทม์ มีกรรมการตัดสินหน้าจอ ไปเมื่อเดือน เม.ย. ตัดปัญหาไม่ต้องเดินทาง ใครได้รางวัลก็จะส่งมอบให้ทางไปรษณีย์

และตั้งแต่กลางเดือน พ.ย.-ธ.ค. สหพันธ์เทควันโดโลกก็จัดแข่งขันเทควันโดพุมเซ่ชิงแชมป์โลกออนไลน์ครั้งแรก สมาคมกีฬาเทควันโดฯ ที่มี ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคม ก็ส่งนักกีฬาไทย เข้าร่วมการแข่งขันด้วย

ทั้งหมดนี้ เรียกได้ว่า ในวิกฤติก็ยังมีโอกาส มีทางออกอยู่เสมอ ยังโชคดีอยู่บ้างที่ไวรัสอันตราย มาเกิดในยุคที่เทคโนโลยี ตอบโจทย์ความต้องการเราได้หลายทาง

วงการกีฬาโลก เลยสามารถนำมาปรับใช้ กันได้อย่างทันท่วงที

นอกจากเราต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล ที่ไม่เหมือนเดิม เพราะปัญหาโควิด-19 แล้ว เกมกีฬาเสมือนจริง หรือ เวอร์ชวลสปอร์ตก็เป็นอีกหนึ่งวิถีใหม่ที่เข้ามาอยู่กับเราชาวกีฬาโลก

ไปเรียบร้อยแล้ว...

กราวกีฬาไทยรัฐ