หน้าแรกแกลเลอรี่

"พิษโควิด-19" 8 เดือน พังธุรกิจกีฬาทั่วโลก 23.6 ล้านล้านบาท

ไทยรัฐออนไลน์

4 ส.ค. 2563 06:30 น.

พิษโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 8 เดือน มีการประมวลข้อมูลว่า ความเสียหายของธุรกิจกีฬาทั่วโลกอยู่ที่ 23.6 ล้านล้านบาท

นับตั้งแต่การตรวจพบการแพร่ระบาดของโรคไวรัส-19 ในเดือนธันวาคม ปี 2562 จนถึงตอนนี้ เป็นเวลา 8 เดือนแล้ว สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้ทำการวิจัย พบว่า โควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจทั่วโลกแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน นั่นก็คือ อุตสาหกรรมกีฬา

ยูเอ็น เผยแพร่ข้อความ ชื่อ The impact of COVID-19 on sport, physical activity and well-being and its effects on social development แปลเป็นไทยคือ ผลกระทบของ โควิด-19 ในกีฬา ทั้งในด้านการออกกำลังกาย การสร้างเสริมสุขภาพ และการพัฒนา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ระบุว่า มูลค่าอุตสาหกรรมกีฬาทั่วโลกในแต่ละปี มีมูลค่ารวมที่ 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 23.6 ล้านล้านบาท

มูลค่าดังกล่าว ไม่ได้หมายรวมเพียงแค่การแข่งขันกีฬาที่เกิดขึ้น ทั้งในระดับอาชีพ และสมัครเล่น แต่ยังมีอุตสาหกรรมรอง ที่เกี่ยวข้องอยู่มากมาย ทั้งเรื่องการค้าปลีก การบริการ การท่องเที่ยว การขนส่ง และการสื่อสารกระจายเสียง ฯลฯ ซึ่งการระงับการแข่งขัน ส่งผลให้ธุรกิจใกล้เคียงทั้งหมด ต้องถูกระงับไปพร้อมๆ กัน

แต่สิ่งที่ยูเอ็น เป็นห่วง กลับไม่ใช่เพียงตัวเลขมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่มันคือโอกาสในการพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมา กีฬา ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่มเสี่ยงที่เข้าถึงได้ยาก

สำหรับรายได้หลักจากอุตสาหกรรมกีฬา จำแนกรายได้ที่เสียไปออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งหากจำแนกรายละเอียดแล้ว โควิด-19 ทำให้มูลค่าของการแข่งขันนั้น เสียหายไปเกือบหนึ่งล้านล้านดอลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 31.25 ล้านล้านบาท) จำแนกในรายละเอียดดังนี้ 

1. รายได้จากการแข่งขัน 23 % 171,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5.34 ล้านล้านบาท)
2. รายได้จากร้านค้ากีฬา 36% 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8.44 ล้านล้านบาท)
3. ค่าธรรมเนียมเข้าสปอร์ตคลับ / ยิม 15% 115,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.59 ล้านล้านบาท)
4. การขายอาหาร, เครื่องดื่ม, การพนัน 26% 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6.25 ล้านล้านบาท)

ขณะเดียวกัน มีการประเมินมูลค่าที่ลีกกีฬาและทัวร์นาเมนต์การแข่งขัน ที่แต่ละลีกต้องสูญเสียไปในช่วงโควิด-19 ซึ่งหากไม่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ นี่คือมูลค่าที่แต่ละลีกจะต้องได้รับ ดังนี้ 

1. เมเจอร์ลีก เบสบอล (สหรัฐฯ) 2,256 ล้านดอลลาร์ (70,522 ล้านบาท)
2. อเมริกันฟุตบอล NFL (สหรัฐฯ) 1,400 ล้านดอลลาร์ (43,763 ล้านบาท)
3. ฮอกกี้น้ำแข็ง NHL (สหรัฐฯ) 1,089 ล้านดอลลาร์ (34,042 ล้านบาท)
4. บาสเกตบอล NBA (สหรัฐฯ) 1,011 ล้านดอลลาร์ (31,603 ล้านบาท)
5. พรีเมียร์ลีก (อังกฤษ) 718 ล้านดอลลาร์ (22,444 ล้านบาท)
6. ลาลีกา (สเปน) 544 ล้านดอลลาร์ (17,005 ล้านบาท)
7. บุนเดสลีกา (เยอรมนี) 504 ล้านดอลลาร์ (15,755 ล้านบาท)
8. เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ (สหรัฐฯ) 296 ล้านดอลลาร์ (9,252 ล้านบาท)

กลับมามองประเทศไทย ประมาณการความเสียหายเบื้องต้น เฉพาะในกีฬาฟุตบอล ก็ประมาณการไว้ที่ 5 พันล้านบาทแล้ว ขณะที่การแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ หรือโมโตจีพี 2 เฉพาะค่าลิขสิทธิ์การแข่งขัน ก็สูงถึงปีละ 300 ล้านบาท ยังไม่รวมกีฬาใหญ่อย่าง มวยไทย มวยสากลสมัครเล่น วอลเลย์บอลลีกอาชีพ รวมไปถึงรายการยิบย่อย อย่างการเดินวิ่ง การปั่นจักรยาน ฯลฯ

มูลค่าความเสียหาย ฟุตบอลไทย ช่วงพักการแข่งขันจากปัญหา โควิด-19 ประมาณการไว้ที่ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าถ่ายทอดสด ค่าจัดการแข่งขัน เงินเดือนบุคลากรกีฬา ฯลฯ

- ทีมชาติไทย 1,230 ล้านบาท
- ฟุตบอลลีกอาชีพ 4,005 ล้านบาท

ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ยังคงไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะในหลายประเทศ แต่ว่าก็เริ่มมีมาตรการผ่อนปรนออกมา ทำให้กีฬา เริ่มกลับเข้าสู่วงจรการแข่งขันใหม่ ในรูปแบบ new normal โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้เตรียมแผนฟื้นฟู และเยียวยา ด้านกีฬา หลังการแพร่ระบาด โควิด-19 ออกมาแล้ว แถลงการณ์ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา มีทั้งการปรับกระบวนการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนสมาคม ให้มีความรวดเร็ว การวางแผนเก็บตัวนักกีฬา ในรูปแบบใหม่ และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางกีฬา ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเรื่องนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลงานด้านกีฬา ได้เห็นชอบ และมีคำสั่งออกมาแล้ว ในวันที่ 29 เมษายน 2563 เรื่องการให้ กกท. รับผิดชอบช่วยเหลือเยียวยา บุคลากรกีฬา ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เข้าสู่เดือนสิงหาคมแล้ว กับความหวังเรื่อง วัคซีน ป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีออกมาเป็นระยะ ล่าสุดประเทศรัสเซีย ประกาศเตรียมเปิดให้ประชาชนรัสเซียเข้ารับวัคซีนได้ภายในเดือนนี้ หรืออย่างช้าคือเดือนกันยายน ในขณะที่อีกหลายชาติ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และไทย คาดการณ์ว่า อย่างเร็วที่สุด วัคซีน จะทำสำเร็จในเดือนตุลาคม ซึ่งไม่รวมระยะเวลาในการทดสอบผลข้างเคียง

อย่างไรเสียก็ขอให้ทั้งหมดทั้งปวง จบในปีนี้ แล้วปีหน้าฟ้าใหม่ เริ่มต้นการแข่งขันกีฬากันใหม่ ในวันที่สดใสเหมือนเดิม

เก้าแต้ม / รายงาน