ไทยรัฐออนไลน์
ไอโอซีเมมเบอร์ชาวไทยและรองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก เผย ที่ประชุมสหพันธ์ฯ ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศ เห็นชอบเพิ่มสัดส่วนการทำหน้าที่ของผู้หญิงจากทวีปต่างๆ ในกรรมการบริหารสหพันธ์ฯ ให้มากขึ้น เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ พร้อมแก้กฎใหม่ให้ประธานฯ อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 4 สมัย
วันที่ 19 ก.ค.63 คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสหพันธ์ฯ ครั้งที่ 81 มี 196 ประเทศ และสมาชิกสมทบ 9 ประเทศ เข้าร่วม โดยจัดประชุมในรูปแบบออนไลน์ มีศูนย์กลางที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในการถ่ายทอดสัญญานการประชุมไปยังชาติสมาชิกต่างๆ ทั่วโลก เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีการอนุมัติข้อเสนอเรื่องจำนวนโควตาเรื่องเพศและสัดส่วนที่นั่งแต่ละทวีป ในสภากรรมการบริหารสหพันธ์ฯ
ทั้งนี้ ก่อนที่การประชุมจะเริ่มเข้าสู่วาระต่างๆ โธมัส ลุนด์ เลขาธิการสหพันธ์ฯ ได้กล่าวข้อความของ คุณหญิงปัทมา ที่ระบุว่า เป็นที่ทราบดี การเกิดโรคระบาดโควิด-19 มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเราทุกคน สิ่งต่างๆ จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร เราต้องดำเนินชีวิตของเราต่อไปในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่
ดังนั้น ในเวลาที่ภาวะเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความเป็นปึกแผ่นของเรา คุณค่าแห่งประชาคมของเรา และความต้องการที่จะเชื่อมโยงกันในระหว่างพวกเรา เป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ขอให้สมาชิกสหพันธ์ฯ ทุกคนตระหนักว่า ไม่ว่าเราจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไร เราก็จะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยกัน โลกต้องการการอยู่ร่วมกัน เราต้อง “เข้มแข็งขึ้นด้วยกัน” อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นคือคำขวัญล่าสุดของไอโอซี ในขณะที่กำลังเดินหน้าสู่โตเกียว 2020 ในอีก 1 ปีข้างหน้า
รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก กล่าวต่อว่า สำหรับผลการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรองข้อเสนอเรื่องจำนวนโควตาเรื่องเพศ หมายความว่า เพศหญิง จะมีจำนวนที่นั่งในสภากรรมการบริหารสหพันธ์ฯ ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้จำนวนที่นั่งแต่ละทวีปได้รับต้องเป็นไปตามสัดส่วนโควต้าเรื่องเพศนี้ด้วย กล่าวคือผู้แทนของแต่ละทวีปในสภากรรมการบริหารของสหพันธ์ฯ จะต้องมีเพศหญิงไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่นั่งที่ทวีปนั้นๆ ได้รับ
และเพื่อให้จำนวนที่นั่งแต่ละทวีปได้รับเป็นไปตามโควตาเรื่องเพศ จึงได้มีการเพิ่มจำนวนที่นั่งอีก 2 ที่ ทำให้จำนวนที่นั่งทั้งหมดในสภากรรมการบริหารสหพันธ์ฯ เพิ่มขึ้นเป็น 30 ที่ อย่างไรก็ตามตำแหน่งรองประธานที่มาจากพาราแบดมินตัน และ 2 ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการนักกีฬาได้รับการยกเว้นให้สามารถเป็นเพศใดก็ได้ และไม่ได้ระบุว่าต้องมาจากทวีปใด
ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ที่เหลือในสภากรรมการบริหารสหพันธ์ฯ ซึ่งรวมถึงตำแหน่งประธาน จะต้องเป็นไปตามสัดส่วนที่นั่งของแต่ละทวีปดังนี้ คือ เอเชีย 10 ที่นั่ง ยุโรป 9 ที่นั่ง อเมริกา 3 ที่นั่ง แอฟริกา 3 ที่นั่ง และโอเชียเนีย 2 ที่นั่ง
หลังการประชุม พอล อิริก โฮเยอร์ ประธานสหพันธ์ฯ กล่าวว่า ครั้งนี้เราได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก ตนขอขอบคุณสมาคมสมาชิกและผู้แทนผู้ลงคะแนนที่เป็นส่วนหนึ่งของก้าวสำคัญของเราครั้งนี้
“ผมขอแสดงความยินดีกับสมาชิกที่ได้ลงคะแนนเสียงให้มีการปรับแก้ธรรมนูญ เพื่อรับรองความเสมอภาคทางเพศ ในสภากรรมการบริหารของสหพันธ์ฯ รวมถึงการอนุมัติกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ของสหพันธ์ฯ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาธรรมาภิบาลขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น เราได้ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสหพันธ์ฯ และเราจะยังคงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ต่อไป”
นอกจากเรื่องการอนุมัติแก้ไขธรรมนูญข้างต้นแล้ว ที่ประชุมยังได้รับรองการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ฯ ไว้ไม่เกิน 4 สมัย สมัยละ 4 ปีอีกด้วย.