ไทยรัฐออนไลน์
ไอโอซีเมมเมอร์ชาวไทยเผย ไอโอซีร่วมกับสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เผยแพร่แนวทางใหม่ ในการจัดการแข่งขันกีฬา โดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) โดยมีชื่อว่า “การลดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของการจัดการแข่งขันกีฬา” ซึ่งเป็นการให้คำแนะนำอย่างละเอียดแก่ผู้จัดการแข่งขันกีฬาทีละขั้นตอน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทุกช่วงของการวางแผนงาน
วันที่ 23 เม.ย.63 คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) กล่าวว่า ไอโอซีร่วมกับสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เผยแพร่แนวทางใหม่ในการจัดการแข่งขันกีฬาโดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี
สำหรับแนวทางใหม่นี้มีชื่อว่า “การลดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของการจัดการแข่งขันกีฬา” (Mitigating biodiversity impacts of sports events) ซึ่งเป็นการให้คำแนะนำอย่างละเอียดแก่ผู้จัดการแข่งขันกีฬาแบบทีละขั้นตอน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทุกช่วงของการวางแผนงาน
คำแนะนำส่วนหนึ่ง ได้แก่ การทำแบบประเมินผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ, ต้องมั่นใจว่าระบบแสงสีเสียงของการแข่งขัน จะไม่รบกวนชีวิตสัตว์ป่าในละแวกใกล้เคียง, สร้างกำแพงกั้นเพื่อป้องกันผู้ชมรบกวนระบบนิเวศอันเปราะบาง, ดำเนินการป้องกันการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตจำพวกที่อยู่ในกลุ่มผู้บุกรุก และปฏิบัติตามวิธีการดูแลที่ดีตามสถานที่จัดงานต่างๆ เป็นต้น
ไอโอซีเมมเบอร์หญิงชาวไทย กล่าวต่อว่า การแข่งขันกีฬาหลายรายการนำวิธีปฏิบัติเหล่านี้ไปใช้แล้ว อาทิ สมาคมเรือใบอังกฤษเคยร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในปี 2016 จัดโครงการ Check-Clean-Dry เพื่อให้คำแนะนำกับนักแล่นเรือใบในการป้องกันการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตในสปีชีส์ผู้บุกรุก, การแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ "โกลด์โคสต์ 2018" ที่ออสเตรเลีย รณรงค์ให้แฟนกีฬาพกขวดน้ำที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้มากดน้ำดื่มฟรีที่สนามกีฬา และผู้จัดโอลิมปิก ลอนดอน 2012 มีการกำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้ชมการแข่งขันจักรยานทางไกล เพื่อไม่ให้รบกวนระบบนิเวศบริเวณ 2 ข้างทาง เป็นต้น
ทั้งนี้ ไกด์ไลน์ชุดนี้นับเป็นชุดที่ 3 ที่จัดทำโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ภายใต้ความร่วมมือกับ ไอโอซี หลังจากรายงานชุดแรก เป็นการศึกษาความเชื่อมโยงทั้งหมด ระหว่างกีฬาและความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนชุดที่ 2 เน้นเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่
โดยนอกเหนือจากการทำแนวทางเหล่านี้แล้ว สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในกระบวนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2024 และทำหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมความยั่งยืนของไอโอซีอีกด้วย.