ไทยรัฐออนไลน์
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร และ ไทยแลนด์ไตรลีก ผนึกกำลังร่วมกันจัด "วิ่งผ่าเมือง ครั้งที่ 3" รายการ “อะเมซิ่งไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก 2020 พรีเซนเต็ด บาย โตโยต้า” หวังบูมเศรษฐกิจ สร้างกระแสท่องเที่ยวเชิงกีฬา คาดมีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 30,000 คน ร่วมแข่ง สร้างรายได้มากกว่า 900 ล้านบาท...
วันที่ 21 พ.ย. 62 ที่โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ ถนนรัชดาภิเษก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานแถลงข่าวการจัดการแข่งขัน วิ่งมาราธอนส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก รายการ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก 2020 พรีเซนเต็ด บาย โตโยต้า”
นายพิพัฒน์ ในฐานะรองประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า กระทรวงฯ มีนโยบายชัดเจนที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กีฬาที่มีโอกาสดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมเป็นจำนวนมากอย่างวิ่งมาราธอน, วิ่งเทรล หรือ ไตรกีฬา ให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักระยะยาว โดยมีแผนการสร้างแบรนด์ระดับโลกด้วยตัวเอง ในฐานะของตัวแทนรัฐบาล ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับเป็นเจ้าภาพในแต่ละส่วน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและสามารถจัดการแข่งขันมาราธอนในระดับโลกได้ ตนคาดหวังว่า การแข่งขันรายการนี้จะต้องจัดอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งจะทำให้รายการนี้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของมาราธอนที่คนทั่วโลก อยากเดินทางมาร่วมแข่งมากที่สุด ทั้งนี้ยังได้สั่งการให้ ททท. นำรายการนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดเป็นซีรีส์มาราธอนของประเทศไทย ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2563 โดยขั้นต้นเลือก 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (อะเมซิ่งไทยแลนด์มาราธอน), บุรีรัมย์, ชลบุรี, ภูเก็ต และ ราชบุรี โดยตั้งเป้ามีผู้ร่วมแข่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เกิน 100,000 คน เป็นคนต่างชาติมากกว่า 15,000 คน ส่วนการแข่งขันที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 มั่นใจว่าจะต้องดีกว่า 2 ครั้งแรกอย่างแน่นอน และหวังว่าปีนี้จะไม่เจอกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 เหมือนปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปีนี้มีการเตรียมการอย่างดี ทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภากรุงเทพฯ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานอำนวยการคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า ททท. ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา ให้เป็นเจ้าภาพหลัก โดยจะร่วมกับไทยแลนด์ไตรลีก พาร์ทเนอร์สำคัญทางด้านการกีฬาของ ททท. โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 มีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับให้ไทยเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวและการกีฬา หรือ SPORT TOURISM DESTINATION อย่างยั่งยืน ททท.จะใช้กระแสของกีฬาวิ่งที่กำลังบูมอย่างต่อเนื่องมาเป็นเครื่องมือหลัก ในการดึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางมาร่วมงาน ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 กิจกรรมนี้จะถือเป็นกิจกรรมหลักของ ททท. เช่นเดียวกับงานเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่เลยทีเดียว คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแข่งราว 30,000 คน เป็นชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 5,000 คน ก่อให้เกิดรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในระบบเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาท นอกจากนี้ยังตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 3 ปี อะเมซิ่งไทยแลนด์ มาราธอน จะเป็นหนึ่งในรายการที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาร่วมมากที่สุดในทวีปเอเชีย
"รายการอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน กำลังได้รับการประกาศการรับรองอย่างเป็นทางการจาก สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ IAAF ในฐานะ BRONZE LABEL ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งถือเป็นรายการมาราธอนน้องใหม่ของวงการวิ่งที่ได้รับการรับรองจาก IAAF เร็วที่สุด คือภายใน 2 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ ททท. ได้ออกบูธประชาสัมพันธ์รายการนี้ในรายการมาราธอนระดับโลกมากมาย อาทิ โอซาก้า มาราธอน ที่ประเทศญี่ปุ่น, ปักกิ่ง มาราธอน ที่ประเทศจีน, สิงคโปร์ มาราธอน ที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากนักวิ่งต่างชาติเป็นอย่างดี ททท. ได้จัดทำแผนการจัดการแข่งขันอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน ซีรีส์ 5 รายการ เสนอเข้า ครม.เศรษฐกิจ และได้รับความเห็นชอบในขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเร่งทำเอกสาร เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติโครงการดังกล่าว” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
สำหรับการแข่งขัน “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก 2020” ถูกจัดขึ้นมาเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยในปีนี้จะแข่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่กรุงเทพฯ แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้ มาราธอน 42.195 กิโลเมตร 6,000 คน, ฮาล์ฟ มาราธอน 21.1 กิโลเมตร 9,000 คน, มินิ มาราธอน 10 กิโลเมตร 12,000 คน และ เดินการกุศล 3.5 กิโลเมตร 3,000 คน
ทั้งนี้ เส้นทางการวิ่งมาราธอน 42.195 กิโลเมตร เริ่มจากสนามราชมังคลากีฬาสถาน ออกประตู 4 ผ่านซอยรามคำแหง 24, ถนนถาวรถวัช 1 (ซอยรามคำแหง 24 แยก 2) ถนนพระรามเก้า (ใช้สะพานต่างระดับ) ถนนดินแดง (ใช้สะพานต่างระดับ/อุโมงค์ลอดใต้สะพาน) ถนนราชวิถี (ใช้สะพานต่างระดับ) ข้ามทางรถไฟ ถนนราชวิถี (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) ถนนพระรามที่ 5 (สุดถนนวกกลับ) ถนนราชวิถี (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) ถนนสวรรคโลก ถนนศรีอยุธยา (ฝั่งพระตำหนักจิตรลดาฯ) ถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาแยกจปร. ถนนวิสุทธิกษัตริย์ สะพานพระรามแปด ถนนคู่ขนานบรมราชชนนี (ขาเข้าเมือง) กลับตัวบนถนนบรมราชชนนี ช่วงก่อนถึงจุดตัดพุทธมณฑลสาย 4 ถนนคู่ขนานบรมราชนนี (ขาออกเมือง) สะพานพระรามแปด ลงสะพานเลี้ยวขวา มาที่ถนนราชดำเนินนอก ผ่านสะพานผ่านฟ้าฯ เลี้ยวขวาเข้าเส้นชัยหน้าถนนพระสุเมรุ ส่วนจุดปล่อยตัวของฮาล์ฟ มาราธอน อยู่ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เข้าเส้นชัยที่ถนนพระยาสุเมรุ (สะพานผ่านฟ้าฯ) ขณะที่ มินิ มาราธอน ปล่อยตัวที่ถนนราชดำเนินกลาง (หน้าโลหะสถาน) เข้าเส้นชัยที่ ถนนราชดำเนินกลาง (อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) และเดินการกุศล ปล่อยตัวที่ถนนราชดำเนินกลาง (หน้าโลหะสถาน) เข้าเส้นชัยที่ถนนราชดำเนินนอก (หน้า สน.นางเลิ้ง).