หน้าแรกแกลเลอรี่

"สสส.-มหิดล-สมาคมกีฬาญี่ปุ่น" ผนึกกำลังครั้งแรกในอาเซียนต่อยอดกีฬา

ไทยรัฐออนไลน์

11 พ.ค. 2562 14:15 น.

"สสส.-มหิดล-สมาคมกีฬาญี่ปุ่น" ผนึกกำลังครั้งแรกในอาเซียนต่อยอดกีฬา การละเล่นไทยดั้งเดิม พลิกวิกฤติเด็กไทย "ติดจอ" ในปัจจุบัน...

วันที่ 11 พ.ค. 62 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผนึกกำลังกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล และสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Sport Association) ร่วมมือกันส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชน โดยนำ "การเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการจากแดนซามูไร" (Active Child Program: ACP) มาผสานกับ "การละเล่นดั้งเดิมของไทย" เพื่อแก้ปัญหาเด็กไทยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงเกินเกณฑ์จนเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพ

โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า สสส. ได้นำประเด็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กมาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชากร และมองว่านี่คือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มีความคุ้มค่าที่สุดในระยะยาว โดยในปัจจุบันสถานการณ์เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่คร่าชีวิตของประชากรไทยปีละกว่า 7 แสนราย ได้ลุกลามและคืบคลานมาสู่กลุ่มประชากรวัยเด็กและเยาวชนมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของเด็กไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อความบันเทิงประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือเครื่องเล่นเกม ที่พบว่ากว่าร้อยละ 75 มีพฤติกรรมการใช้ที่สูงกว่าเกินเกณฑ์แนะนำทางสุขภาพเข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางสายตา สมองและการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม เราจึงได้ร่วมกันทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กในโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อบูรณาการและต่อยอดแนวคิดการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการจากประเทศญี่ปุ่น เข้ากับการละเล่นดั้งเดิมของไทยที่นับวันจะเลือนหายไป อีกทั้งยังช่วยสร้างทางเลือกในการส่งเสริมการเคลื่อนไหวและการมีกิจกรรมทางกายของเด็กไทยอีกด้วย

ด้าน มร.ชิฮารุ อิบาชิ ผู้จัดการทั่วไปสำนักส่งเสริมการกีฬา สมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ผลจากการใช้แนวคิดการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ ACP กับเด็กๆ ในประเทศญี่ปุ่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเด็กๆ ในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องสมรรถนะทางกาย สุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง พัฒนาการตามช่วงวัย ตลอดจนความสุขและรอยยิ้มที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ทางสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่นจึงปรารถนาที่จะถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนแนวคิดที่เป็นประโยชน์นี้ให้กับประเทศต่างๆ ที่สนใจ ได้นำไปประยุกต์ใช้กับเด็กๆ ในประเทศของตนอย่างเหมาะสมตามบริบททางสังคม ซึ่งเรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือในการทำงานดังกล่าวกับประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า สถาบันฯ มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม ซึ่งรวมถึงประเด็นทางด้านสุขภาพของประชากร กิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้จึงเป็นการต่อยอดงานวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนที่ทางสถาบันฯ กับทาง สสส. ร่วมมือกันดำเนินการก่อนหน้านี้ให้มีความหลากหลายในเชิงกระบวนการเพื่อนำไปสู่การเผยแพร่และขยายผลในระดับประเทศได้ในอนาคต

ด้านของ นายปัญญา ชูเลิศ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบส่งเสริมการเล่นในบริบทไทยเพื่อสร้างทักษะสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ THAI-ACP ชี้ให้เห็นว่า หลังจากที่ได้ทำการศึกษา เรียนรู้เรื่อง ACP ของประเทศญี่ปุ่นแล้ว พบว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อตัวของเด็กในหลายๆ ขณะเดียวกันยังเห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำแนวคิดเชิงกระบวนการในกิจกรรมดังกล่าวมามาผสานและประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวให้เด็กไทย เนื่องจากกิจกรรมการละเล่นของเด็กไทยและเด็กญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงมาก ความร่วมมือกันในครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้พัฒนาทางเลือกในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของเด็กไทยให้มีความหลากหลายและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของโรงเรียนได้มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ เราจะมีกิจกรรมที่ช่วยดึงความสนใจของเด็กๆ ให้ห่างหรือลดพฤติกรรมการใช้หน้าจอให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่ นายกฤดรักษ์ ปฐมฐานะกุล รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางกระดี่ กรุงเทพฯ ระบุว่า การส่งเสริมความสมบูรณ์และแข็งแรงทั้งกายและใจจึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเพียงพอและเหมาะสม ทว่าเด็กทุกวันนี้มีโอกาสและสถานที่ในการเล่นที่จำกัด การใช้เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับอุปกรณ์หน้าจอกระทั่งเรียกได้ว่า “ติดจอ ติดเกม” ซึ่งทางโรงเรียนเองก็มองเห็นและพยายามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดเชิงสถานที่ เวลา และบุคลากร ตลอดจนกระบวนการจัดกิจกรรม ทางโรงเรียนจึงมีความสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ THAI-ACP ครั้งนี้ โดยหวังและเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกับเด็กๆ ในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิผล