ไทยรัฐฉบับพิมพ์
วันแห่งความรักปีนี้ ถือเป็นข่าวดีของวงการกีฬาไทย เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. ...เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2562
โดยขั้นตอนจากนี้ สนช.จะนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. จากนั้นนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมาย เพื่อนำไปใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐได้ให้ความสำคัญกับการใช้กีฬา เพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพของพลเมืองและกำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศด้านการกีฬา
จึงจำเป็นต้องยกฐานะสถาบันการพลศึกษา หรือ สพล. เป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
เพื่อจัดการศึกษาและการวิจัยด้านการกีฬา การพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา การบริหารจัดการกีฬา การประกอบธุรกิจ และอุตสาหกรรมกีฬา รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนากีฬาภูมิปัญญา
ให้เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
อันจะเป็นประโยชน์ในการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาของประเทศ
ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน คณะกรรมาธิการ วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมและชี้แจงในวันที่ สนช.เห็นชอบด้วย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติจะเป็นการศึกษาด้านกีฬาเฉพาะทางมากขึ้น ให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากกว่าเดิม
รูปแบบหลักๆ สพล. 17 แห่งทั่วประเทศเดิม จะเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
โดยมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติจะแบ่งออกเป็น 4 ภาค เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้ สถานที่ตั้งของ สพล.อยู่ในภาคใด ก็จะเป็น วิทยาเขตประจำภาคของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติใหม่
สำนักงานอธิการบดีของมหาวิทยาลัยจะอยู่ที่วิทยาเขตชลบุรี
และเมื่อกฎหมายประกาศใช้ อธิการบดี สพล. จะหมดวาระลง แต่ก็ยังรักษาการจนกว่าจะได้อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติคนใหม่ ซึ่งจะมาจากการสรรหา
ขณะที่ รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ และกรรมาธิการและเลขานุการ คณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. กล่าวว่า ต้องขอแสดง ความยินดีกับอาจารย์ของ สพล.ทุกท่าน ที่ สพล. ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
“พระราชบัญญัติฉบับนี้ ใช้เวลาในการผลักดันกันมาอย่างยาวนาน เริ่มช่วงแรกตั้งแต่พ.ศ.2542 ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีส่วนในการแสดงความคิดเห็น และแนะนำแนวทางที่สำคัญๆในหลายๆเรื่อง”
รศ.ดร.สุพิตรกล่าวต่อว่า จากนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ทางด้านกีฬา ผลิตบุคลากรกีฬาอย่างมืออาชีพ และเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
มหาวิทยาลัยควรจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ อย่างที่ได้เคยเสนอไว้คือ ไม่อยากให้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษามากเกินไป ระดับปี 1-4 ไม่ควรจะเกินไปกว่า 500 คน เพื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและได้ผล
ต่อข้อถามว่า จากเดิมหลักสูตรของ สพล. มีอยู่แล้ว 3 คณะวิชา ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ คณะศิลปศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ การที่ขยับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ควรจะเพิ่มคณะหรือหลักสูตรใดเข้าไป
ในเรื่องนี้ รศ.ดร.สุพิตรให้ความเห็นว่า คณะหรือหลักสูตรใหม่ควรต้องทันสมัย เช่น วิทยาศาสตร์การกีฬา ก็ต้องเจาะลึกให้มากกว่าเดิม หรือจะเป็นธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมกีฬา ก็ต้องสามารถนำไปปรับใช้กับยุคปัจจุบันได้ กฎหมายกีฬา ก็ต้องศึกษากันอย่างจริงจัง แม้กระทั่งการเลือกชนิดกีฬา ในการเรียนการสอนก็ต้องสอดรับกับโอลิมปิกสปอร์ต เป็นต้น
ขณะเดียวกัน นอกจากการเรียนการสอนปกติแล้ว การเพิ่มงานค้นคว้าวิจัยของบรรดาอาจารย์ ในเรื่องต่างๆเข้าไปก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเราจะได้มีองค์ความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา
ทั้งหมดนี้ เป็นความคืบหน้าและทิศทางของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่จะเป็นแหล่งสร้าง แหล่งผลิตบุคลากรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพของวงการกีฬา
อันจะเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะคอยผลัก คอยส่งกีฬาไทย ก่อนที่จะก้าวไปสู่มาตรฐานสากล
อย่างยั่งยืน...
กัญจน์ ศิริวุฒิ