ฟ้าคำราม
แม้จะไม่สามารถไปบังคับได้อย่างจริงจัง
แต่การที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพูด คุยหาแนวทางร่วมกันในการทำมาตรฐานการจัดงาน
วิ่งไปเมื่อวันก่อน ถือว่าน่าสนใจ
อย่างน้อยๆก็จะได้เป็นคู่มือสำหรับผู้ที่จะเข้ามาจัดงานวิ่งได้เห็นภาพว่าควรต้องทำอย่างไรบ้าง ในการบริหารจัดการดำเนินการ เพื่อให้งานวิ่งสำเร็จลุล่วง
พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงกีฬา ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า การวิ่งเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันคนไทยนิยมกันมาก มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คนไทยให้ความสนใจออกกำลังกายด้วยการวิ่งอย่างสม่ำเสมอมากถึง 15 ล้านคน ในจำนวนนี้
มีกลุ่มที่วิ่งมาราธอนอยู่ 2 ล้านคน
จากเดิมมีการจัดงานวิ่ง ปีละประมาณ 100 รายการ แต่สำหรับปีนี้ 2561 มีมากกว่า 1,000รายการ
ตัวเลขทั้งนักวิ่งและรายการวิ่งถีบตัวสูงขึ้นพร้อมๆกัน
ดังนั้น การจัดงานวิ่งในแต่ละสัปดาห์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยเพราะจำนวนผู้เข้าร่วมงานยิ่งมาก การบริหารจัดการก็จะยิ่งยากขึ้นตามไปด้วย
กรณีจัดงานวิ่งในสวนสาธารณะอาจจะเบาหน่อย แต่ถ้าจัดวิ่งบนถนนต้องประสานงานให้ดี มีปัจจัยเรื่องการจราจรเข้ามาเกี่ยวข้องเต็มๆ
โดยสิ่งที่กระทรวงกีฬาเน้นย้ำอย่างมาก คือ มาตรฐานการวิ่งที่ปลอดภัย
หลักๆแล้วคือ ผู้จัดงานจะต้องเตรียมน้ำดื่มให้เพียงพอ มีระยะให้น้ำที่สม่ำเสมอ เตรียมน้ำดื่มให้พอกับจำนวนคน เรียกว่าเหลือดีกว่าขาด
รวมทั้งจะต้องมีการเตรียมการปฐมพยาบาล ที่ได้มาตรฐาน
เรื่องเหล่านี้จะมาล้อเล่น หรือคิดว่าไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ แม้จะเป็นการออกกำลังกาย แต่หากไม่มีน้ำดื่ม ไม่มีรถพยาบาล เตรียมพร้อมไว้อาจอันตรายถึงชีวิต
ก็ดีเหมือนกัน ที่มีกรณีตัวอย่างการจัดงานวิ่ง ที่ไม่สู้ดีนักเกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้ ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตื่นตัวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
และจะได้ทำให้ผู้จัดงานสำนึกตระหนักเอาไว้ในใจเลยว่า จะจัดงานแค่หวังมีรายได้อย่างเดียว คงไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีมาตรฐานที่เป็นสากล
ได้เงินค่าวิ่งไปแล้ว จะไม่สนใจ ไม่แคร์อะไร จะทำอะไรก็ได้ จัดให้ผ่านๆไป
ไม่ได้เด็ดขาด...
ฟ้าคำราม