หน้าแรกแกลเลอรี่

หน้าบาน! 'บิ๊กหมึก' แฮปปี้ผลงานสองล้อในซีเกมส์เป็นไปตามคาด

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

9 ก.ย. 2560 15:00 น.

สองล้อสรุปผลงานซีเกมส์เป็นไปตามที่คาด “บิ๊กหมึก” พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมฯ ชี้เป็นผลพวงจากโครงการสร้างประสบการณ์การแข่งขันให้กับนักปั่นโดยแท้ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพกันต่อ โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งองค์กรกีฬาระหว่างประเทศ และประเทศในภูมิภาคอื่นๆ 2 ดาวรุ่งบีเอ็มเอ็กซ์ โชคดี สหพันธ์ฯ คัดเลือกให้ไปฝึกซ้อมระดับสูงที่ศูนย์จักรยานโลก เมืองเอเกิล สวิตเซอร์แลนด์ ชี้อุปสรรคในประเภทลู่คือสนาม...

วันที่ 9 ก.ย.60 “บิ๊กหมึก” พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า จากผลงานของทีมจักรยานไทยในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งได้มา 2 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน และ 6 เหรียญทองแดงนั้น นับว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ทางสมาคมคาดหวัง

“สองเหรียญทองที่ได้คือในประเภทโรดเรซบุคคลชาย จากนวุติ ลี้พงษ์อยู่ และประเภทออมเนียมหญิง (ลู่) จากจุฑาธิป มณีพันธุ์ นั้น เป็นผลมาจากโครงการสร้างประสบการณ์การแข่งขันให้แก่นักปั่นไทย ซึ่งทั้งสองคนเป็นนักปั่นถนนอาชีพ โดยนวุตินั้นสังกัดอยู่กับทีมไทยแลนด์ คอนติเนนตัล ส่วนจุฑาธิปสังกัดมิเคลา ฟานินี ในอิตาลีและนำเอาประสบการณ์การแข่งขันในประเภทถนนมาปรับใช้กับการแข่งขันลู่หลายรายการจนได้เหรียญทองดังกล่าว ส่วนในประเภทลู่ที่มีสถิตินั้น ทีมสองล้อไทยพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยสถิติที่ทำได้ในแต่ละประเภทพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทีมสปรินต์ชาย สถิติ 45.717 วินาที ทีมเปอร์ซูตชาย สถิติ 4 นาที 15.245 วินาที หรือเปอร์ซูตบุคคลชายโดยสราวุฒิ ศิริรณชัย สถิติ 4 นาที 32.414 วินาที ล้วนแล้วแต่เป็นสถิติใหม่ประเทศไทยทั้งสิ้น”

นายกสมาคมกีฬาจักรยานฯกล่าวว่า จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าทีมจักรยานมาเลเซียเองก็มีพัฒนาการสูงขึ้นไปอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาซิซูล อาวัง นักปั่นระยะสั้นที่มีดีกรีแชมป์โลกคีริน หรือทีมเปอร์ซูตที่ทำเวลาต่ำถึง 4 นาที 10 วินาที ทีมสปรินต์ 44 วินาทีเศษ และเปอร์ซูตบุคคลชาย 4 นาที 25 วินาที ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในข่ายมีลุ้นเหรียญทองในระดับชิงแชมป์เอเชียทั้งสิ้น

“จากตัวเลขสถิติที่ออกมา แม้ว่าจะเป็นที่น่าพอใจ แต่เราก็ยังจะต้องพยายามพัฒนากันให้หนักขึ้นไปอีก ไม่เช่นนั้นช่วงห่างระหว่างมาเลเซียกับไทยในการแข่งขันประเภทลู่ก็จะยิ่งห่างออกไปอีก และหากนักปั่นไทยสามารถสู้กับมาเลเซียได้ เราก็จะมีหวังมากขึ้นในระดับทวีป ซึ่งในแผนการพัฒนาศักยภาพนักกีฬานี้ ทางสมาคมได้เริ่มวางแผนร่วมกับพันธมิตรทั้งองค์กรกีฬาระหว่างประเทศและประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีขีดความสามารถสูงในกีฬาจักรยานมาร่วมกันพัฒนาต่อไป แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงมากก็ตาม”

ส่วนในประเภทบีเอ็มเอ็กซ์เรซซิ่ง พล.อ.เดชา ระบุว่า ทีมไทยคว้ามาสองเหรียญเงิน โดยเฉพาะการที่นนทกร อินทร์โคกสูง แซงล้มแชมป์เก่าอดีตแชมป์เอเชียอย่างแอนดี้ คาล็อก นักปั่นลูกครึ่งฟิลิปปินส์ในรอบชิงชนะเลิศก็พิสูจน์แล้วว่านักปั่นไทยพัฒนาขึ้น แต่ก็น่าเสียดายว่า นักปั่นที่มีความหวังสูงสุดคือสิทธิโชค แก้วสีขาว บาดเจ็บกระดูกนิ้วมือแตกก่อนเดินทางไปมาเลเซียเพียงสัปดาห์เดียว ไม่เช่นนั้นไทยเราจะมีโอกาสลุ้นถึงเหรียญทอง ส่วนแนวทางการพัฒนานั้น สมาคมจักรยานจะเร่งสร้างนักกีฬาเยาวชนเสริมทีมชาติให้มากขึ้นและล่าสุด เป็นที่น่ายินดีว่าสองนักปั่นบีเอ็มเอ็กซ์ดาวรุ่งไทย โกเมศ สุขประเสริฐ กับสมคิด ฮาระตะวัน ได้รับคัดเลือกจากสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ให้เข้าไปร่วมฝึกซ้อมบีเอ็มเอ็กซ์ระดับสูงที่ศูนย์ฝึกจักรยานโลก (WCC) ในเมืองเอเกิล สวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนตุลาคม 2560 เป็นเวลา 11 วัน เพื่อร่วมคัดเลือกกับนักปั่นดาวรุ่งจากทั่วโลกเข้าสู่โครงการระยะยาวของยูซีไอต่อไป

พล.อ.เดชากล่าวในตอนท้ายว่า ประเด็นสำคัญอีกประการที่เป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนานักปั่นประเภทลู่ก็คือสนามแข่งขันและฝึกซ้อม ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันระดับนานาชาติโดยเฉพาะรายการใหญ่ๆ หันมาใช้ลู่ไม้ปาร์เกต์ในร่มระยะทาง 250 เมตรกันหมดแล้ว ส่วนในเมืองไทย สนามเวโลโดรมที่มีอยู่ทั้งสี่แห่ง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ/สุพรรณบุรี/ เชียงใหม่ หรือนครราชสีมา ล้วนแล้วแต่เป็นลู่ซีเมนต์กลางแจ้งระยะทาง 333.33 เมตร ซึ่งก็เป็นประเด็นที่จะต้องหารือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ในแผนดำเนินการก่อสร้างสนามเวโลโดรมแห่งใหม่ให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้