หน้าแรกแกลเลอรี่

ไม่จริง! กกท. ยืนกราน เงินกองทุนฯมิใช่สาเหตุ 'ซีเกมส์' ตํ่าเป้า

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

9 ก.ย. 2560 12:30 น.

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ชี้แจงกรณีเงินกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ที่ทาง “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านการพัฒนากีฬา เปิดประเด็น ระบุว่า มีการเบิกจ่ายให้สมาคมกีฬาล่าช้า ส่งผลกระทบต่อผลงานนักกีฬาในซีเกมส์ ครั้งที่ 29 โดย กกท.ให้รายละเอียด เป็นคนละประเด็นกัน เรื่องดังกล่าวจะต้องมีการวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง เพราะเรื่องเงินอาจจะไม่ใช่เรื่องหลักของการไม่ได้เป็นเจ้าซีเกมส์...

วันที่ 9 ก.ย.60 ตามที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ได้นำเสนอข่าว “เงินกองทุนช้าทำซีเกมส์พัง” โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพัฒนาด้านการพัฒนากีฬา ที่มี “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธาน ได้มีการพูดคุยในการประชุมเมื่อวันที่ 7 กันยายน เรื่องผลงานของนักกีฬาไทยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ว่าทำผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เป็นเจ้าอาเซียนทำผลงานดีมาโดยตลอด และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลงานครั้งนี้ไม่ดีมาจากการที่กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ไม่สามารถจ่ายเงินสนับสนุนสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยได้ตามเวลาของแผนงาน จึงฝากให้ กกท. และกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติหาแนวทางในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผลงานนักกีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันมหกรรมกีฬาในอนาคต โดยเฉพาะกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ในปี 2561 ที่ประเทศอินโดนีเซีย นั้น

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ขอชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า ในการดำเนินการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยของกองทุนพัฒนา การกีฬาแห่งชาตินั้น สมาคมกีฬาต่างๆจะต้องส่งเอกสารหลักฐานเข้ามาเบิก ขณะนี้กองทุนฯได้อนุมัติงบประมาณโครงการฯต่างๆไปแล้ว 3,721.1 ล้านบาท มีสมาคมกีฬาส่งเอกสารเข้ามาเบิกจ่ายแล้ว 2,280.2 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ดำเนินการตรวจสอบเอกสารและดำเนินการเบิกจ่ายไปแล้ว 1,331.1 ล้านบาท 2.เอกสารต่างๆที่ส่งมายังไม่ถูกต้องและต้องส่งกลับเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง 427.6 ล้านบาท และ 3.เอกสารที่ส่งมาไม่ตรงกับที่ขออนุมัติต้องขออนุมัติใหม่หรือขอปรับแผนและอยู่ระหว่างการดำเนินการ 521 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสมาคมกีฬาที่ยังไม่ส่งเรื่องเข้ามาให้พิจารณาอีก 1,413.5 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงการเร่งติดตาม เพราะใกล้สิ้นสุดปีงบประมาณ 2560 ในวันที่ 30 กันยายนนี้แล้ว

สำหรับประเด็นที่ว่าเงินกองทุนล่าช้าส่งผล กระทบต่อผลงานนักกีฬาในซีเกมส์นั้น ขอชี้แจงว่าเป็นคนละประเด็นกัน เรื่องดังกล่าวจะต้องมีการวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง เพราะเรื่องเงินอาจจะไม่ใช่ เรื่องหลักของการไม่ได้เป็นเจ้าซีเกมส์ ยกตัวอย่างจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าเหรียญทอง ซึ่งในครั้งนั้นไม่มีงบประมาณในการเตรียมนักกีฬาเลย ขณะนั้นได้รับเงินกองทุนมาเพียง 105 ล้านบาท และบอร์ด กกท. ไม่สามารถประชุมได้เนื่องจากยังไม่มีผู้ว่าการ กกท. การจะดึงเงินทุนสำรองมาใช้ก่อนก็ไม่สามารถทำได้ ต้องนำเงินอุดหนุนสมาคมประจำปีมาใช้ก่อน และดำเนินการของบกลางเพิ่ม ซึ่งกว่างบประมาณจะมาก็เป็นเวลา 2 เดือนก่อนการแข่งขัน แต่ไทยก็สามารถเป็นเจ้าซีเกมส์ได้

เรื่องนี้ต้องวิเคราะห์ว่าเรื่องเงินกองทุนล่าช้าใช่ประเด็นที่ส่งผลต่อการไม่ได้เป็นเจ้าซีเกมส์หรือไม่ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นการที่ประเทศเจ้าภาพกำหนดชนิดกีฬาที่เอื้อต่อประเทศของตน, เรื่องการบริหารจัดการด้านเทคนิคต่างๆ ได้แก่ การจัดโปรแกรมการแข่งขัน การกำหนดเวลาการแข่งขัน การกำหนดตัวผู้ตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิค รวมทั้งเรื่องที่พัก รถรับส่งเรื่องอาหาร รวมทั้งเรื่องการพัฒนาด้านกีฬาของประเทศต่างๆซึ่งจะต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพราะอาจไม่ใช่ประเด็นเรื่องงบประมาณล่าช้าแต่อย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม กกท.ขอเรียนว่า ที่ผ่านมาได้เร่งดำเนินการปรับแก้ในแต่ละส่วนเพื่อความรวดเร็วในการเบิกจ่าย อาทิ เรื่องเอกสารสมาคมที่ไม่ถูกต้อง กกท. ได้เชิญสมาคมมาหารือ/ชี้แจง รวมทั้งเชิญผู้ปฏิบัติงานเบิกจ่ายของสมาคมกีฬามาทำเวิร์กช็อป รวมทั้งจัดทำคู่มือ และเพิ่มอัตรากำลังเพื่อให้การเบิกจ่ายเร็วขึ้น ส่วนสมาคมกีฬาที่ยังไม่ส่งเรื่องเข้ามา ขณะนี้ได้มีการเร่งรัดให้สมาคมรีบดำเนินการ เพราะโดยระเบียบแล้ว เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ สมาคมที่ดำเนินการแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งเบิกจะต้องแจ้งมายัง กกท. เพื่อดำเนินการตั้งค้างจ่าย ส่วนสมาคมไหนที่ยังไม่ได้ทำ แล้วถ้ายังมีความประสงค์จะทำอยู่ก็ให้แจ้งมาที่ กกท. เพื่อจะขอคงรายการไว้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้อยู่ในระหว่างการเร่งรัดและติดตามข้อมูลจากสมาคมกีฬาต่างๆอยู่ ปัญหาเรื่องงบประมาณการเบิกจ่ายที่เกิดขึ้นนี้ จะต้องเป็นความร่วมมือกันของทั้งสองฝ่ายทั้งในส่วนของ กกท. ที่ต้องอำนวยความสะดวกในเรื่องของการเบิกจ่าย และในส่วนของสมาคมกีฬาเองที่จะต้องเป็นผู้ใช้งบประมาณ การที่มีเงินสนับสนุนจากภาษีการบริโภคสุราและยาสูบจำนวนมาก นับว่าเป็นเรื่องดีที่มีงบประมาณสำหรับใช้จ่ายเพื่อพัฒนาการกีฬาของชาติ เมื่อมีงบประมาณเข้ามาที่กองทุนฯ จึงเป็นความรับผิดชอบจากทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือกันในการใช้จ่าย/เบิกจ่าย ในส่วนของ กกท.ได้วางระบบการเบิกจ่าย และสมาคมก็ต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามระเบียบของกองทุนเพื่อความถูกต้องต่อไป