หน้าแรกแกลเลอรี่

มาตรฐานค่ายมวย

ฟ้าคำราม

9 เม.ย. 2567 05:04 น.

กฎ-ระเบียบและเงื่อนไขในการรองรับค่ายมวยมาตรฐาน “ค่ายมวย” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัย สำคัญที่ส่งผล โดยตรงกับพัฒนาการของนักมวยในสังกัด ซึ่งหากค่ายมวยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่ดีแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะนำพานักมวยก้าวเดินไปสู่ชัยชนะและการเป็นแชมป์ได้

โดยค่ายมวยไทยที่ดีและมีคุณภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ในการฝึกซ้อมที่ครบครัน และเทรนเนอร์มืออาชีพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักมวยและผู้ที่มาเรียนมวยไทย

กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย มีมติเห็นชอบเกณฑ์จัดตั้งมาตรฐานมวยไทยอาชีพ เพื่อให้ค่ายมวยไทยในประเทศมีมาตรฐานการบริหารจัดการที่เป็นสากล เพื่อช่วยส่งเสริมให้กีฬามวยไทย ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยเกณฑ์การประเมิน 4 ด้าน ดังนี้

มาตรฐานที่ 1 โครงสร้างพื้นฐานของค่ายมวยไทยอาชีพ (15 คะแนน)

ต้องมีเนื้อที่ 100 ตารางเมตร, กระสอบไม่น้อยกว่า 5 ใบ, มีเป้าป้องกันหน้าท้อง เป้าเตะ เป้าสั้นหรือ โค้งไม่ต่ำกว่ารายการละ 3 อย่าง, เครื่องออกกำลังกายไม่ต่ำกว่า 1 ชุด, ห้องพัก ห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายชายและหญิง, เวทีมวยขนาดอย่างน้อย 5 × 5 เมตร, เครื่องชั่งน้ำหนัก และเครื่องป้องกันในส่วนต่างๆ

มาตรฐานที่ 2 โครงสร้างบุคลากร (20 คะแนน)

จะต้องมีโครงสร้างของบุคลากรมวยไทยอาชีพอย่างชัดเจน มีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน ดังนี้

หัวหน้าค่ายมวย-ต้องจดทะเบียนเป็นหัวหน้าค่ายมวยกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย มีหน้าที่จัดสถานที่ อุปกรณ์การฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐาน ดูแลการฝึกซ้อมของนักมวย และการปฏิบัติการของบุคลากรในค่ายมวย พัฒนาคุณภาพชีวิต จัดสวัสดิการ รักษาผลประโยชน์ของนักมวยและบุคลากรของค่ายมวย

ผู้ฝึกสอน-ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนกีฬามวยไทยอาชีพจากสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยหรือเทียบเท่า มีหน้าที่พัฒนาความสามารถ และสมรรถนะของนักมวยให้ดีขึ้นโดยใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลงานของนักมวย ถ่ายทอดวิชาความรู้อย่างเต็มความสามารถ รวมทั้งแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนาวิชาชีพ เอาใจใส่ดูแลความปลอดภัยสุขภาพและความเป็นอยู่ของนักมวย

นักมวย-ต้องจดทะเบียนเป็นนักมวยกับสำนักงาน คณะกรรมการกีฬามวยอย่างน้อย 5 คน ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ฝึกสอนหรือหัวหน้าค่ายมวยอย่างเคร่งครัด ทั้งในเวลาและนอกเวลาฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน แข่งขันด้วยความสุจริต เต็มความสามารถ รักษาดูแลสุขภาพของตนเองด้วยการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ผู้จัดการนักมวย-ต้องมีใบอนุญาตเป็นผู้จัดการมวยจากสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย ดูแลเสนอชื่อนักมวยขึ้นแข่งขันเป็นประจำตามความเหมาะสม รักษาผลประโยชน์ของนักมวย ตลอดจนติดตามผลการแข่งขัน จัดหาระบบสิทธิประโยชน์แก่นักมวย ศึกษาติดตามความเคลื่อนไหวในวงการมวยอย่างใกล้ชิด

มาตรฐานที่ 3 โครงสร้างของการบริหารการจัดการของหัวหน้าค่ายมวย (50 คะแนน)

มีการจัดทำแผนบริหารค่ายมวยในระยะสั้น และระยะยาวอย่างชัดเจน มีการบริหารและบริหารจัดการค่ายมวยไทยอาชีพสอดคล้องกับพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 การบริหารจัดการบุคลากรภายในค่ายมวย มีส่วนร่วมความรับผิดชอบต่อสังคมในภาพใหญ่และการสนับสนุนชุมชนที่สำคัญ จัดทำรายงานผลการดำเนินงาน มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้

มาตรฐานที่ 4 หลักสูตร/เอกสารด้านวิชาการ/ และสื่อเกี่ยวกับกีฬามวย (15 คะแนน)

ต้องแสดงผลการดำเนินงานประจำปี มีหลักสูตร การเรียนการสอนสำหรับผู้สนใจเรียนมวยไทยหรือบุคคลทั่วไป มีตารางเรียนของผู้สนใจเรียนมวยไทย หรือบุคคลทั่วไป มีตารางฝึกซ้อมของนักมวยไทยในค่ายมวย มีเอกสารหรือสื่อการเผยแพร่เกี่ยวกับกีฬามวยไทย

ทั้งนี้ หัวหน้าค่ายมวยไทยที่มีความประสงค์ จะขอการรับรองมาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานค่ายมวยไทยอาชีพ จะต้องมีคุณสมบัติเป็นหัวหน้าค่าย มวยไทยที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย ตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ก่อนวันรับสมัครการตรวจประเมินไม่น้อยกว่า 1 ปี

ขณะที่ค่ายมวยไทยซึ่งได้รับมาตรฐานตาม เกณฑ์ไปแล้ว จะต้องได้รับการตรวจซ้ำ เพื่อต่ออายุใบรับรองมาตรฐานทุกๆ 3 ปี

******

สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลมาตรฐานของค่ายมวย ผ่านเพจ สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย เอาไว้อย่างครบถ้วนชัดเจน เลยนำมาแชร์ให้ทราบอีกทาง

คงได้เห็นโครงสร้างหลักๆกันไปแล้วว่าเป็นอย่างไร น่าจะมีประโยชน์ต่อทั้งค่ายมวยในปัจจุบัน หรือใครที่กำลังสนใจจะทำค่ายมวยในอนาคต

ถ้าทุกอย่างเป็นมาตรฐานก็จะส่งผลดีต่อวงการมวยโดยรวมในระยะยาวอย่างไม่ต้องสงสัย...

ฟ้าคำราม

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่