ไทยรัฐออนไลน์
ชาวเน็ต "กัมพูชา" เล่าเป็นฉากๆ "นายขนมต้ม" ยอดมวยไทยที่อยู่ในพงศาวดาร "ไทย-พม่า" แท้จริงแล้ว เป็นคนเขมร ที่มีชื่อว่า "ฉันใหญ่นะ"
วันที่ 10 เม.ย. 66 The Wild Chronicles - ประวัติศาสตร์ ข่าวต่างประเทศ ท่องเที่ยวที่แปลก ออกมาเปิดเผยว่า บนเว็บไซต์ khmer 440 ซึ่งใช้นามปากกาว่า SEAhistory ออกมาเล่าว่า "นายขนมต้ม" ยอดมวยไทย ที่ใช้ความสามารถในเชิงหมัดมวยชนะใจกษัตริย์พม่า ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า เป็นเรื่องที่ชาวไทยแต่งขึ้น โดยลอกไปจากตำนานของเขมร แท้จริงแล้วเป็นชาวเขมร แถมวิชามวยที่ใช้ก็เป็นมวยเขมรตามหลักฐานที่ปรากฏบนกำแพงนครวัด
SEAhistory เล่าว่า "กาลครั้งหนึ่ง เมื่อกษัตริย์พม่ารบชนะอยุธยาฯ และกวาดต้อนชาวไทยไป 1 ในนั้นมีทาสชาวเขมรคนหนึ่งอยู่ในหมู่เชลยไทย มีหน่วยก้านดี จึงถูกเรียกมาให้ต่อยมวยให้กษัตริย์พม่าดู ทาสเขมรคนนั้นชื่อ นายขนมต้ม แต่แทนที่จะต่อยมวย เขาได้ใช้วิชาร่ายรำอันงดงามและทรงพลัง ทำให้นักมวยพม่า 10 กว่าคน ที่เป็นคู่ชก มีอาการมึนเมา และถูกเขาสยบลงในที่สุด"
"วีรกรรมนี้ทำให้กษัตริย์พม่ามีความพึงพอใจ จึงประทานเงินทองและภรรยาให้กับนายขนมต้ม จนนายขนมต้มอยู่สอนวิชามวยเขมรในเมืองพม่า กลายเป็นต้นตำรับมวยพม่า หรือที่เรียกว่า และเหว่ (Lethwei)"
SEAhistory ยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานชิ้นใดระบุได้ว่า "นายขนมต้ม" เป็นคนไทย แต่ดันมีหลักฐานสนับสนุนว่า "นายขนมต้ม" เป็นคนเขมร เพราะชื่อของนายขนมต้ม เป็นคำที่ไม่มีความหมายในภาษาไทย โดยคำว่า "ขนม" นั้น แปลว่าของหวาน ส่วนคำว่า "ต้ม" แปลว่าต้มอาหาร หรือแปลว่าซุป
ตรงข้ามคำว่า "ขนมต้ม" กลับมีความหมายในภาษาเขมร โดยมาจากคำว่า "ขยม" ที่แปลว่า "ตัวฉัน" หรือ "ข้ารับใช้" และคำว่า "ธม" ที่แปลว่า "ใหญ่" ดังนั้น นายขนมต้มจึงมีชื่อที่แท้จริงว่า "นายขยมธม" ที่แปลว่า "ฉันใหญ่นะ"
พร้อมเชื่อว่า วิชาการร่ายรำแบบเขมร ได้ถูกพัฒนามาเป็นการ "รำไหว้ครู" ของมวยไทย สังเกตว่า ท่วงท่าคล้ายกัน และคำว่าครูก็เป็นภาษาเขมรด้วย นอกจากนั้นคำว่า "มงคล" หรือเครื่องประดับศีรษะที่นักมวยไทยใช้สวมนั้น เป็นคำที่ไม่มีความหมายในภาษาไทย แต่กลับมีความหมายในภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า "มงคล" (งงมะ) ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกหลักฐานว่า มวยไทยมาจากเขมรนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม "นายขนมต้ม" ถือเป็นยอดนักมวยในตำนาน ที่ใช้มวยไทยชนะใจพระเจ้ามังระแห่งพม่า ซึ่งปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและพระราชพงศาวดารพม่า รวมถึงในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน.