ไทยรัฐออนไลน์
"สภามวยไทยโลก" มีมติประกาศแต่งตั้งให้ "พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร" นั่งแท่นตำแหน่งประธานต่อไปอีกหนึ่งสมัย
วันที่ 8 ม.ค. 65 สภามวยไทยโลก ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการบริหารมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร ดำรงตำแหน่งประธานสภามวยไทยโลกต่อไป ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับการนานาประเทศไทยทั่วโลก ในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง และเป็นผู้ให้ความสำคัญในการรณรงค์อนุรักษ์มวยไทยศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย ยาวนานตั้งแต่พ.ศ. 2538
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร สภามวยไทยโลกฯ ซึ่งประกอบไปด้วย นายขจร พราวศรี ในฐานะประธานที่ประชุม ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ เลขาธิการ พลเอก เหมรัฐ ขำนิล รองประธาน ฝ่ายอนุรักษ์ส่งเสริมและพัฒนา นายเกรียงศักดิ์ มั่นมะโนธรรมะ รองประธาน ฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ นายอำนวย เกษบำรุง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลอื่นๆ อีกรวม 9 คน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุมสภามวยไทยโลกฯ โดยที่ประชุมได้พิจารณาถึง คุณูปการเป็นอย่างยิ่งของพลเอก เชษฐา ฐานะจาโร ที่มีต่อกีฬามวยไทยมาตลอดเวลา ในขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และประธานอำนวยการเวทีมวยลุมพินี ซึ่งได้แสดงความเป็นห่วงเป็นกังวลอย่างยิ่ง เมื่อมีการนำมวยไทยไปปู้ยี้ปู้ยำในต่างประเทศ โดยคนไทยบุคคลในวงการมวยร่วมมือกับนักธุรกิจต่างประเทศ ในแบบไม่เคารพและยอมรับถึงที่มาของศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของไทย
ซึ่งมีการบิดเบือนกติกาการแข่งขันโดยพลการ ทำให้ศิลปะมวยไทยได้รับความเสียหายได้รับผลกระทบในทางลบมาตลอดเวลา และด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดตั้งสภามวยไทยโลกฯ ขึ้นมา เมื่อปี 2538 ซึ่งได้รับการตอบรับจากภาครัฐบาลเป็นอย่างดี ภายใต้เจตนารมณ์ที่จะผดุงรักษาไว้ซึ่งศิลปะการต่อสู้ของชาติไทย ให้ดำรงเป็นมรดกของชาติต่อไป โดยในการนี้ ประธานกรรมาธิการการกีฬาสภาผู้แทนราษฎร นายชุมพล กาญจนะ ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เมื่อได้รับทราบข้อมูลและคำชี้แจงถึงเป้าหมายในการจัดตั้งสภามวยไทยโลกของพลเอก เชษฐา ฐานะจาโร ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2538
ทันทีที่เสร็จสิ้นการประชุม นายชุมพล กาญจนะ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึง นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ประธานกรรมการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ในวันที่ 24 มีนาคม 2538 ขอให้การกีฬาแห่งประเทศไทย สนับสนุนการจัดตั้ง โดยเป็นผู้ดำเนินการตามระเบียบที่สามารถทำให้เกิดองค์กรกีฬามวยไทยระหว่างประเทศขึ้นให้ได้ ซึ่งต่อมาการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้สนองตอบความประสงค์ของ สภาผู้แทนราษฎร โดยได้นำเรื่องการจัดตั้งสภามวยไทยโลก เข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2538 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรับทราบการจัดตั้งสภามวยไทยโลก ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2538
พิธีประกาศสถาปนาสภามวยไทยโลกอย่างเป็นทางการ ได้รับการจัดขึ้นที่ หอประชุมองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 โดยพลเอกวิมล วงศ์วานิช เป็นผู้กล่าวคำประกาศสถาปนา ทั้งนี้ภายใต้นโยบายของพลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ที่มีความประสงค์จะใช้ห้องประเทศขององค์การสหประชาชาติ เป็นสถานที่เปิดตัวสภามวยไทยโลกอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นองค์การระหว่างประเทศที่สามารถเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยและมวยไทยไปพร้อมๆ กัน
พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ไม่เพียงแต่จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภามวยไทยไทยโลก คนที่ 2 ต่อจากพลเอกวิมล วงษ์วานิช เพียงตำแหน่งเดียว แต่ยังได้รับเอาภารกิจในการผลักดันมวยไทยเข้าสู่โปรแกรมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์มาดำเนินการด้วย โดยเข้าดำรงตำแหน่งประธานโครงการมวยไทยสู่โอลิมปิก (Muaythai Towards Olympics) เป็นคนแรกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549
จนกระทั่งมีปัญหาเรื่องสุขภาพเมื่อ พ.ศ. 2562 จึงได้ลาออกจากตำแหน่ง และขอยุติบทบาทในการบริหารกิจการสภามวยไทยโลกไปด้วย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 ซึ่งคณะกรรมการสภามวยไทยโลก ได้แสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วย และมองเห็นภาพไม่สดใส จึงได้จัดประชุมพิจารณามาแล้ว 1 ครั้ง ขอให้พลเอกเชษฐา ดำรงตำแหน่งต่อไป ทั้งนี้โดยอาศัยข้อบังคับสภามวยไทยโลก ฉบับแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม พ.ศ. 2557 ข้อ 31 กรรมการสภา และกรรมการบริหารพ้นจากหน้าที่ดังต่อไปนี้ (31.1) ตาย (31.2) ออกตามวาระ (31.3) ลาออก โดยได้รับอนุญาตจากมติที่ประชุมคณะกรรมการสภา
คณะกรรมการสภามวยไทยโลก ได้แจ้งมติที่ประชุมครั้งก่อนตาม 31.3 ให้ พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ซึ่งพลเอกเชษฐา ได้ให้การต้อนรับคณะกรรมการที่เข้าพบอย่างอบอุ่น และได้แสดงท่าทีห่วงใยอนาคตของมวยไทยให้เป็นที่ประจักษ์ตลอดเวลาพูดคุย ดังนั้นในการประชุมครั้งล่าสุด จึงเกิดขึ้นและเป็นการตอกย้ำถึงมติที่เคยมีมาแล้วในการประชุมครั้งก่อน โดยผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด มีมติเป็นเอกฉันท์ให้พลเอกเชษฐา ดำรงตำแหน่งประธานสภามวยไทยโลกต่อไป ซึ่งจะนำเรียนมติที่ประชุมให้ทราบในเร็ววันนี้