กัญจน์
ทยอยจัดการแข่งขันในยุคไวรัสยังครองโลกกันไปบ้างแล้ว สำหรับกีฬาในไทย
หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไฟเขียวให้ 14 ชนิดกีฬา สามารถจัดการแข่งขันได้ตามคู่มือ มาตรฐานที่กำหนดไว้ร่วมกันกับแต่ละชนิดกีฬา
โดยยังจำกัดจำนวนคนในสนาม เฉพาะนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ยังไม่อนุญาตให้ มีผู้ชมเข้าไปดูในสนาม ติดตามได้จากการถ่ายทอดสด เท่านั้น
ทั้งนี้ มวยไทยถือเป็นกีฬาแรกๆที่ออกสตาร์ตแข่งขันที่เวทีมวยสยาม อ้อมน้อย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับพบว่านักมวยมีการกักตัว 14 วันในค่ายก่อนชก ตามที่ได้กำหนดไว้ในคู่มือ
ขณะที่การปฏิบัติตัวในค่ายมีการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างในการใช้ชีวิตแต่ละวัน การฝึกซ้อมก็มีการทำความสะอาดอุปกรณ์อยู่ตลอด แม้กระทั่งการพักผ่อนนอนหลับในแต่ละวัน จากเดิม นักมวยในค่ายนอนใกล้กัน ก็เปลี่ยนมานอนเว้นระยะ
แน่นอนไม่เหมือนเดิม แต่ก็ต้องฝืนทำ
สำหรับข้อปฏิบัติในการชกที่คู่มือระบุว่า ให้นักมวยหลีกเลี่ยงการเข้าปล้ำวงใน ทั้งในการซ้อมและแข่งขัน เรื่องนี้ สมิงดำ (ไมอามีคอนโด บางปู) ฉ.อจลบุญ แชมป์มวยไทยรุ่นซุปเปอร์แบนตัมเวท ของเวทีอ้อมน้อย กล่าวว่า ส่วนตัวถือว่าได้เปรียบกับกฎที่ออกมา เพราะตนถนัดออกอาวุธรอบนอก จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
“แต่ในกรณีคู่ชกเป็นมวยเน้นการใช้เข่า ต้องยอมรับว่าเขาเสียเปรียบแน่นอน อย่างตอนที่ จะถูกจับล็อก ผมยกเข่ากัน กรรมการก็มาห้ามแล้ว” สมิงดำกล่าว
ส่วน “ชุ้น เกียรติเพชร” พีระพงศ์ ธีระเดชพงศ์ โปรโมเตอร์ใหญ่จากศึกเกียรติเพชร ให้ความเห็นหลังเจอวิกฤติมาตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ว่า ในยุคโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในวงการมวย โดยเฉพาะอาชีพนักมวยที่ต้องแลกเลือดเนื้อและหยาดเหงื่อเพื่อให้ก่อเกิดรายได้
แต่เมื่อโควิดแพร่ระบาดหนัก ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง มวยไม่สามารถจัดการแข่งขันได้เหมือนเมื่อก่อน
แม้ตอนนี้รัฐบาลประกาศปลดล็อกให้สามารถกลับมาจัดการแข่งขันแบบไม่มีคนดูได้แล้วก็ตาม ซึ่งจุดนี้ถือว่ายังกระทบต่อวงการมวยอย่างมาก เนื่องจากรายจ่ายในการจัดแต่ละนัด ส่วนหนึ่งก็ต้องพึ่งพารายได้จากยอดบัตรผ่านเข้าประตู
โดยเฉพาะต่างชาติ ถือเป็นหัวใจสำคัญ ยิ่งมี นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าชมมากเท่าไหร่ ยอดรายได้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่เมื่อต้องจัดแบบไม่มีคนดู ทุกอย่างก็จบ
แต่ทั้งนี้ก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะเป็นอาชีพของเรา
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนกฎกติกาบ้างเล็กน้อย เช่น ในเรื่องการกอดรัดปล้ำเข้าทำคะแนน ตอนนี้จะมาทำแบบเมื่อก่อนไม่ได้ ปล้ำรัดนานๆไม่ได้แล้ว
ในเรื่องดังกล่าว ตนไม่ติดใจอะไร เพราะคิดว่าถือเป็นการร่วมมือและเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดอีกครั้งมากกว่า
เช่นเดียวกับเรื่องกักตัว 14 วันก็ไม่มีปัญหาเป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพราะเมื่อเป็นระเบียบข้อบังคับที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เรายิ่งต้องทำ เพื่อความปลอดภัยของพวกเราทุกคน
“คิดว่าการบังคับใช้คงไม่ใช่แบบถาวร น่าจะเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดมากกว่า อย่างไรก็ตาม ฝากถึงคนมวยว่า หากเราทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าไม่นานเราคงได้กลับมาจัดเหมือนเดิม” โปรโมเตอร์ชุ้นกล่าว
ด้าน นายวิบูณ จำปาเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวถึงสถานการณ์ในภาพรวม ของมวยไทยที่ได้กลับมาชกอีกครั้งว่า โดยรวมหลายๆ เวทีดำเนินการจัดการแข่งขันได้อย่างน่าพอใจ
แต่ก็ยังมีรายละเอียดที่ยังต้องแก้ไข อย่างที่เวทีสยาม อ้อมน้อย ยังพบว่าพี่เลี้ยงตะโกนเชียร์ที่มุมของตนเองโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย อยากให้ คนวงการมวยเข้มงวดทำตามคู่มืออย่างเคร่งครัด
ทั้งก่อนแข่ง ระหว่างแข่ง และหลังแข่งขัน!!!
ขณะที่การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ยังมีค่าใช้จ่ายที่แพง ตรงนี้ก็จะได้หาแนวทางแก้ไขต่อไป
สำหรับการจัดชก ในส่วนของเวทีมาตรฐาน มีการประสานกับคณะทำงานของกระทรวงกีฬา และ กกท.ต่อเนื่อง ส่วนเวทีต่างจังหวัดจะต้องขออนุญาตชกจากนายทะเบียน กกท.จังหวัดนั้นๆ และถ้าจะจัดต้องทำตามที่คู่มือกำหนด
ส่วนเซียนมวยก็ต้องระวัง แม้จะดูนอกสนาม จากการถ่ายทอดสดก็ไม่ควรรวมตัวกันจำนวนมาก และต้องมีระยะห่าง
นายวิบูณกล่าวต่อว่า แนวทางหลังจากนี้ ตน ซึ่งอยู่ในคณะอนุกรรมการฝ่ายแพทย์ของบอร์ดมวย ที่มี นพ.มารุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธาน ก็จะพิจารณาผลการจัดมวยในช่วงนี้ ถ้าออกมาดีก็จะเสนอข้อมูลไปสู่แผนต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นในระยะ 2 ที่จะมีคนดู 1 ใน 3 ความจุของสนาม มีระยะห่าง และระยะสุดท้าย ที่จัดได้ตามปกติ มีคนดูเข้าชม จะต้องดูจากสถานการณ์หลายอย่าง ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วัคซีนป้องกัน แต่ 2 ระยะนี้ ยังตอบไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
“ได้กำชับทุกเวทีให้เข้มงวดตามที่คู่มือจัดการแข่งขันกำหนดให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อคนวงการมวยทั้งหลาย ที่ผ่านมา มวยเป็น จำเลยสังคมมาตลอด ต้องยึดถือคู่มือเข้าไว้ เพื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม และเพื่อปากท้องของชาวมวยทุกคน” นายวิบูณกล่าวทิ้งท้าย
เรียกได้ว่ากฎระเบียบต่างๆในคู่มือจัดการแข่งขัน ชาวมวยอาจจะยังไม่คุ้นชิน แต่ก็จำเป็นที่ จะต้องทำให้ได้ ก็อย่างที่นายวิบูณระบุไว้ถูกต้องทุกอย่าง
ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อชาวมวยทุกคน แน่นอน อาจจะยุ่งยาก ไม่เหมือนเดิม อาจจะอึดอัดไปหน่อย แต่ก็ถือว่าปลอดภัยสำหรับทุกคน
ป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าต้องมาเป็นจำเลยสังคม อีกรอบ...
กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง