ไทยรัฐออนไลน์
กกท. จัดงานเสวนาการปฏิรูปมาตรฐานกลางเพื่อพัฒนามวยไทยอาชีพอย่างยั่งยืน ถอดบทเรียนกรณีศึกษาเวทีมวยราชดำเนิน
วันที่ 1 ก.ค. 65 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงานเสวนาการปฏิรูปมาตรฐานกลางเพื่อพัฒนามวยไทยอาชีพอย่างยั่งยืน โดยมี พลเอก สุชาติ แดงประไพ นายสนามมวยเวทีลุมพินี, นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย, นายนพรัตน์ พุทธรัตนมณี รองประธานจัดการแข่งขันมวยไทยไฟต์ และนายวรศักดิ์ ภักดีคำ ผู้อำนวยการสำนักงาน กกท. จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมเสวนา ณ ห้องประชุมชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ในรายการการแข่งขันชกมวย "ศึกเพชรยินดี" ที่ได้ปรากฏเป็นข่าวบนสื่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกีฬามวยไทยและประชาชนในวงกว้าง ทำให้เกิดวิกฤติด้านความเชื่อมั่น และศรัทธาที่มีต่อการแข่งขันกีฬามวยลดลง และส่งผลต่อการพัฒนากีฬามวยอาจหยุดชะงัก และอาจมีผลต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมกีฬามวยในทุกมิติ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ในการส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์การเผยแพร่กีฬามวย ที่มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับกีฬามวยเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพ ให้เกิดความสงบเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องปฏิรูปวงการกีฬามวยทั้งระบบ โดยเริ่มต้นจาก
1. จัดทำโครงการการรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูปมวยไทย / ประชาพิจารณ์ (Public Hearing) จากผู้ที่เกี่ยวข้อง
2. นำผลจากการรับฟังความคิดเห็นมาแปลงสู่การปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานในด้านต่างๆ
3. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยต้องปฏิบัติดามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกีฬามวยไทยโดยตรง
4. แก้ไขกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความเชื่อมั่นในกีฬามวยไทยมิใช่เป็นเพียงแค่กีฬาการต่อสู้ แต่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยซึ่งจะสามารถนำไปขยายผลเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในแบบซอฟต์พาวเวอร์สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬา จึงมีการส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานมวยไทยอาชีพ สำหรับการใช้ประโยชน์ร่วมกัน จำนวน 5 ด้าน ประกอบด้วย มาตรฐานผู้ฝึกสอนมวยไทย, มาตรฐานการตัดสินกีฬามวยไทย, มาตรฐานการจัดการค่ายมวยไทย, มาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬามวยไทย และมาตรฐานการเรียนการสอนกีฬามวยไทย เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานมวยกลางสำหรับประเทศไทยในการเผยแพร่เพื่อยกระดับมวยไทยให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกในการหาแนวทางป้องกันมิให้เหตุการณ์ที่จะส่งผลต่อการสร้างภาพลักษณ์กีฬามวยไทยที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการต่อสู้ประจำชาติไทยได้รับความเสียหายในอนาคต.