หน้าแรกแกลเลอรี่

แฟนลิเวอร์พูล ค้านหัวชนฝา “อีลอน มัสก์” สนซื้อทีม กลัวโดนเปลี่ยนชื่อเป็น XFC

ไทยรัฐออนไลน์

8 ม.ค. 2568 16:07 น.

แฟนลิเวอร์พูล ค้านหัวชนฝา “อีลอน มัสก์” สนซื้อทีม กลัวโดนเหมือนทวิตเตอร์ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น XFC

วันที่ 8 ม.ค. 67 หลังจากที่ เออร์รอล คุณพ่อของ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ เทสลา มอเตอร์ส และเจ้าของ ทวิตเตอร์ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น X ได้ออกมาเปิดเผยว่าลูกชายของตนมีความสนใจที่จะซื้อสโมสร "หงส์แดง" ลิเวอร์พูล เพราะคุณย่าของอีลอนเกิดที่เมืองลิเวอร์พูล

อย่างไรก็ตาม “หงส์แดง” มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ประมาณ 176,000 ล้านบาท ขณะที่ อีลอน มัสก์ ได้ชื่อว่าเป็น บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยมีทรัพย์สินสุทธิ 14.32 ล้านล้านบาท ทางทฤษฎีแล้วการซื้อกิจการครั้งนี้เป็นเรื่องง่ายสำหรับชายวัย 53 ปีผู้นี้

ข่าวดังกล่าวทำให้แฟนบอล “หงส์แดง” บางกลุ่มเกิดความกังวลอย่างมาก เนื่องจากเขามีประวัติการเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างรุนแรง เช่นที่เกิดกับ ทวิตเตอร์ (ปัจจุบันคือ X) จนแฟนบอลลิเวอร์พูลกลัวว่าหากเขาเข้ามาเป็นเจ้าของทีม จะเปลี่ยนชื่อทีมจาก LFC เป็น "XFC" 

และนี่คือความคิดเห็นของแฟนๆ ลิเวอร์พูล บางส่วน

  • เขาจะเปลี่ยนชื่อสนาม ชื่อสโมสร และทุกอย่างที่ทำได้ นี่คงเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับเรา
  • อย่าปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ไม่งั้นเขาจะเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น XFC
  • ใครก็ตามที่สนับสนุนเรื่องนี้ไม่ใช่แฟนบอลลิเวอร์พูลตัวจริง
  • ทุกอย่างจะถูกเปลี่ยนชื่อ Xiverpool, Xanfield
  • ฉันขอเลือก FSG มากกว่าเขานะ FSG อาจจะแย่ แต่คนนี้แย่ที่สุดในที่สุด

สำหรับ อีลอน มัสก์ เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังเข้าซื้อกิจการ ทวิตเตอร์ (Twitter) ในเดือนตุลาคม 2022 ด้วยมูลค่าประมาณ 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในแพลตฟอร์มและองค์กร อาทิ

- เปลี่ยนชื่อ Twitter เป็น X

- ปลดพนักงานจำนวนมากทั้งผู้บริหารระดับสูงและทีมงานในหลากหลายแผนก เช่น ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และทีมตรวจสอบเนื้อหา

- ระบบการยืนยันตัวตน (Verification) ที่เปลี่ยนไป เดิมที เครื่องหมายติ๊กถูก (Blue Checkmark) ใช้สำหรับยืนยันตัวตนของบุคคลสำคัญหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ แต่หลังจากการเปิดตัว Twitter Blue ผู้ใช้สามารถจ่ายเงินเพื่อรับเครื่องหมายนี้ได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาบัญชีปลอมที่สร้างความสับสนและลดความน่าเชื่อถือของระบบ

- ปิดสำนักงานบางแห่งทั่วโลก และหยุดจ่ายค่าเช่าในบางสถานที่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

- ลดค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เซิร์ฟเวอร์และการประมวลผลข้อมูล โดยใช้โซลูชันที่มีต้นทุนต่ำลง