ไทยรัฐออนไลน์
วิเคราะห์ เจาะลึก 4 นักเตะที่เพิ่งตบเท้าย้ายมาค้าแข้งใน พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นครั้งแรก ว่าพวกเขาจะเข้ามาสร้างผลกระทบอะไรให้กับหนึ่งในเวทีฟุตบอลที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก
การรอคอยสิ้นสุดลงแล้ว ฟุตบอล พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ใกล้จะกลับมาแข่งขันอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งสิ่งที่ถือเป็นไฮไลต์สำหรับช่วงเวลาก่อนเปิดฤดูกาลแบบนี้ก็คือ "ตลาดนักเตะ"
ก่อนเข้าฤดูกาล 2024/25 นี้ หลายทีมก็มีการเสริมทัพเข้ามาอย่างคึกคัก แต่บางทีมก็ยังไม่ขยับแม้แต่นิดเดียว คงไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นทีมอะไร เอาเป็นว่าถ้าทีมนั้นเริ่มเดินหน้าเสริมทัพเมื่อไหร่ เดี๋ยวเราจะมาพูดถึงกันแน่นอน
แต่สิ่งที่จะมานำเสนอทุกคนในวันนี้ก็คือ บรรดานักเตะที่ตบเท้าย้ายเข้ามาค้าแข้งใน พรีเมียร์ลีก เป็นครั้งแรก ว่ามีใครน่าสนใจ น่าจับตามองอย่างไรบ้าง จะเข้ามาสร้างผลกระทบให้กับทีมของพวกเขายังไง
เริ่มจาก ริคคาร์โด กาลาฟิโอรี ที่ย้ายจาก โบโลญญา มายัง อาร์เซนอล ด้วยค่าตัว 40 ล้านยูโร + แอดออน 5 ล้านยูโร
ถ้าใครได้ติดตามฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2024 ที่ผ่านมา ก็จะรู้ว่า ทีมชาติอิตาลี ผลงานน่าผิดหวังสุดๆ ทั้งการทำทีมของ ลูชาโน สปาลเล็ตติ ที่จับต้นชนปลายไม่เจอ นักเตะที่พาทีมคว้าแชมป์ในปี 2021 ก็พากันฟอร์มตกหมด
แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสิ่งเดียวจากอิตาลีชุดนี้ก็คือ ริคคาร์โด กาลาฟิโอรี กองหลังที่ทำได้ทุกอย่างทั้งรุกทั้งรับ โดยเฉพาะเกมรุกที่กระชากแหวกกลางสนามขึ้นมา แถมยังสร้างสรรค์เกมให้กับเพื่อนร่วมทีมได้อีก
ด้วยความครบเครื่องระดับนี้ เขาจะเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายในแผงหลังของ มิเกล อาร์เตตา ซึ่งเดิมทีก็มีสามตัวยืนอยู่แล้ว อย่างฝั่งขวามี เบน ไวท์ ตรงกลางมี วิลเลียม ซาลิบา และ กาเบรียล มากัลเญส
ซึ่งตัวซ้ายนี่แหละที่ อาร์เซนอล ตามหามานาน เพราะนับตั้งแต่ อาร์เตตา เข้ามา ก็ยังไม่มีใครที่เราบอกได้ว่าเป็นตัวจริงอย่างเต็มปาก เริ่มจาก คีแรน เทียร์นีย์ ที่เหลือมาจากยุคเก่า ก็ต้องพูดตามตรงว่าฝีเท้ายังไม่ถึงขั้นตัวจริง
ในรายของ ทาเคฮิโระ โทมิยาสึ ก็ชัดเจนว่าเอามาเป็นตัวแบ็กอัพ เพราะรับหน้าที่ได้ทุกตำแหน่งในแผงหลัง ขณะที่ตัวที่น่าจะใกล้เคียงกับคำว่าตัวจริงมากที่สุดอย่าง โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก ที่ อาร์เตตา เป็นคนจิ้มเองกับมือ มาแรกๆ ถือว่าดูดี
แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ก็ต้องพูดตามตรงว่า ซินเชนโก ฟังก์ชันในการใช้งานตรงตามที่ อาร์เตตา ต้องการ แต่ในแง่ของฝีมือ มันยังดีได้กว่านี้ ซึ่งการที่ อาร์เซนอล มุ่งเป้าไปที่ กาลาฟิโอรี มันก็ชัดเจนว่าเขาจะเข้ามาในฐานะตัวจริง
ดีลนี้จริงๆ อาร์เซนอล เกือบไม่ได้ เพราะ ยูเวนตุส เนี่ยแทบจะนอนมา แต่สุดท้าย โบโลญญา ไม่ยอมขายให้ เพราะไม่พอใจที่แอบไปเจรจาดึงตัว ติอาโก มอตตา มาเป็นกุนซือแบบลับหลัง สุดท้าย อาร์เซนอล เลยได้อานิสงส์ไป แถมค่าตัวก็ไม่แพงด้วย
ถามว่าสไตล์การเล่นของ กาลาฟิโอรี เป็นแบบไหน ถ้าจะให้ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ ยอสโก กวาร์ดิโอล ของ แมนฯ ซิตี้ น่าจะใกล้เคียงสุด คือเป็นกองหลังยุคใหม่ เติบโตขึ้นมาด้วยพื้นฐานของทั้งแบ็กซ้ายและเซ็นเตอร์แบ็ก การเล่นเกมรับก็จะโดดเด่นในเรื่องของการเข้าแท็กเกิลไว ดวล 1 ต่อ 1 กับปีกได้ดี ซึ่งก็ตรงกับคุณสมบัติแนวรับตัวข้าง
แต่ที่น่าจับตามองเลยก็คือการเล่นเกมรุก คือเรายังไม่ทราบว่า อาร์เตตา จะจับเขาอินเวิร์ตเข้ามาเหมือนกับ ซินเชนโก ไหม แต่ที่แน่ๆ ด้วยความคล่องตัวและความเร็วของ กาลาฟิโอรี แล้วเนี่ย เราจะได้เห็นจังหวะที่คู่ต่อสู้วิ่งเพรสขึ้นมา แล้วถลำหรือเปิดช่องให้นิดเดียว เขาจะพาบอลสวนขึ้นไปด้วยตัวเองแน่นอน
ถัดมาที่ โยชัว เซียร์คเซ ที่มาจาก โบโลญญา เช่นเดียวกับ กาลาฟิโอรี มายัง แมนยูฯ ด้วยค่าตัว 42.5 ล้านยูโร ซึ่งจริงๆ นักเตะมีค่าฉีกสัญญา 40 ล้านยูโร แต่ แมนยูฯ ยอมจ่ายเยอะว่าเล็กน้อย เพื่อผ่อนจ่าย 3 ปี
เซียร์คเซ ถือว่าเป็นการเซ็นสัญญาแรกของทีม นับตั้งแต่กลุ่มทุน INEOS ของ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ เข้ามาซื้อหุ้นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ และได้รับมอบหมายจากตระกูล เกลเซอร์ ให้บริหารสโมสรในด้านฟุตบอลแบบเต็มตัว ซึ่งเขาจะเข้ามาแข่งขันเบียดแย่งตำแหน่งศูนย์หน้าตัวจริงในแผน 4-2-3-1 กับ ราสมุส ฮอยลุนด์ แน่นอน
ในเรื่องของค่าตัว เรายังไม่รู้นะว่าสุดท้ายเขาจะขึ้นมาเป็นตัวหลัก หรือนั่งเป็นตัวสำรอง แต่ถ้าเทียบกับดีกรี 11 ประตู 5 แอสซิสต์ จาก 34 นัดแล้ว 42.5 ล้านยูโร ก็ถือว่าสมราคากับกองหน้าสมัยนี้
อันที่จริงราคาของ ฮอยลุนด์ ที่ก่อนย้ายมา แมนยูฯ ยิงให้กับ อตาลันตาไป 9 ประตูจาก 32 นัด มันก็ควรจะประมาณ เซียร์คเซ นี่แหละ แต่ด้วยความที่เขาไม่มีค่าฉีกสัญญา สุดท้ายค่าตัวเลยไปจบที่ประมาณ 72 ล้านปอนด์รวมแอดออน (ประมาณ 84 ล้านยูโร หรือก็คือ 2 เท่าของ เซียร์คเซ)
ถ้าให้เทียบดีกรีกัน เอาจริงๆ ถ้านับตอนก่อนย้ายมา แมนยูฯ เซียร์คเซ ก็น่าจะภาษีดีกว่าเล็กน้อย ทั้งในแง่ของนาทีในการลงสนาม จำนวนประตู คือ ฮอยลุนด์ ยังไม่ใช่ตัวหลักของ อตาลันตา ด้วยซ้ำ แต่ เซียร์คเซ คือพา โบโลญญา จบที่ 5 แล้วไปเล่น ชปล. ในรอบ 60 ปีด้วย
พูดถึงสไตล์การเล่น เซียร์คเซ เป็นกองหน้าตัวใหญ่ สูง 193 ซม. ขณะที่ ฮอยลุนด์ สูง 191 ซม. แต่สไตล์การเล่นนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ฮอยลุนด์ นั้นมีความเป็นเบอร์ 9 ขนานแท้กว่า หันหลังให้กับประตูได้ดี ใช้โอกาสไม่ค่อยเปลือง
แต่ เซียร์คเซ ถึงแม้จะตัวใหญ่ แต่เป็นประเภทที่มีทักษะดี ความคล่องตัวสูง อยากให้ลองนึกภาพ หลุยส์ ซัวเรซ หรือในปัจจุบันก็จะเป็น ชูเอา เฟลิกซ์ แต่รูปร่างใหญ่กว่า สามารถชงเองกินเอง เพื่อฝากบอลแล้วพาบอลไปข้างหน้า เลี้ยงหลบคู่ต่อสู้ได้ ส่วนการจบสกอร์นั้นยังไม่หลากหลายเท่าไรนัก
คือ แมนยูฯ ซื้อเขาเข้ามาก็กะเอามาวัดกับ ฮอยลุนด์ ว่าใครเจ๋งกว่าก็เป็นตัวจริง เพราะในฤดูกาลที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า ฮอยลุนด์ นั้นมีส่วนกับเกมน้อยมาก และพอเป็นเบอร์ 9 ธรรมชาติก็ชงเองกินเองไม่ได้ บวกกับปีก แมนยูฯ ก็เป็นประเภทไม่มีปุ่มส่งอีก
ฉะนั้นถ้าวัดในเรื่องของสไตล์ เซียร์คเซ ดูจะเข้ากับ แมนยูฯ ได้ง่ายมากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตำแหน่งศูนย์หน้าก็คงต้องวัดกันที่การจบสกอร์ ซึ่งถ้า ฮอยลุนด์ หรือ เซียร์คเซ ใครทำได้ดีกว่า ก็น่าจะคว้าตำแหน่งตัวจริงไปครอง
คนที่ 3 ฌอง-แกลร์ โตดิโบ ที่ตบเท้าจาก นีซ มาร่วมทัพ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ด้วยสัญญายืมตัวพ่วงเงื่อนไขบังคับซื้อขาด 40 ล้านยูโร
ดีลนี้ทั้งหมดทั้งมวลที่ยกมา ความน่าสนใจสุดๆ เลยก็คือนี่คือปราการหลังเบอร์ 1 ในลิสต์รายชื่อเป้าหมายของ แมนยูฯ เลย ชื่นชอบมานาน มีข่าวกันข้ามวันข้ามปี แต่สุดท้ายมันไม่เกิดขึ้น
สาเหตุมาจากเรื่องเจ้าของทีม เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ เศรษฐีอังกฤษที่เข้ามาซื้อหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ของ แมนยูฯ พร้อมกับรับหน้าที่บริหารทีมไปในตัวเนี่ย คือผู้ถือหุ้นของ นีซ เหมือนกัน
ทำให้ ยูฟ่า ไม่อนุมัติให้ดีลนี้เกิดขึ้น เนื่องจากพวกเขามีกฎว่า 2 สโมสรที่มีผู้ถือหุ้นคนเดียวกัน แล้วลงแข่งในฟุตบอลยุโรปรายการเดียวกัน ห้ามทำการซื้อขายนักเตะระหว่างกันและกัน
ซึ่งเคสนี้เข้าเงื่อนไขทุกข้อเลย เซอร์จิม ถือหุ้นอยู่ทั้งคู่ แมนยูฯ และ นีซ เองก็ดันลงเตะใน ยูโรปา ลีก ฤดูกาลนี้เหมือนกันอีก สุดท้าย แมนยูฯ ก็จำเป็นต้องถอย และไปเฟ้นหากองหลังรายอื่น
กลับมาที่ เวสต์แฮม กันบ้าง พวกเขาก็จะได้ โตดิโบ เข้ามาแทนที่สล็อตของ คูร์ต ซูมา ที่เตรียมย้ายออกไปค้าแข้งให้กับ อัล อาห์ลี ในประเทศซาอุดีอาระเบีย
ในแง่ของสไตล์การเล่น ฌอง-แกลร์ โตดิโบ เนี่ยเป็นกองหลังยุคใหม่ขนานแท้เลย ตัวใหญ่ มีความเร็ว ผ่านบอลได้ดีทั้งสั้นและยาว แต่จุดที่ยังมีเครื่องหมายคำถามก็คือเหลี่ยมเกมรับ
โตดิโบ เนี่ยเป็นกองหลังประเภท Stopper ขนานแท้ เรียกในภาษาไทยให้เข้าใจง่ายก็คือ "ตัวชน" ฉะนั้นวิธีการที่เขาเล่นเกมรับคือการใช้สรีระร่างกายบวกกับความเร็วในการเข้าปะทะ
แต่สิ่งที่ยังขาดคือความประณีตในฐานะกองหลัง มันยังมีจังหวะเข้าพรวด จนคู่แข่งได้โอกาสสร้างความอันตรายให้กับทีมอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ต้องรอดูว่าการจับคู่กับ แม็กซ์ คิลแมน ที่เพิ่งย้ายเข้ามาเหมือนกันจะลงตัวมากแค่ไหน
ปิดท้ายด้วย เลนี โยโร ปราการหลังดาวโรจน์ที่ย้ายมาจาก ลีลล์ มายัง แมนฯ ยูไนเต็ด ฟาบริซโอ โรมาโน รายงานว่าค่าตัวเป็นเงินต้น 50 ล้านยูโร สื่ออื่นรายงานว่าแอดออน 12 ล้านยูโร
เราสามารถพูดได้เต็มปากว่า โยโร คือกองหลังอายุน้อยที่ชื่อชั้นและผลงานดีที่สุดในยุคนี้ ทีมยักษ์ใหญ่ทุกทีมให้ความสนใจกันหมด ทั้ง เรอัล มาดริด, ลิเวอร์พูล และ แมนฯ ยูไนเต็ด
ยกตัวอย่างง่ายๆ สถานะและคุณสมบัติของเขาคือ ราฟาแอล วาราน ตอนกำลังจะย้ายมา มาดริด เลย เป็นกองหลังฝรั่งเศส อายุ 18 ปีเท่ากัน แจ้งเกิดได้เต็มตัวใน ลีก เอิง เหมือนกัน และอีกสิ่งที่เหมือนกันก็คือ โยโร มีแนวโน้มสูงมากที่จะย้ายไป มาดริด
ซึ่งจริงๆ แล้วทุกอย่างมันดูลงล็อกและเป็นใจให้กับพวกเขาไปหมดแล้ว เพราะตัว โยโร เองก็มีความประสงค์อันแรงกล้าที่จะไปสวมเสื้อราชันชุดขาว และไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนใจเลย
มิหนำซ้ำ โยโร เหลือสัญญากับ ลีลล์ อยู่แค่ปีเดียว ทำให้ มาดริด ถือไพ่อยู่ในมือเหนือกว่าทั้งหมด นักเตะก็อยากย้ายมา สัญญาก็เหลือแค่ปีเดียว สุดท้ายพวกเขาก็ยื่นข้อเสนอไปให้กับ ลีลล์ แค่ประมาณ 25-30 ล้านยูโรเท่านั้น ซึ่งนี่ถือว่าน้อยกว่าที่ ลีลล์ ตั้งไว้ 2-3 เท่า
ซึ่ง มาดริด ก็ไม่คิดมาก เพราะเขาเหมือนกับมีสัญญาใจกับนักเตะอยู่แล้วว่าถ้า ลีลล์ ไม่รับข้อตกลงนี้ ก็รอหมดสัญญาแล้วย้ายมาฟรีฤดูกาลหน้า
แต่สิ่งที่เข้ามาทำให้แผนข้างต้นพังไปหมดก็คือ แมนฯ ยูไนเต็ด โดย แมนยูฯ ที่ไม่ได้สามารถคว้า โตดิโบ เข้ามาร่วมทีม ได้เข้ามาเอาจริงเอาจังในดีลของ โยโร และก็ใช้เวลาไม่นาน ยื่นข้อเสนอเป็นเงินรวม 62 ล้านยูโร (ก็คือมากกว่ามาดริด 3 เท่า) และสุดท้ายก็ปิดดีลนี้ไปได้
ส่วนหนึ่งตัวนักเตะเองก็น่าจะโดนบีบจาก ลีลล์ ให้ย้ายไป แมนยูฯ ด้วย เพราะถ้าไม่ยอมย้าย ก็มีสิทธิ์โดนดองทั้งฤดูกาล ซึ่งสำหรับตัว โยโร เองแล้ว เขาก็คงไม่อยากให้อะไรมันยุ่งยาก และสำหรับอายุเท่านี้ นาทีในการลงสนามคือสิ่งที่สำคัญมากๆ
สุดท้าย แมนยูฯ ก็ได้ตัว โยโร มา ซึ่งแฟนๆ ส่วนใหญ่ก็น่าจะแฮปปี้นะ เพราะนี่คือเป้าหมายหลักของ มาดริด ในตลาดนักเตะรอบนี้เลย แสดงว่า โยโร เนี่ยก็ต้องมีดีอยู่แล้วแหละ
ซึ่งแน่นอนว่าข้อนี้ไม่เถียง หลายคนก็น่าจะได้เห็นฟอร์มการเล่นของเขาในเกมกับ เรนเจอร์ส แล้ว ผมได้ยินผู้บรรยายภาษาอังกฤษใช้คำว่า comfortable ในขณะที่ โยโร ครองบอล ซึ่งถ้าแปลในบริบทฟุตบอลมันก็จะมีความหมายประมาณว่า โยโร เนี่ย นิ่ง และใช้เท้าเล่นกับลูกฟุตบอลได้ดีมาก
มีทั้งบอลยาวไปหาแนวรุก แถมยังจ่ายบอลขวางสนามเพื่อให้กองกลางไปเล่นต่อได้อีก อาจจะมีจังหวะหนึ่งที่ผิดพลาด แต่สุดท้ายก็กลับมาแก้ตัวได้ ซึ่งแน่นอนว่าการใช้เท้าเล่นกับลูกเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากๆ ของกองหลังยุคใหม่
แต่ในดีลนี้ก็ติดอยู่อย่างเดียว เรื่องเดิมๆ ของ แมนยูฯ ก็คือเรื่องค่าตัว เรื่องฝีมือฝีเท้านี่ไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ส่วนตัวว่ามันควรจะปิดดีลได้ถูกกว่านี้ มาดริด ยื่นไปแค่ 25-30 ล้าน แมนยูฯ ก็อาจจะควรปิดดีลได้สัก 40-50 ล้านรวมแอดออน แต่สุดท้ายมันก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
การได้กองหลังดีกรีระดับนี้มาอยู่กับทีมในระยะยาวน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ที่น่าเจ็บใจก็คือตอนนี้ โยโร บาดเจ็บไปเป็นที่เรียบร้อย ในเกมปรีซีซั่นกับ อาร์เซนอล ลงไปแค่ 35 นาทีเท่านั้น และผลสแกนก็ออกมาแล้วว่ากระดูกฝ่าเท้าแตก ต้องพักยาว 2-3 เดือนเลย สิ่งที่แฟนแมนยูฯ ต้องภาวนาในตอนนี้ก็คืออย่ามีใครเจ็บเพิ่มอีก และให้ โยโร กลับมาและอย่าเจ็บซ้ำแล้วกัน