ไทยรัฐออนไลน์
จากดราม่าในโลกโซเชียลที่หญิงสาวรายหนึ่งเปิดประเด็นว่า "เสื้อบอล" ไม่ใช่แฟชั่น และไม่สมควรใส่ไปข้างนอก เสื้อที่ใส่แล้วมันหล่อคือ "เสื้อเชิ้ต" จนเกิดแฮชแท็ก #saveเสื้อบอล จากกลุ่มคนรักเสื้อบอล
เมื่อข้อความดังกล่าวถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง บรรดาผู้ที่ชื่นชอบการสวมใส่หรือสะสม "เสื้อบอล" เป็นชีวิตจิตใจก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่พวกเขาหลงใหลไม่ได้มีคุณค่าด้อยไปกว่า "เสื้อเชิ้ต" อย่างที่หญิงสาวคนนั้นเข้าใจ เพราะเสื้อบอลที่เป็นลิขสิทธิ์แท้ส่วนใหญ่อาจมีราคาสูงกว่าเสื้อเชิ้ตด้วยซ้ำ
ส่วนประเด็นที่ว่า เสื้อบอลไม่ใช่แฟชั่นนั้นก็อาจเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล เนื่องจากความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และที่หญิงสาวเปิดประเด็นขึ้นมานั้นอาจเป็นเพราะเธอไม่ได้อินกับแฟชั่นเสื้อผ้ากีฬา หรือไม่ได้สนใจฟุตบอลเป็นทุนเดิม จึงมองข้ามคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายในเสื้อบอลไป
ด้วยความที่ "เสื้อบอล" เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ในการแสดงตัวตน ตลอดจนใช้ในการบ่งบอกว่าผู้สวมใส่ชื่นชอบสิ่งไหน เชียร์สิ่งไหน หรือต้องการสื่อสารกับใครที่เราต้องการมีปฏิสัมพันธ์ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น 5 หนุ่มสุดหล่อจาก One Direction วงบอยแบนด์ชาวอังกฤษที่สาวๆ ในไทยไม่น้อยน่าจะคลั่งไคล้และติดตามผลงานเพลงของพวกเขาอยู่ ครั้งหนึ่งก็เคยสวมใส่ "เสื้อบอลทีมชาติไทย" ภายใต้แบรนด์ของ แกรนด์สปอร์ต ถ่ายโปสเตอร์โปรโมตก่อนมาทัวร์ประเทศไทยในงานคอนเสิร์ต On The Road Again 2015 Tour ที่ราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพมหานคร
เนื่องจาก ฟุตบอล เป็นกีฬาที่แข่งขันกันโดยการแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ดังนั้น เสื้อบอล จึงมีความจำเป็นในการแยกทั้ง 2 ทีมออกจากกันด้วยสีเสื้อและการออกแบบที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้รู้ว่าแต่ละคนอยู่ทีมไหน เล่นฝั่งไหน ก่อนที่เสื้อบอลจะมีวิวัฒนาการเรื่อยมาตามยุคสมัย ด้วยการเพิ่มลวดลายและลูกเล่นบนตัวเสื้อ หรือแม้กระทั่งกลับไปดีไซน์ให้ใกล้เคียงกับชุดที่เคยสวยงามเมื่อครั้งอดีต หรือที่เรียกว่า "ชุดย้อนยุค" ก็สุดแท้แต่การรังสรรค์ของผู้ออกแบบ
เราจึงคัดตัวอย่างมาให้ดูกันว่า "เสื้อบอล" ตัวไหนบ้างที่มีความสวยงาม สุดเท่ เก๋ไก๋ โดดเด่นไม่ซ้ำใคร และสามารถใส่ไปข้างนอกได้สำหรับคนหลายๆ กลุ่ม โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาติดแฮชแท็กว่า #บอกไว้ให้คิส
1. เสื้อผู้รักษาประตู สหภาพโซเวียต (ทศวรรษ 1960)
เสื้อตัวนี้ออกแบบเรียบง่าย แต่กลับดูดีมีสไตล์อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยชุดสีดำตัดกับตัวอักษรสีขาวบนหน้าอก CCCP (ตัวย่อของชื่อประเทศอดีตสหภาพโซเวียตในภาษารัสเซีย หรือตรงกับตัวย่อในภาษาอังกฤษว่า USSR) บ่งบอกถึงความเป็นตัวแทนของทีมชาติสหภาพโซเวียตยุครุ่งเรืองในช่วงทศวรรษ 1960
ขณะที่คอเสื้อก็ใช้เชือกร้อยแทนกระดุมแล้วปล่อยให้ปลายเชือกลงมาอยู่ในระดับหน้าอก เพิ่มความขรึมด้วยการออกแบบเป็นเสื้อคอปก บวกกับแขนเสื้อที่ยาวสำหรับเป็นเครื่องแบบของผู้รักษาประตู เมื่อดูภาพรวมแล้วเสื้อตัวนี้แทบจะใส่แทนเสื้อสเวตเตอร์แบบลำลอง สำหรับออกไปเดินเที่ยวข้างนอกได้สบายๆ
ยิ่งคนที่สวมใส่ คือ "เลฟ ยาชิน" สุดยอดนายทวารในยุคนั้น ผู้ปฏิวัติการเล่นในตำแหน่งนี้จนได้รับฉายาว่า "แมงมุมดำ" หรือ "หมึกยักษ์ดำ" จากการป้องกันประตูอันเหนียวหนึบ และยังเป็นผู้รักษาประตูเพียงคนเดียวในโลกนี้ที่สามารถคว้ารางวัลบัลลงดอร์ หรือ ลูกฟุตบอลทองคำ ในฐานะผู้ได้รับการยอมรับของวงการลูกหนังว่าเป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปี เมื่อปี 1963 และยังถูกนำชื่อไปตั้งเป็นรางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมแห่งปีของ ฟีฟ่า ในชื่อ "ยาชิน อวอร์ด" อีกด้วย ยิ่งทำให้เสื้อตัวนี้มีความขลังและน่าสวมใส่ขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว
2. กรีนแบงค์ ยู-10 (ปี 2006)
เอาใจคนรักเสื้อบอลแขนยาวอย่างต่อเนื่อง กับยูนิฟอร์มของ "กรีนแบงค์ รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี ทีมบี" ทีมฟุตบอลเยาวชนจากเมืองลินคอล์น ประเทศอังกฤษ ที่ได้ "มอเตอร์เฮด" วงร็อกเมทัลชื่อดังของเมืองผู้ดีที่โลดแล่นในวงการเพลงมาตั้งแต่ปี 1975 มาเป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอกเสื้อ
แน่นอนว่า โลโก้รูปหัวกะโหลกที่ปรากฏบนเสื้อก็คือ ตราสัญลักษณ์ของวงมอเตอร์เฮด นั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละนัดที่ทีมกรีนแบงค์ ยู-10 ทีมบี ลงแข่งขัน จะมีการเปิดเพลง 'Ace of Spades' หนึ่งในเพลงที่ดังที่สุดของวง เป็นเพลงเปิดตัวขณะเดินลงสู่สนาม เพื่อปลุกใจนักเตะในทีมและข่มขวัญผู้เล่นทีมคู่แข่งไปพร้อมกัน
ภาพรวมของเสื้อตัวนี้ดูแล้วค่อนข้างลงตัวในเสื้อโทนสีดำตัดด้วยเส้นสีขาวบริเวณหัวไหล่ เสริมความดุดันด้วยโลโก้หัวกะโหลกที่เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ น่าจะถูกใจผู้ที่ชื่นชอบเกมลูกหนังและมีดนตรีร็อกแนวเฮฟวีเมทัลอยู่ในจิตวิญญาณ
Ace of Spades เพลงดังของวง Motorhead ผู้สนับสนุนหลัก ทีมกรีนแบงค์ ยู-10
3. แอตเลติโก มาดริด ชุดเยือน (ฤดูกาล 2003-2004)
ทุกคนที่เลื่อนหน้าจอลงมาอ่านถึงตรงนี้แล้วอาจสงสัยว่า ทำไมทีมดังแห่ง ลา ลีกา สเปน อย่าง แอตเลติโก มาดริด ถึงมีแมงมุมจากหนังเรื่อง "สไปเดอร์แมน" มาชักใยจนเต็มพื้นที่บนหน้าอกเสื้อได้ เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในฤดูกาล 2003-2004 ซึ่งสโมสรได้ผู้สนับสนุนหลักเป็น "โคลัมเบีย พิคเจอร์ส" ค่ายหนังชื่อดังระดับโลกนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส จึงใช้พื้นที่บนหน้าอกเสื้อของทีม "ตราหมี" ในการโปรโมตภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่ตัวเองเป็นผู้สร้างตลอดทั้งซีซั่นนั้นรวมแล้วมากกว่า 20 เรื่อง แน่นอนว่า สปอนเซอร์คาดอกก็จะเปลี่ยนไปตามชื่อหนังที่ทางค่ายนำมาโปรโมตในช่วงนั้น เช่น Hellboy, Resident Evil 2: Apocalypse, Peter Pan
แต่ชุดที่สะดุดตามากที่สุด คือ ชุดเยือนที่ใช้โปรโมตหนังเรื่อง Spider Man 2 ที่ไม่เพียงแต่จะนำแมงมุมมาเป็นโลโก้คาดหน้าอกเสื้อคู่กับชื่อหนังเท่านั้น แต่ยังเติมรายละเอียดให้ดูมีสีสันมากยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มใยแมงมุมเข้าไป ตัดกับชุดแข่งสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งแม้ว่าการดีไซน์แบบนี้อาจจะดูเหมือนว่าเล่นใหญ่เกินไปหน่อย แต่เชื่อว่าเสื้อตัวนี้น่าจะเป็นที่ต้องการสำหรับแฟนบอล, นักสะสม รวมถึงคอหนัง ที่อยากมีไว้ในครอบครอง
4. แอฟริกา ยูนิตี้ (ปี 2010)
นี่คือเสื้อบอลชุดแรกในโลกที่ผลิตขึ้นมาสำหรับเป็นเสื้อของทวีป โดยเสื้อตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์เพื่อระดมเงินบริจาคให้กับแคมเปญ 'Play for Life' ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในดินแดนกาฬทวีป ผ่านยอดขายของเสื้อชุดพิเศษนี้
"แอฟริกา ยูนิตี้" เปิดตัวในปี 2010 เพื่อต้อนรับทัวร์นาเมนต์ใหญ่ของทวีป ทั้งแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ และ ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ที่ประเทศแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ โดย พูม่า นำนักเตะตัวชูโรงของทั้ง 12 ชาติในทวีปแอฟริกาที่บริษัทเป็นผู้สนับสนุนชุดแข่งให้มาร่วมถ่ายแบบโปรโมตเสื้อชุดพิเศษนี้ นำโดย ซามูแอล เอโต (แคเมอรูน), สตีเฟน อัปเปียห์ (กานา), เอ็มมานูแอล เอบูเอ (ไอวอรีโคสต์)
จริงอยู่ว่าโทนสีฟ้าอ่อนไล่เฉดสีน้ำตาลลงมาทางด้านล่างของเสื้อตามรูปแผนที่ทวีปแอฟริกา อาจจะไม่เข้าตาแฟนบอลชาวไทยอย่างเราๆ มากนัก แต่เมื่อไปอยู่บนตัวของ เอโต, อัปเปียห์, เอบูเอ รวมถึงนักเตะจากกาฬทวีปแล้ว กลับให้ความรู้สึกว่าเป็นชุดที่ดูดีขึ้นมาทันตาเห็น ซึ่งต้องชื่นชมนักออกแบบที่คิดถึงเรื่ององค์รวมของชุดนี้ เพื่อให้เป็นชุดของชาวแอฟริกันอย่างแท้จริง
5. อิตาลี (ปี 2020)
ปิดท้ายด้วย ชุดใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ เมื่อวานนี้ (31 สิงหาคม 2563) ของทีมชาติอิตาลี ซึ่งออกแบบมาได้อย่างสวยงาม เรียบหรู ดูคลาสสิก เน้นโทนน้ำเงินอันเป็นสีหลักของทัพ "อัซซูร์รี" ผสมผสานด้วยลวดลายศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจมาจากยุคอิตาเลียน เรเนซองส์ หรือสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี ช่วงศตวรรษที่ 15-16 ซึ่งเป็นจุดแรกของการเริ่มสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอันเป็นช่วงเวลาของความเจริญทางวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองที่สุดในยุโรป
เมื่อรวมกับตราธงชาติบนอกเสื้อข้างซ้าย และโลโก้ พูม่า สีทองข้างขวาที่เป็นงานปักอันประณีต เพิ่มความเคร่งขรึมด้วยปกเสื้อและขอบแขนเสื้อสีน้ำเงินเข้ม ทำให้เสื้อบอลตัวนี้ดูสง่างาม และยิ่งถูกสวมใส่โดยนักเตะทีมชาติอิตาลีที่ขึ้นชื่อว่ามีความหล่อเท่แบบคมเข้มแทบทุกยุคทุกสมัย ก็ยิ่งส่งเสริมให้ชุดนี้เป็นเสื้อบอลที่ใส่ออกไปเดินข้างนอกได้โดยไม่ต้องเคอะเขิน
เรื่อง : ชัช บางแค
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun