หน้าแรกแกลเลอรี่

บทลงโทษแมนฯ ซิตี้

มะระหวาน

10 ก.พ. 2566 05:12 น.

เรียกได้ว่าเป็นข่าวสะท้านวงการลูกหนังเลยทีเดียวสำหรับพรีเมียร์ลีก ประกาศตั้งข้อหาละเมิดกฎไฟแนนเชียลแฟร์เพลย์ของ “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ รองจ่าฝูงและแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 จาก 5 ปีหลังสุดมากถึง 115 ข้อหาตลอด 9 ฤดูกาลหลังสุดระหว่างปี 2009–2018

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.พ.ปี 2020 สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า ไต่สวนการละเมิด “งบการเงิน” Financial Fair Play (FFP) กรณีตกแต่งบัญชีเพื่อให้อยู่ในตัวเลขที่ยูฟ่ากำหนด โดยไม่ใช่เรื่องการทำธุรกิจจริงๆ แต่เป็นเงินเจ้าของทีมผ่านผู้สนับสนุนที่เจ้าของทีมเป็น “เจ้าของ” มาใช้จ่าย

ซึ่งหลังจากทางยูฟ่าได้สืบสวนและได้แจ้งว่า แมนฯ ซิตี้ ผิดจริง จึงมีบทลงโทษปรับเงิน 30 ล้านยูโร และไม่ให้เข้าแข่งในยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก 2 ฤดูกาลซ้อน (2020-21 และ 2021-22) แต่แมนฯ ซิตี้ ไม่ยอมแพ้ พวกเขายื่นข้อมูลไปที่ศาลกีฬาโลก (CAS) เพื่ออุทธรณ์ต่อไป

ก่อนศาลกีฬาโลกตัดสินให้แมนฯ ซิตี้พ้นผิด!!

หลังจากผลการตัดสินออกมาหลายคนก็คิดว่าทุกอย่างจบลงแล้ว แต่กลับกลายเป็นทางพรีเมียร์ลีกที่ยังไม่จบได้ตั้งคณะกรรมการอิสระพรีเมียร์ลีกสืบสวนอย่างลับๆ ค้นหาหลักฐานข้อมูลระหว่างปี 2009-2022 ซึ่งทางคณะกรรมการชุดดังกล่าวใช้เวลาสอบสวนถึง 4 ปีเต็ม

ก่อนสร้างความสั่นสะเทือนด้วยการประกาศบทลงโทษออกมาจนทำเอา “เรือใบสีฟ้า” ตั้งตัวไม่ถูกเลยทีเดียว

เมื่อผลการประกาศออกมาทำให้หลายฝ่ายเริ่มตื่นตัวว่า แมนฯ ซิตี้ จะโดนบทลงโทษอะไรบ้างหากถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริง จนทำให้บรรดาสื่อผู้ดีก็ได้ออกมาคาดการณ์ว่าสิ่งที่ “เรือใบสีฟ้า” จะโดนลงโทษมีอะไรบ้าง

1.ห้ามลงแข่งขัน

ตามกฎข้อที่ W51 ของพรีเมียร์ลีก แมนฯ ซิตี้ อาจได้รับโทษในขั้นต้นด้วยการห้ามลงแข่งขัน แต่ถึงอย่างนั้นในทางปฏิบัติมันยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน

2.หักแต้ม

ซึ่งออปชันนี้สื่อต่างๆ คาดว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุดที่แมนฯ ซิตี้ จะโดนลงโทษด้วยการหักแต้มเช่นเดียวกับยูเวนตุส ที่เมื่อไม่นานมานี้ได้รับโทษเป็นการหักแต้ม 15 แต้มหลังมีการสอบสวนพบว่าพวกเขาก่อความผิดในอดีตกับการซื้อขายนักเตะ แต่ด้วยจำนวน 115 ข้อหาจะถูกหักกี่แต้มถึงจะเหมาะสม

3.ขับออกจากลีก

ถือว่าเป็นโทษที่ค่อนข้างหนัก เพราะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เพราะหากเกิดขึ้นก็ยังไม่รู้ว่าจะรับไปอยู่ลีกไหน ถ้าทำจริงมันก็จะกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังลีกต่างๆ อีกด้วย หรืออาจจะต้องหลุดไปเล่นนอกลีกในเนชันแนล ลีก เหมือนกับคิวพีอาร์ ที่ไม่ยอมเสียค่าปรับเมื่อปี 2014

4.ริบแชมป์

ตามกฎข้อ W51 จะไม่ได้รวมการริบแชมป์เอาไว้สำหรับบทลงโทษ แต่มันยังเปิดช่องให้มีบทลงโทษที่หลากหลายตามมาจากการละเมิดกฎกติกา เพราะกฎข้อ W.51.10 ระบุเอาไว้ว่าคณะกรรมการสามารถ “ลงโทษเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม”

5.ปรับเงิน

โดยกฎข้อ W.51.9 บอกเอาไว้ว่าคณะกรรมการสามารถ “สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหา (แมนฯ ซิตี้) จ่ายค่าปรับจำนวนหนึ่งได้หากพวกเขาคิดว่าเหมาะสมซึ่งอาจรวมถึงค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายของสมาชิกคณะกรรมการด้วย”

ตามที่สื่อผู้ดีรวบรวมดูแล้วมีโอกาสเป็นไปได้แค่หักแต้ม และปรับเงินเท่านั้น

แต่บอกเลยว่าเรื่องนี้ยังต้องดูกันอีกยาวเพราะ 115 ข้อหาไม่จบภายใน 2–3 เดือนนี้อย่างแน่นอน!!

มะระหวาน