หน้าแรกแกลเลอรี่

ปริมาณหรือคุณภาพ

โจโจ้

9 ต.ค. 2566 05:02 น.

กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 “หางโจว เกมส์” รูดม่านปิดฉากไปเรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางความสำเร็จของเจ้าภาพแดน มังกรที่กวาดเหรียญทองไปแบบทิ้งคู่แข่งไม่เห็นฝุ่น 201 ทอง ต้องมาลุ้นในครั้งต่อไปที่เมืองนาโกยา แดนอาทิตย์อุทัยในปี 2026 ทัพจีนจะครองเจ้าเหรียญทองอีกหรือเปล่า

นับจากวันแรกที่เกมการแข่งขันเปิดโอกาสให้นักกีฬาจากทั่วทุกทิศของทวีปเอเชียรวม 18,000 คน ได้แสดงออกซึ่งศักยภาพในเชิงกีฬาถึง 40 ชนิด ก็จะเห็นได้ว่านักกีฬาเหล่านั้น ต่างมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะและสร้างชื่อให้ประเทศทั้งสิ้น

สำหรับทัพนักกีฬาทีมชาติไทยกับศึกใหญ่ในครั้งนี้ นับเป็นคณะใหญ่สุดเมื่อเทียบกับทุกชาติที่เข้าร่วมถึง 940 คน ภายใต้ความคาดหวังที่จะนำเหรียญทองกลับบ้านที่มีทั้งเป้าหมายจากการกีฬาฯ 23 ทองกับของสมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย 15 ทอง

จากจำนวนกองทัพนักกีฬาไทยที่มีปริมาณมากและเหนือกว่าเจ้าภาพอย่างจีน ประกอบกับเมื่อนำผลงานที่ออกมา ณ ตอนนี้กลับส่งผลให้เกิด “ดราม่า” ที่เป็นคำถามผ่านสื่อสังคมออนไลน์ตามมาในหลากหลายมิติโดยเฉพาะปริมาณและคุณภาพ

ถ้าพิจารณาถึงความเหมาะสมหรือความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ทุ่มลงไป เชื่อว่าผู้ที่จะตอบคำถามหรือให้ข้อมูลได้ดีที่สุดคงจะเป็นคณะเตรียมนักกีฬาภายใต้การดำเนินการของการกีฬาแห่งประเทศไทยและสมาคมกีฬาต่างๆ

เมื่อดูที่ผลงานของทัพนักกีฬาไทยในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้นับจากวันแรกจนถึงปิดฉาก นักกีฬาทีมชาติไทยผนึกพลังสร้างด้วยการคว้ามาได้ 10 เหรียญทองก็ถือว่าผลงานอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับวันนี้ ชาติคู่แข่งในเอเชียต่างก้าวไปไกลกว่าที่คิดและคาดว่าจากนี้ไป

กีฬาเอเชียนเกมส์จะเป็นหนึ่งในเกมการแข่งขันที่ทัพไทยต้องทำการบ้านให้มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

ด้วยผลงานและปรากฏการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับทัพนักกีฬาไทยในหางโจวเกมส์ครั้งนี้ เชื่อว่าเพื่อทิศทางอนาคตที่ดีกว่าโดยเฉพาะการพัฒนาและยกระดับให้วงการกีฬาไทยก้าวสู่มาตรฐานสากลและสู้กับชาติต่างๆได้

การกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะแกนนำของการเตรียมการนักกีฬา คงต้องถอดบทเรียนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับสมาคมกีฬาและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์แบบเจาะลึก เพื่อสร้างความสำเร็จแบบยั่งยืนในอีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อเป็นการปูทางไปสู่โอลิมปิกเกมส์ในอนาคตจริงอยู่ กว่านักกีฬาคนหนึ่งจะก้าวไปถึงฝั่งฝันเป้าหมายสูงสุดล้วนต้องผ่านความเจ็บปวดด้วยกันแทบทั้งนั้น

แต่การทุ่มงบประมาณเพื่อไปเพียงแค่หาประสบการณ์มันคุ้มค่าหรือเปล่า ทั้งที่ความจริงแล้วในแต่ละชนิดกีฬาล้วนมีแมตช์ให้ทุกคนได้อุ่นเครื่องเป็นประจำในต่างแดนตามแผนของทุกสมาคมอยู่แล้ว

ถึงเวลาแล้วที่ต้องขบคิดอย่างหนักว่าเราต้องการปริมาณในการส่งนักกีฬาที่เข้าร่วมให้มากที่สุด เพื่อหาประสบการณ์หรือต้องการความสำเร็จกลับมา.

โจโจ้

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่