หน้าแรกแกลเลอรี่

สำเร็จหรือล้มเหลว

ฟ้าคำราม

12 ก.ย. 2561 05:01 น.

แม้เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย จะปิดฉากลงไประยะหนึ่งแล้ว แต่ยังมีควันหลงตามมา โดยณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์ การกีฬา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Nattavuth Ruengves เกี่ยวกับผลงานของนักกีฬาไทยเอาไว้อย่างน่าสนใจ เมื่อวันก่อน

ลองไปอ่านอีกมุมมองพร้อมๆกัน

ooooooo

เอเชียนเกมส์ ทัพนักกีฬาไทย “สำเร็จหรือล้มเหลว”

แน่นอนหากเรามองแค่เหรียญทองที่ลดลง อันดับตกลงมาที่ 12 หลายกีฬาพ่ายแพ้ ฟุตบอลตกรอบแรก มวยสากลไร้ทอง ยกน้ำหนัก 2 ทองโอลิมปิกแต่ครั้งนี้ได้แค่เหรียญเงิน...ภาพเหล่านี้ก็ดูว่าตกต่ำ

แต่หากพิเคราะห์ลงลึกอีกนิด ก็จะเห็นว่ามีหลายเรื่องที่มีการพัฒนา อาทิเช่น...

1) จำนวนเหรียญรวมที่ได้มากกว่าครั้งก่อนๆ โดยเฉพาะเหรียญเงินและทองแดงได้มากกว่าเดิมกว่าเท่าตัว

2) จำนวนชนิดกีฬาที่ได้เหรียญเพิ่มขึ้น จากเดิมได้เหรียญ 17 ชนิดกีฬา คิดเป็น 44% เพิ่มเป็นได้เหรียญ 25 ชนิดกีฬา คิดเป็น 56% เป็นการได้เหรียญจากหลากหลายกีฬามากขึ้น

3) นักกีฬาที่ส่งไปแข่ง 830 คน ได้เหรียญ 158 คน โดยเป็นนักกีฬาที่เข้าแข่งเอเชียนเกมส์เป็นครั้งแรก 563 คน คิดเป็นนักกีฬาใหม่ 67.83% โดยนักกีฬาดาวรุ่งหรือสายเลือดใหม่เหล่านี้ได้เหรียญถึง 105 คน

4) หากเทียบชนิดกีฬาที่เหมือนกันกับเอเชียนเกมส์ครั้งที่แล้ว มีกีฬาซ้ำกัน 37 ชนิด ทัพไทยทำได้ดีกว่าเดิม 12 ชนิด ทำได้เท่าเดิม 3 ชนิด ทำเหรียญลดลง 7 ชนิด ส่วนที่เหลือยังไม่ได้เหรียญ และกีฬาที่เพิ่มเข้ามาใหม่ 10 ชนิด ไทยได้เหรียญ 5 ชนิด (กีฬาที่เท่าเดิมหรือลดลงหรือไม่ได้เหรียญ บางทีก็ไม่ได้หมายความว่าตกต่ำ เช่น ตะกร้อ 4 ทองเท่าเดิม แต่นั้นคือ 100% ที่มีให้ชิง วอลเลย์บอล ทองแดงลดลง 1 เหรียญ แต่ทีมหญิงเข้าถึงรอบชิงได้เป็นประวัติศาสตร์หรือแม้แต่กีฬาที่ไม่ได้เหรียญ แต่มีพัฒนาการ เช่น ฮอกกี้ เทเบิลเทนนิส เป็นต้น)

5) กีฬาสถิติที่สามารถเทียบกันได้ 4 ชนิด 61 รายการ ไทยสถิติดีขึ้น 38 รายการ คิดเป็น 62.3% สถิติลดลง 23 รายการ 37.7%

6) มีเหรียญประวัติศาสตร์หรือผลงานพัฒนาโดดเด่นขึ้นในหลากหลายชนิดกีฬา เช่น จักรยาน วอลเลย์บอลหญิง เทควันโด กีฬาทางอากาศ ยิงเป้าบิน บาสเกตบอล 3×3 กรีฑาประเภทลาน แฮนด์บอล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยตกจากอันดับที่ 6 เป็นอันดับที่ 12 ในเอเชีย อาจไม่สามารถสะท้อนการพัฒนากีฬาได้ชัด เพราะนอกจากการพัฒนาฝีมือของนักกีฬาแล้ว ต้องยอมรับว่า การบริหารยุทธศาสตร์ในการจัดการแข่งขัน การบรรจุชนิดกีฬาและการเลือกรายการแข่งขันของเจ้าภาพ ตลอดจนการโอนย้ายของนักกีฬาข้ามทวีปมีผลต่ออันดับของแต่ละชาติไม่น้อย ตัวอย่างเช่น

อินโดนีเซียเจ้าภาพเองที่ครั้งที่แล้วได้อันดับที่ 17 ของเอเชีย 4 ทอง แต่ครั้งนี้โกยถึง 31 ทอง ขึ้นเป็นที่ 4 ของเอเชีย โดยบรรจุกีฬาถนัด กีฬาประจำชาติอย่างปันจักสีลัต ซึ่งเจ้าภาพกวาด 14 ทองจากกีฬานี้กีฬาเดียว เป็นต้น

นอกจากนี้ พบว่าครั้งนี้มีการบรรจุกีฬา martial art หรือกีฬาต่อสู้ประจำชาติในประเทศแถบตะวันตกมากเป็นพิเศษ ซึ่งประเทศแถบนั้นสามารถได้เหรียญทองเป็นกอบเป็นกำ ทำให้อันดับขยับแซงประเทศไทยอย่างง่ายดาย แม้ว่าไทยจะเสนอขอบรรจุมวยไทยเข้าไป แต่เจ้าภาพก็ไม่บรรจุเข้าแข่งขัน

หรืออย่างประเทศบาห์เรน ซึ่งทำอันดับได้ดีกว่าไทย แต่กลับทำเหรียญทองได้จากกีฬาชนิดเดียวคือ กรีฑา 12 เหรียญทอง โดยนักกีฬากรีฑา 37 คน เป็นนักกีฬาสัญชาติอื่นถึง 33 คน คือ ไนจีเรีย 10 คน เอธิโอเปีย 9 คน เคนยา 8 คน โมร็อกโก 5 คน จาเมกา 1 คน เป็นต้น

บทสรุปในภาพรวม ผมมองว่ามีหลายเรื่องที่มีการพัฒนาไปในทางที่ดี โดยเฉพาะที่เราอยากสร้างนักกีฬารุ่นใหม่ๆ ส่งเสริมกีฬาใหม่ๆให้หลากหลายขึ้นกว่ากีฬาความหวังไม่กี่ชนิด

แต่แน่นอนกีฬาที่ไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องหาทางพัฒนาปรับปรุงต่อไป...!!!

ooooooo

ถือเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เราๆ ท่านๆ ต้องรับฟังเอาไว้ เพราะรองผู้ว่าการณัฐวุฒิคลุกคลีกับวงการกีฬามานาน ย่อมรู้ดีว่าข้อเท็จจริงและสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเช่นไร

อย่างไรก็ตาม ถึงเวลานี้ ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว คงไม่ใช่สาระสำคัญทั้งหมดแล้ว

ประเด็นน่าจะอยู่ที่จากนี้จะเดินต่อกันอย่างไรมากกว่า...

ฟ้าคำราม