นักเตะญี่ปุ่นในอุดมคติ ตามวิถี Japan’s way ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำคัญสู่การแชมป์โลก 2050 มีหน้าตาอย่างไร?... ติดตามได้ในตอนที่ 2 ...
บทความชิ้นแรก Japan’s Way วิถีญี่ปุ่นสู่แชมป์โลกปี 2050 (ตอนที่ 1) “เรา” ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างในภาพใหญ่ของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ภายใต้ Concept ที่มีชื่อกระชับและเข้าใจได้ทันทีว่า “Football For Everybody” ซึ่ง "สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น" หรือ JFA เชื่อมั่นว่าจะเป็น “รากฐานสำคัญ” สู่การเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกกันไปแล้ว
ในวันนี้ “เรา” ลองไปร่วมกันพิจารณาข้อมูลที่ “ลงลึกในรายละเอียด” ทั้งในเรื่องการสร้างนักเตะในอุดมคติในแต่ละตำแหน่ง วิธีคิดของผู้เล่นในสนาม รวมไปจนกระทั่งสิ่งที่เรียกว่า “Play vision” ทั้งเกมรับและเกมรุก ตามวิถี Japan’s way ในตอนที่ 2 นี้กันดู...
...
วิธีคิดเริ่มต้นเพื่อการสร้างนักเตะในอุดมคติสำหรับทีมชาติญี่ปุ่น :
ผลการวิเคราะห์รูปแบบการเล่นฟุตบอลระหว่างปี 2012-2020 ของ JFA พบว่า นักเตะในสนามทุกตำแหน่ง มีจำนวนครั้งสำหรับการวิ่งแบบเต็มสปีดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งฟูลแบ็ก +14.6% และมิดฟิลด์ +9.2%
ไม่เพียงเท่านั้น การวิ่งแบบเต็มสปีดต่อระยะทางในสนามที่นักเตะแต่ละตำแหน่งต้องดูแลนั้น ยังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในทุกตำแหน่งด้วย โดย เซ็นเตอร์แบ็ก +8.2%, ฟูลแบ็ก +9.5% , มิดฟิลด์ +9.3% และ กองหน้า +8%
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งสถิติที่น่าสนใจ คือ “ผู้เล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ” ซึ่งปกติรับผิดชอบเกมรับเป็นหลัก มีสถิติการจ่ายบอลเพิ่มขึ้นถึง +30.6%! โดยในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนการจ่ายบอลระยะสั้น +31.5 % และผ่านบอลระยะไกล +26.5%
ข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่ “การสร้างนักเตะในอุดมคติ” ตามวิถี Japan’s way ได้อย่างไร?
จากข้อมูลที่ได้รับทำให้ JFA วิเคราะห์ว่า “นักเตะยุคใหม่ของญี่ปุ่น” จะต้องเป็นผู้เล่นที่ “มีความละเอียดและแม่นยำในการเล่น” เพื่อรับมือกับการโจมตีที่รวดเร็วและการป้องกันที่แข็งกร้าวมากขึ้นจากฝ่ายตรงข้าม
แล้ว.... “ความละเอียดในการเล่น” ที่ว่านี้ นักเตะแต่ละคนจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง?
1. มีความชาญฉลาดในการเล่นฟุตบอลขั้นสูง
2. มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวเองให้เหมาะสมกับการเล่นที่หลากหลาย
3. มีความเชี่ยวชาญทั้งการเล่นเกมรับและเกมรุกในแบบดวล 1 ต่อ 1
4. มีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเกมการเล่น
5. มีความสามารถเฉพาะตัวในระดับที่สูงมากๆ
6. สามารถตัดสินใจได้ในระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาที
7. เชี่ยวชาญการเล่นแบบ One-Touch
8. มีสมรรถภาพทางร่างกายที่แข็งแกร่งในทุกด้าน
9. มีจิตใจที่พร้อมจะทำงานอย่างหนัก (เพื่อทีม)
แล้วถ้าหาก “เรา” จะลงลึกมากไปกว่านั้นในแต่ละตำแหน่ง นักฟุตบอลยุคใหม่ในอุดมคติของ JFA ควรจะมี “คุณสมบัติอย่างไร?”
...
1.ผู้รักษาประตู :
จุดเด่นด้านกลยุทธ์ : สามารถเริ่มต้นการโจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเด่นด้านความสามารถเฉพาะตัว : จ่ายบอลได้แม่นยำทั้งเท้าซ้ายและขวา
จุดเด่นด้านจิตใจ : เยือกเย็น , มีความเป็นผู้นำ, สื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมในสนามได้ทุกคน
จุดเด่นด้านกายภาพ : มีความเร็วและพละกำลัง, มีปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็ว
2.ฟูลแบ็ก :
จุดเด่นด้านกลยุทธ์ : เล่นเกมรับและรุกได้อย่างสมดุล
จุดเด่นด้านความสามารถเฉพาะตัว : จ่ายบอลแม่น , ควบคุมพื้นที่ดี , เด่นเรื่องการดวล 1 ต่อ 1
จุดเด่นด้านจิตใจ : พร้อมเล่นเกมรับและรุก, มีทัศนคติที่ดีในการเติมเกมบุกแม้ไม่ได้บอล
จุดเด่นด้านกายภาพ : คล่องแคล่วและสามารถวิ่งขึ้นลง (รุกและรับ) ได้ตลอดทั้งเกม
...
3.เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ :
จุดเด่นด้านกลยุทธ์ : ยืนตำแหน่งรักษาพื้นที่เพื่อสนับสนุนทั้งเกมรับและรุกได้ดี
จุดเด่นด้านความสามารถเฉพาะตัว : เลี้ยงบอลคล่อง, จ่ายบอลแม่น, แข็งแกร่งการเล่นลูกกลางอากาศ และการดวล 1 ต่อ 1
จุดเด่นด้านจิตใจ : มีความเป็นผู้นำ, เยือกเย็น และลืมการเล่นที่ผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว
จุดเด่นด้านกายภาพ : มีความเร็วและคล่องตัวต่อการตอบสนองการเคลื่อนที่ของฝ่ายตรงข้าม, กระโดดได้สูงเล่นลูกกลางอากาศได้ดี
4.มิดฟิลด์ตัวกลาง :
จุดเด่นด้านกลยุทธ์ : เล่นเกมรับและรุกได้อย่างสมดุล
จุดเด่นด้านความสามารถเฉพาะตัว : จ่ายบอลแม่นยำทั้งระยะสั้นและระยะไกล , แย่งบอลเก่ง , เปลี่ยนจากรับเป็นรุกได้รวดเร็ว และต้องสามารถคอนโทรลลูกบอลที่พุ่งเข้ามาหาตัวได้ในทุกสภาวการณ์
จุดเด่นด้านจิตใจ : เยือกเย็น, เล่นเพื่อทีม, พร้อมเล่นทั้งเกมรับและรุก
...
จุดเด่นด้านกายภาพ : วิ่งขึ้นลง (รุกและรับ) ได้ตลอดทั้งเกม, ร่างกายแข็งแกร่งสามารถปะทะกับคู่ต่อสู้ได้โดยไม่เสียเปรียบ
5.มิดฟิลด์ตัวรุก :
จุดเด่นด้านกลยุทธ์ : เล่นเกมรับและรุกได้อย่างสมดุล , มองหาพื้นที่ว่างและเวลาสำหรับโอกาสในการสร้างสรรค์ทำประตูได้ดี
จุดเด่นด้านความสามารถเฉพาะตัว : จ่ายบอลแม่นทั้งระยะสั้นและระยะไกล, เลี้ยงบอลเอาชนะคู่ต่อได้, มีความสามารถในการยิงประตูและสามารถคอนโทรลลูกบอลที่พุ่งเข้ามาหาตัวได้ในทุกสภาวการณ์
จุดเด่นด้านจิตใจ : ไม่เกรงกลัวที่จะต้องรับบอลภายใต้การกดดันของคู่ต่อสู้, เมื่อเสียบอลต้องพร้อมที่จะวิ่งไปแย่งบอลคืนทันที
จุดเด่นด้านกายภาพ : มีความเร็วและคล่องแคล่วสามารถเล่นในพื้นที่แคบๆ ได้, สามารถวิ่งเต็มสปีดได้หลายๆ ครั้งติดต่อกัน, ร่างกายแข็งแกร่งปะทะคู่ต่อสู้ได้โดยไม่เป็นรอง
6.มิดฟิลด์ตัวรุกริมเส้น :
จุดเด่นด้านกลยุทธ์ : เล่นเกมรับและรุกสมดุล, ใช้พื้นที่ด้านกว้างเพื่อหาโอกาสในการสร้างสรรค์และยิงประตูได้
จุดเด่นด้านความสามารถเฉพาะตัว : จ่ายบอลและเปิดบอลจากด้านข้างเข้าพื้นที่สุดท้ายคู่ต่อสู้ได้แม่นยำ, เลี้ยงบอลกินตัวได้, เล่นเกมรับได้ และยิงประตูได้
จุดเด่นด้านจิตใจ : มีความกล้าและพร้อมจะท้าทายเกมรับคู่ต่อสู้, กระหายการยิงประตู, พร้อมเล่นเกมรับ-รุกตลอดทั้งเกม และเมื่อเสียบอลต้องพร้อมแย่งบอลคืนทันที
จุดเด่นด้านกายภาพ : มีความเร็วและคล่องแคล่วในการบุกทะลวงเกมรับคู่ต่อสู้, มีความแข็งแกร่งสามารถวิ่งเต็มสปีดได้หลายๆ ครั้งติดต่อกัน, ร่างกายแข็งแกร่งปะทะคู่ต่อสู้ได้โดยไม่เป็นรอง
7.กองหน้า :
จุดเด่นด้านกลยุทธ์ : หาจังหวะและพื้นที่สำหรับการเข้าทำประตูได้ดี, สามารถเล่นเกมรับโดยการชะลอการโจมตีของฝ่ายตรงข้ามได้
จุดเด่นด้านความสามารถเฉพาะตัว : ยิงประตูได้แม้มีโอกาสสัมผัสบอลน้อย หรือ ตกอยู่ภายใต้การกดดันด้านพื้นที่และเวลา, ทำประตูจากการเล่นลูกกลางอากาศได้ รวมถึง คอนโทรลลูกบอลได้แม้ตกอยู่ภายใต้วงล้อมการป้องกันของคู่ต่อสู้, จ่ายบอลแม่นยำ
จุดเด่นด้านจิตใจ : กระหายการยิงประตู, มีความพยายาม, มีความกล้าที่พร้อมจะเล่นบอลในพื้นที่เขตโทษฝ่ายตรงข้าม
จุดเด่นด้านกายภาพ : ร่างกายแข็งแกร่งปะทะคู่ต่อสู้ได้โดยไม่เป็นรอง, มีความเร็วสูงและสามารถทะลวงเกมรับคู่ต่อสู้ได้ดี, สามารถรับลูกและยิงประตูจากการผ่านบอลทางด้านข้างได้ดี
แล้วการติดตั้ง “รูปแบบการเล่นเฉพาะตัว” ให้กับทีมชาติญี่ปุ่น เพื่อมุ่งหน้าไปสู่แผนต้องเป็นแชมป์โลกให้ได้ภายในปี 2050 ของ JFA มีหน้าตาเป็นแบบไหน?
Play vision = Pressing :
คัมภีร์ฟุตบอล “Japan’s way” ระบุเอาไว้ว่า “วิสัยทัศน์การเล่นฟุตบอลของญี่ปุ่น” (Play Vision) หมายถึง แนวคิดเบื้องต้นว่า “ญี่ปุ่นต้องการเล่นฟุตบอลอย่างไร?” โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ เช่น จุดแข็ง คาแรกเตอร์ของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มเทรนด์ฟุตบอลในระดับนานาชาติ
จากนั้น JFA จะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างรูปแบบการเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ นำพามาซึ่งความสำเร็จ พร้อมกับมีมุมมองในเรื่องการปรับตัวอย่างไรต่อไปในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ดี JFA ยืนยันว่า Play vision เป็นเพียง “แนวทางการเล่นพื้นฐาน” เท่านั้น เพราะ JFA ไม่ต้องการให้นักเตะญี่ปุ่นทุกคนเล่นฟุตบอลในสไตล์เดียวกัน เพราะผู้เล่นควรพัฒนาสไตล์การเล่นของตัวเองให้มีความหลากหลายต่อไป ส่วน JFA จะมีหน้าที่ในการผสมผสานความหลากหลายเหล่านั้นให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแข็งแกร่ง เพื่อเปลี่ยนเป้าหมายจากการมุ่งหน้าไปที่ “มาตรฐานในระดับโลก” สู่ “ดีที่สุดในโลก” ในลำดับถัดไป
แล้ว “แกนหลักสำคัญ” ของ Play vision ของญี่ปุ่นคืออะไรน่ะหรือ? คำตอบ (ณ เวลานี้) ก็คือ... “เพรสซิง” (Pressing) นั่นเป็นเพราะมันคือ “รูปแบบการเล่น” ที่สามารถสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลให้กับฝ่ายตรงข้ามขณะครอบครองบอล ก่อนจะนำมาซึ่งการทำให้ฝ่ายตัวเองเปลี่ยนจากรับเป็นรุกและยิงประตูได้อย่างรวดเร็ว
Play vision : สำหรับรูปแบบการเล่นเกมรุกและรับของญี่ปุ่น
การเล่นเกมรุก :
1. "ต้องเล่นเกมรุกเสมอ" เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของฟุตบอล คือ “การทำประตู” เพราะฉะนั้นการยิงประตู ย่อมดีกว่าการผ่านบอล และการจ่ายบอลไปข้างหน้าย่อมดีกว่า การจ่ายบอลไปทางด้านข้าง แม้ว่ามันจะไม่เสียการครอบครองบอลก็ตาม
2. "เปลี่ยนเกมจากรับเป็นรุกอย่างรวดเร็ว" เมื่อใดก็ตามที่สามารถแย่งบอลจากฝ่ายตรงข้ามได้จะต้องมุ่งหน้าไปยิงประตูให้เร็วที่สุด ก่อนที่ฝ่ายตรงข้ามจะตามมาป้องกันได้ทัน
3. "ปรับเทคนิคการเล่นให้เหมาะสมกับการตั้งรับคู่ต่อสู้" เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเล่นเกมรุกทำให้ต้องเผชิญหน้ากับการถูกบีบพื้นที่และเวลาจากฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการป้องกันที่แข็งแกร่ง ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเทคนิคและความแม่นยำในการเล่นอยู่เสมอเพื่อให้เหมาะสมกับเกมรับของคู่ต่อสู้
4. "สร้างการเล่น Combination plays" หรือ การสร้างกลุ่มการเล่นเพื่อรับ-ส่งบอล-เคลื่อนที่ และประสานงานกันอย่างเป็นระบบและไหลลื่น ก่อนจะค่อยๆ เร่งจังหวะการโจมตีคู่ต่อสู้ให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ
การเล่นเกมรับ :
1. "การครอบครองบอลคือสิ่งที่สำคัญที่สุด" ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดก็ตามที่สูญเสียการครองบอลผู้เล่นทุกคนจะต้องช่วยกันแย่งบอลกลับคืนมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
2. ร่วมกันผสานการเล่นเกมรับเพื่อสร้างการกดดันและบีบพื้นที่คู่ต่อสู้ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้สามารถ “กำหนดเป้าหมาย” การแย่งบอลจากฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายขึ้น
3. ต้อง “สลับปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นได้รวดเร็ว” เพื่อแย่งบอลที่เสียการครอบครองไปกลับคืนมาให้ได้โดยเร็วที่สุด
4. “จำกัดอิสระการเล่นของคู่ต่อสู้” ด้วยการกดดันพื้นที่และเวลาของคู่ต่อสู้ ด้วยการสร้างเกมรับที่แข็งแกร่ง
5. สร้าง “รูปแบบ” การเล่นเกมรับเชิงรุก ด้วยการคาดการณ์การเคลื่อนที่ของฝ่ายตรงข้าม และสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสนาม เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ
6. สร้าง “แนวคิด” การเล่นเกมรับเชิงรุก ด้วยการทำความเข้าใจตำแหน่งของลูกบอล คู่ต่อสู้ เพื่อนร่วมทีม และพื้นที่ในสนาม จากนั้นจึงพุ่งเข้าแย่งชิงลูกบอลจากฝ่ายตรงข้ามในช่วงเวลาที่เหมาะสม
และทั้งหมดนี้ คือ การวางโครงสร้างทางฟุตบอลของประเทศที่ได้ชื่อว่า “ทำงานอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายที่สามารถจับต้องได้อย่างชัดเจน” รวมถึง ยังมีรูปแบบที่เป็นการผสมผสานแนวทางความสำเร็จอื่นๆ มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับ “อัตลักษณ์ของชาติตัวเองได้อยู่เสมอๆ”
ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็น ฟุตบอลในวิถี Japan’s Way ที่ทั้งสวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้เป้าหมายเป็นแชมป์โลกในปี 2050 ไม่ถูกดูแคลนจากบรรดาชาติมหาอำนาจลูกหนังได้อีกต่อไปแล้ว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม :