เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์ กับ สองบิดาวิทยาศาสตร์โลก อีก หนึ่งบิดา “นิยาย” วิทยาศาสตร์ไทย ที่ใช้จินตนาการที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง....
วันที่ 21 เดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ชุมชนชาวนิยายวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ร่วมกันฉลองครบรอบ 157 ปี วันเกิดหนึ่งใน “บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์โลก” เอช.จี. เวลส์ (H.G. Wells) ผู้ซึ่งวันนี้ มีหลุมอุกกาบาตชื่อ เอช.จี. เวลส์ (H.G. Wells Crator) อยู่บนดวงจันทร์อย่างเป็นอมตะตลอดไป
“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ขอนำท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับเรื่องราวบางส่วนบนเส้นทางชีวิตของ เอช.จี. เวลส์ นำเขามาสู่การสร้างสรรค์ผลงาน จนกระทั่งได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์โลก
แล้ว “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์โลก” คนอื่นๆ ล่ะ?
อีกคนหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ เมื่อกล่าวถึง เอช.จี. เวลส์ ก็คือ จูลส์ เวิร์น (Jules Verne)
แล้ววงการนิยายวิทยาศาสตร์ไทยล่ะ?
อย่างน่าภาคภูมิใจ วงการนิยายวิทยาศาสตร์ไทยของเรา ก็มี “บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย” คือ “จันตรี ศิริบุญรอด”
...
เอช.จี. เวลส์ ผู้เปิดกว้างอาณาจักรนิยายวิทยาศาสตร์ไร้ขอบเขต!
เอช.จี. เวลส์ เป็นชาวอังกฤษ (21 กันยายน ค.ศ. 1866-13 สิงหาคม ค.ศ. 1946)
เอช.จี. เวลส์ ได้ชื่อเป็นนักเขียน, นักการหนังสือพิมพ์, นักสังคมวิทยา, นักประวัติศาสตร์ และนักอนาคตศาสตร์
ตัว เอช.จี. เวลส์ เอง ยอมรับ (อย่างภาคภูมิใจ) ในความเป็นนักเขียน แต่ไม่ยอมรับว่า ตนเองเป็นนักอนาคตศาสตร์
ในความคิดของ เอช.จี. เวลส์ นักอนาคตศาสตร์คือ คนที่พยายามพยากรณ์อนาคต โดยอาศัยพื้นฐานและหลักการวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ
จริงๆ แล้ว เอช.จี. เวลส์ ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ ได้รับปริญญาตรีสาขา สัตววิทยา ในปี ค.ศ. 1890 จากมหาวิทยาลัยลอนดอน และเขาก็บรรยายและเขียนเรื่องเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ว่า เป็น “อนาคตศาสตร์”
แต่ เอช.จี. เวลส์ ยืนยันว่า เขาเขียนถึงโลกอนาคตตามความคิดของเขา โดยพยายามใช้ “จินตนาการที่อยู่บนฐานความอาจเป็นไปได้จริง”
แล้ว “อนาคตศาสตร์” จริงๆ เป็นอย่างไร ?
เป็นความจริงว่า สำหรับการพยากรณ์อนาคตในระดับใหญ่และอย่างเป็นทางการ มีการนำไปใช้งานจริงๆ ดังเช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ที่มักกำหนดเป็นระยะเวลาหลายปี (เช่นทุก 5 ปี) ต้องอาศัยข้อมูลและกระบวนการวิเคราะห์ เพื่อสังเคราะห์เป็นแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำหรับช่วงเวลาเช่น 5 ปีข้างหน้า
แต่สำหรับนักอนาคตศาสตร์แต่ละคน หลักสำคัญของอนาคตศาสตร์ คือ การพยากรณ์อนาคตของประเทศ หรือของภูมิภาค หรือของโลกนั้น ต้องเป็นการพยากรณ์อนาคตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
แล้วใช้ “จินตนาการ” ได้หรือไม่?
คำตอบตรงๆ คือ ได้!
และจริงๆ แล้ว จินตนาการก็เป็นส่วนสำคัญของการพยากรณ์อนาคตของนักอนาคตศาสตร์แต่ละคน ทำให้ได้ภาพหรือฉากทัศน์ของโลกอนาคต ดังเช่น อนาคตของปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) ต่ออาชีพของนักเขียนในอีก 20 ปีข้างหน้าของนักอนาคตศาสตร์ จึงแตกต่างกันได้
ดังนั้น หนังสือ เช่น The Discovery Of The Future จากการบรรยายของ เอช.จี. เวลส์ ต่อราชสถาบัน (Royal Institute) เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1902 จึงเป็นหนังสือที่ได้รับการยอมรับจากวงการอนาคตศาสตร์ว่า เป็นหนังสืออนาคตศาสตร์สำคัญเล่มหนึ่งของโลก ซึ่งทุกวันนี้ หนังสือ The Discovery Of The Future โดย เอช.จี. เวลส์ ก็ยังมีการตีพิมพ์ใหม่ให้ติดตามหาซื้อได้
...
เพราะ “ขาหัก” และ “จูลส์ เวิร์น” จึงเกิด “เอช.จี. เวลส์”
มีหนึ่งเหตุการณ์และหนึ่งบุคคล ที่มีอิทธิพลต่อความเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ของ เอช.จี. เวลส์
หนึ่งเหตุการณ์ คือ เด็กชาย เอช.จี. เวลส์ ประสบอุบัติเหตุขาหัก ไปไหนไม่ได้หลายสัปดาห์
เขาเขียนในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่า คุณแม่ของเขาเป็นคนเคร่งศาสนา แต่ตอนนั้นศาสนาดูจะไม่ได้ช่วยให้เขาผ่านเวลาที่เจ็บปวดและน่าเบื่อนั้นได้
สิ่งที่ช่วยเขาได้จริงๆ คือ หนังสือจากห้องสมุด ที่คุณพ่อของเขานำมาให้เขาอ่าน
เอช.จี. เวลส์ จึง “ติด” หนังสือมากตลอดชั่วชีวิตของเขา และ “หนังสือ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ทั้งความรู้และเรื่องสนุกๆ ก็มีส่วนสำคัญนำทางให้เขาเดินบนเส้นทางสู่การเป็นนักเขียน
หนึ่งบุคคล คือ จูลส์ เวิร์น นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เกิดก่อน เอช.จี. เวลส์ 38 ปี และเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์มีชื่อเสียงแล้ว เมื่อ เอช.จี. เวลส์ ยังเป็นเด็ก
เอช.จี. เวลส์ ชอบอ่านนิยายวิทยาศาสตร์มาก นักเขียนที่เขาชอบมากเป็นพิเศษสองคน คือ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley : ค.ศ. 1797-1851) กับ จูลส์ เวิร์น
ผลงานของ แมรี เชลลีย์ ที่ เอช.จี. เวลส์ ชอบเป็นพิเศษ คือ Frankenstein (แฟรงเกนสไตน์)
แต่ แมรี เชลลีย์ เขียนนวนิยายไม่มากนัก ดังนั้น อิทธิพลที่เขามีต่อ เอช.จี. เวลส์ มากเป็นพิเศษคือ ทำให้เขาชอบอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ และสร้างแรงบันดาลใจทำให้เขาอยากเป็นนักเขียน
...
แรงบันดาลใจใหญ่ที่สุดที่ผลักดันให้ เอช.จี. เวลส์ เข้าสู่ถนนสายนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ คือ จูลส์ เวิร์น
เอช.จี. เวลส์ ชอบวิธีการเล่าเรื่องของ จูลส์ เวิร์น ว่า ทำให้อ่าน “สนุก”
แต่ เอช.จี. เวลส์ มองว่า เรื่องของ จูลส์ เวิร์น ส่วนใหญ่เน้นเรื่องของ เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีทำให้มนุษย์สามารถเดินทางไปในที่ซึ่งไม่เคยทำได้มาก่อน คือ ใต้น้ำ, ในอากาศ และในอวกาศ
เอช.จี. เวลส์ จึงตั้งใจเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่เปิด “กว้าง” กว่าของ จูลส์ เวิร์น นั่นคือ “เปิดกว้างอาณาจักรนิยายวิทยาศาสตร์อย่างไร้ขอบเขต”
เอช.จี. เวลส์ เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์เป็นเล่มมากกว่าห้าสิบเรื่อง และเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์อีกกว่ายี่สิบเรื่อง ดังเช่น :-
The Time Machine (ค.ศ. 1985) การท่องเวลาสู่อนาคตและกลับมายังอดีตที่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์เล่มแรกของ เอช.จี. เวลส์
*The War Of The World (ค.ศ. 1898) นิยายวิทยาศาสตร์สงครามระหว่างดวงดาว เมื่อกองทัพจากดาวอังคารบุกโลก
*The Invisible Man (ค.ศ. 1896) เรื่องของมนุษย์ล่องหน
*The World Set Free (ค.ศ. 1914) เรื่องของสงครามนิวเคลียร์ เอช.จี. เวลส์ ใช้คำ “aromic bomb” ในเรื่องนี้
...
จูลส์ เวิร์น ผู้เปิดโลกเทคโนโลยีมหัศจรรย์
จูลส์ เวิร์น หรือ ฌูล แวร์น เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดที่เมืองน็องต์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1828 ถึงแก่กรรมวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1905
เมืองน็องต์เป็นเมืองท่า จูลส์ เวิร์น จึงได้เห็นเรือ เห็นการใช้ชีวิตของชุมชนใกล้แม่น้ำ และการเดินทางโดยทางเรือ ซึ่งมีอิทธิพลต่อผลงานการเขียนของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิยายวิทยาศาสตร์ที่มักจะเกี่ยวกับการเดินทาง โดยเทคโนโลยีมหัศจรรย์ในพรมแดนแปลกๆ สำหรับยุคสมัย คือ ใต้น้ำ, ในอากาศ และในอวกาศ
จูลส์ เวิร์น เป็นคนช่างฝันและโรมันติกตั้งแต่เด็ก
ในชีวประวัติของเขา (เขียนโดยนักเขียนชีวิประวัติ) มีบันทึกเรื่องราวตอนที่ จูลส์ เวิร์น ขณะมีอายุเพียง 11 ปี แอบไปสมัครเป็นลูกเรือเพื่อเดินทางไปยังดินแดนค้นพบใหม่
เป้าหมาย เพื่อไปหา “สร้อยคอปะการัง” เพื่อนำกลับมาให้สาวน้อยลูกพี่ลูกน้อง ชื่อ โคราลี (Coralie)
แต่ในที่สุด ก็ไม่ได้เดินทางไปกับเรือ เพราะถูกคุณพ่อตามไปจนพบก่อนที่เรือจะออกเดินทางสู่ทะเลจริงๆ
แล้วคุณพ่อก็ให้ จูลส์ สัญญากับพ่อว่า ต่อไปนี้ จะออกเดินทางจริงๆ เฉพาะใน “จินตนาการ” เท่านั้น
คำมั่นสัญญานี้ ดูจะมีผลเพราะ จูลส์ เวิร์น ก็ไม่หนีไป “ผจญภัย” ด้วยตัวเอง และก็มีผลทำให้ จูลส์ เวิร์น ท่องไปในดินแดนต่างๆ ด้วยจินตนาการ
แล้วก็ยังมีเรื่องราวโรมันติกสมัยเป็นหนุ่มของ จูลส์ เวิร์น ที่มีผลต่องานเขียนของเขาเกี่ยวกับผู้หญิง
เมื่อ จูลส์ เวิร์น อายุ 19 ปี ได้พบกับผู้หญิงที่เป็นรักแท้และหวังแต่ง (เมื่อถึงเวลา) ของ จูลส์ เวิร์น ชื่อ Rose Herminie Arnaud Grosettiere และเธอก็ตอบสนองความรักของหนุ่ม จูลส์ เวิร์น
แต่ผู้ปกครองของเธอไม่เห็นด้วย ที่จะให้ลูกสาวกับหนุ่มน้อยผู้ยังไร้อนาคตอย่างจริงจัง จึงจัดให้เธอแต่งงานกับชายผู้มีฐานะคนหนึ่งไป
ความผิดหวังครั้งนี้ มีผลต่อ จูลส์ เวิร์น มาก เขาเสียศูนย์ไปนานทีเดียว และทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรงต่อต้าน “การบังคับให้ผู้หญิงต้องแต่งงานตามความต้องการของผู้เป็นบิดามารดา”
ในนิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่องของ จูลส์ เวิร์น จึงมีเรื่องราวของตัวละครหญิง ที่ถูกบังคับให้แต่งงานด้วยความไม่สมัครใจของเธอๆ จนกระทั่งเกิดมีวลีว่า “herminie complex” หรือ “ปมเฮอร์มีน” ขึ้นมาในวงการวรรณกรรมฝรั่งเศสและของโลก
เส้นทางชีวิตของ จูลส์ เวิร์น ไม่ลำบากเท่าของ เอช.จี. เวลส์ แต่ก็ต้อง “ต่อสู้อย่าง...สันติ” กับคุณพ่อของเขา ที่เป็นอัยการ และจึงอยากให้ จูลส์ เวิร์น เรียนกฎหมาย เพื่อมีอาชีพทางด้านกฎหมาย
จูลส์ เวิร์น ก็พยายามตามใจคุณพ่อ คือ เข้าเรียนทางด้านกฎหมาย จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา มีใบประกาศนียบัตรรับรองการดำเนินอาชีพทางด้านกฎหมายได้ และก็ได้ใช้ในการประกอบอาชีพทางด้านธุรกิจจริง
แต่ความสนใจและความใฝ่ฝันที่แท้จริงของ จูลส์ เวิร์น คือ การเป็นนักเขียน
เปรียบเทียบกับ เอช.จี. เวลส์
แรงบันดาลใจคนสำคัญของ เอช.จี. เวลส์ คือ จูลส์ เวิร์น ที่ทำให้ เอช.จี. เวลส์ เปิดกว้างอาณาจักรนิยายวิทยาศาสตร์ให้ไร้ขอบเขต
แล้ว จูลส์ เวิร์น ล่ะ?
แรงบันดาลใจคนสำคัญของ จูลส์ เวิร์น สำหรับการเขียนหนังสือ คือ วิกเตอร์ ฮูโก (Victor Hugo) ผู้เขียน The Hunchback Of Nortre-Dam (คนค่อมแห่งนอเทรอดาม) และอาแล็กซ็องดร์ ดูจ์มา (Alexanore Dumas) ผู้เขียน The Three Musketeers (สามทหารเสือ)
แต่คนเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่สุดของ จูลส์ เวิร์น สำหรับนิยายวิทยาศาสตร์ คือ เอ็ดการ์ อัลแลน โพ (Edgar Allen Poe : 19 มกราคม ค.ศ. 1809-7 ตุลาคม ค.ศ. 1849) นักเขียนอเมริกัน
จริงๆ แล้ว เอ็ดการ์ อัลแลน โพ มีชื่อเสียงและผลงานมากที่สุดสำหรับการเขียนเรื่องประเภทลึกลับ ฆาตกรรม สยองขวัญ สืบสวน แต่ก็ได้เขียนนิยายด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ก็ได้รับการยกย่อง (ต่อๆ มา) ว่า เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นยอดเยี่ยม
ตัวอย่างผลงานของ เอ็ดการ์ อัลแลน โพ ที่ได้รับการยกย่องเป็นนิยายวิทยาศาสตร์สำคัญ คือ :-
*The Unparalleled Adventure Of One Hans Pfaall (ค.ศ. 1835) เรื่องการเดินทางสู่ดวงจันทร์โดยบัลลูน
*The Narrative Of Arthur Gordon Pym’s Adventures (ค.ศ. 1832) การเดินทางผจญภัยในทะเล
*The Balloon Hoax (ค.ศ. 1844) การเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยบัลลูน เริ่มต้นเขียนและส่งตีพิมพ์แบบเป็นเรื่องจริง แต่ต่อมา ก็เป็นที่ยอมรับว่า เป็นนิยายวิทยาศาสตร์
เช่นเดียวกับที่ เอช.จี. เวลส์ รู้สึกว่า นิยายวิทยาศาสตร์ของ จูลส์ เวิร์น จำกัดกรอบพรมแดนมากเกินไป จูลส์ เวิร์น ก็รู้สึกว่า เอ็ดการ์ อัลแลน โพ เขียน นิยายวิทยาศาสตร์อย่าง “ตามใจ” ผู้เขียนเกินไป ในส่วนความเป็นวิทยาศาสตร์
ในจดหมายที่ จูลส์ เวิร์น เขียนถึงคุณพ่อของเขา (ค.ศ. 1862) จูลส์ เวิร์น กล่าวว่า เขาจะพยายามเขียนนิยายวิทยาศาสตร์โดยอาศัยความรู้และความน่าจะเป็นไปได้จริงของวิทยาศาสตร์ นั่นคือ ไม่ใช่จินตนาการอย่างตามใจชอบ...
ซึ่งก็แสดงออกมาในนิยายวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ของ จูลส์ เวิร์น ที่เกี่ยวกับการอาศัยเทคโนโลยีที่อาจเป็นไปได้จริงในอนาคต สำหรับการเดินทางมหัศจรรย์ของเขา
ตัวอย่างผลงานสำคัญของ จูลส์ เวิร์น มีเช่น :-
*A Journey To The Centre Of The Earth (ค.ศ. 1864) การเดินทางสู่ใจกลางโลก
*From The Earth To The Moon (ค.ศ. 1865) จากโลกสู่ดวงจันทร์
*Twenty Thousand Leagues Under The Sea ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์
*Around The World In Eighty Days (ค.ศ. 1872)
ชื่อเสียงของ จูลส์ เวิร์น กับของ เอช.จี. เวลส์
น่าสนใจว่า ถึงแม้ จูลส์ เวิร์น จะเป็นนักเขียนอาวุโส คือมีอายุมากกว่า เอช.จี. เวลส์ มีผลงานการเขียนก่อน เอช.จี. เวลส์ แต่ความมีชื่อเสียงและการยอมรับ เอช.จี. เวลส์ มีชื่อเสียงและการยอมรับมากกว่าและเร็วกว่า จูลส์ เวิร์น ในระยะแรกๆ ที่ทั้งสองมีผลงานร่วมกันทั้งคู่
ทว่า ต่อๆ มา ความมีชื่อเสียงของ จูลส์ เวิร์น ก็เพิ่มขึ้น และขยายไปทั่วโลกมากขึ้น จนกระทั่งในที่สุด ทั้งคู่ก็เป็นที่ยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรีเท่ากันว่า เป็นบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ของโลก มาถึงทุกวันนี้
สาเหตุสำคัญ คือ ภาษาที่ จูลส์ เวิร์น ใช้ อย่างแน่นอน เป็นภาษาฝรั่งเศส ที่ไม่แพร่หลายทั่วโลกเท่าภาษาอังกฤษ และปัญหาการแปลนิยายวิทยาศาสตร์ของ จูลส์ เวิร์น จากภาษาฝรั่งเศส เป็นภาษาอังกฤษในช่วงแรกๆ ค่อนข้างจะเป็นการแปลมีคุณภาพต่ำ จนกระทั่งมีการแปลใหม่เป็นภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพจริงๆ จูลส์ เวิร์น จึงได้รับการยอมรับอย่างสมศักดิ์ศรี
เรย์ แบรดบิวรี (Ray Bradbury) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อเมริกัน คนสำคัญคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ ผู้เขียน Fahrenheit 451 จึงเขียนในคำนำหนังสือ Verne's Journey to the Centre of the Self (ค.ศ. 1990) ว่า :
“เราทั้งหมด (นักเขียนและวิทยาศาสตร์ทั่วโลก) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ล้วนเป็นทายาทของ จูลส์ เวิร์น”
จันตรี ศิริบุญรอด บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย
จันตรี ศิริบุญรอด (31 มีนาคม พ.ศ. 2460-13 มีนาคม พ.ศ. 2511)
“ยุคทองยุคแรกของนิยายวิทยาศาสตร์ไทย” เริ่มต้นประมาณปี พ.ศ. 2498 จากนิตยสาร “วิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์” มี ปรีชา อมาตยกุล เป็นบรรณาธิการ มี จันตรี ศิริบุญรอด เป็นผู้เขียนหลัก ตีพิมพ์นิยายวิทยาศาสตร์และเรื่องเชิงสารคดีวิทยาศาสตร์
ต่อมา จันตรี ศิริบุญรอด ก็เป็นทั้งบรรณาธิการและผู้เขียนหลักของทั้ง “วิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์” และ “วิทยาศาสตร์-อัศจรรย์” ถึงปี พ.ศ. 2505 หลังจากนั้น จันตรี ศิริบุญรอด ก็ยังเขียนนิยายวิทยาศาสตร์และสารคดีวิทยาศาสตร์ต่อ จนกระทั่งถึงแก่กรรมในวัย 51 ปี
หลังการจากไปของ จันตรี ศิริบุญรอด วงการนิยายวิทยาศาสตร์ไทยก็ซบเซาอยู่นานเป็นเวลาประมาณยี่สิบปี จึงเริ่มฟื้นฟูขึ้นอย่างชัดเจน มีนิตยสาร, วารสารเกิดใหม่ ตีพิมพ์นิยายวิทยาศาสตร์เป็นประจำ และมีนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจาก จันตรี ศิริบุญรอด จนกระทั่งในที่สุด จันตรี ศิริบุญรอด ก็ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย” และในปี พ.ศ. 2548 ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ จัดโครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ “รางวัล จันตรี ศิริบุญรอด” ขึ้นเป็นครั้งแรก
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566 Google ก็ได้เปลี่ยนโลโก้ของ Google เป็นภาพของ จันตรี ศิริบุญรอด พร้อมข้อความ “Tuntree Siriboonrod’s 106Th Birthday” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันเกิดครบรอบ 106 ปี ของ จันตรี ศิริบุญรอด
การเปลี่ยนโลโก้ของ Google มีความหมายแสดงให้เห็นความสำคัญของ “วัน” ในระดับประเทศและโลก
ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในคนชอบเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก จันตรี ศิริบุญรอด ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน แล้วต่อมา หลังจากที่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษคล่องขึ้น ก็จึงได้รับแรงบันดาลใจจาก เอช.จี. เวลส์ และ จูลส์ เวิร์น ด้วย
ผู้เขียนเชื่อว่า คนทุกคนที่กำลังมีความสุขกับการทำงาน ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือทักษะพิเศษ ที่ต้อง “เรียนรู้” และ “ฝึกฝน” อย่างไม่ธรรมดา ล้วนมีคนที่เป็นแรงบันดาลใจ
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ มีใครเป็นแรงบันดาลใจ?
**********************