เปิดตำนาน เคานต์ แดรกคูลา ผีดูดเลือด กับเรื่องราวของ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ "เจ้าชายวลาด" จอมเสียบน้ำตาเป็นเลือด #เชื่อคิดและทำอย่างวิทยาศาสตร์...
วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2566 คณะวิจัยแห่งสมาคมเคมีอเมริกัน (American Chemical Society) ตีพิมพ์ในวารสาร Analytical Chemistry ผลการศึกษาจดหมายของเจ้าชายวลาดที่ 3 (Vlad III) ที่รู้จักและเข้าใจกันว่า เป็น เคานต์ แดรกคูลา เจ้าชายแวมไพร์ดูดเลือดคนเป็น เพื่อความเป็นอมตะ พบว่าเจ้าชายวลาดที่ 3 อาจป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับผิวหนังและทางเดินหายใจรุนแรงและเลือด ถึงขั้นอาจมีน้ำตาไหลออกมาเป็นเลือด
"เชื่อ คิด และทำ อย่างวิทยาศาสตร์" วันนี้ขอนำท่านผู้อ่านไปติดตามเรื่องราวของเจ้าชายแดรกคูลาที่กำลังเป็นข่าวดังในวงการวิทยาศาสตร์วันนี้ และไปคลี่คลายเรื่องราวชวนพิศวง ในส่วนที่เป็นเรื่องจริง และส่วนเป็นจินตนาการ เพื่อหาคำตอบทำไมแดรกคูลา จึงเป็น “ผีดิบอมตะ” ที่ยังไม่มีวี่แววจะ “ตายไปจริงๆ”
...
วิทยาศาสตร์พิสูจน์เจ้าชายวลาดจอมเสียบน้ำตาเป็นเลือด
วลาดที่สาม เป็นบุคคลมีตัวตนจริง และมีประวัติศาสตร์ที่ทำให้ได้ชื่อเป็น “เจ้าชายวลาดจอมเสียบ” หรือ “Prince Vlad the Impaler” ในศตวรรษที่สิบห้าจริง!
เจ้าชายวลาดที่สาม เป็นโอรสของพระเจ้าวลาด ดราคูล (Vlad Dracule) แห่งวอลลาเคีย (Wallachia) ซึ่งในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโรมาเนีย
ในยุคสมัยนั้น จักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire) มีอำนาจมาก และวอลลาเคียก็เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมาน
เจ้าชายวลาดที่สาม ได้เป็นกษัตริย์แทนพระเจ้าวลาด ดราคูล และทำศึกอย่างแข็งขันกับกองทัพเติร์กแห่งจักรวรรดิออตโตมาน
ชื่อเสียงความโหดร้ายของเจ้าชายวลาดที่สามที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ คือ เสียบ (ฆ่า) ทูตจากออตโตมานที่ถูกส่งมาเตือน (บังคับ) ให้วอลลาเคีย ภักดีต่อออตโตมาน
มีการกล่าวถึงจำนวนผู้ถูก “เสียบ” โดยเจ้าชายวลาดที่สามมากว่า 80,000 คน แต่ในที่สุด เจ้าชายหรือพระเจ้าวลาดที่สาม ก็สิ้นพระชนม์ในการทำศึกกับกองทัพเติร์ก ในปี ค.ศ. 1475 หรือ ค.ศ. 1476 ขณะมีพระชนมายุเพียง 45 หรือ 46 พรรษา
ในการพิสูจน์ของคณะนักวิจัยแห่งสมาคมเคมีอเมริกัน นักวิจัยใช้วิธีลอกหาโปรตีนและโมเลกุลต่างๆ จากจดหมายสามฉบับของเจ้าชายวลาดที่สาม โดยใช้แผ่นฟิล์มพลาสติกพิเศษ เรียก อีวีเอ (EVA : Ethylene Vnyl Acetate) ซึ่งไม่ทำให้จดหมายต้นฉบับเสียหาย
จากนั้นก็ใช้วิธีแมส สเปกโตรเมตรี (mass spectrometry) วิเคราะห์เปปไทด์ที่ได้เป็นจำนวนหลายพันหน่วย แล้วคัดออกมาเหลือเป็นโปรตีนเพียง 16 ชิ้น ที่เก่าแก่ที่สุดจากจดหมาย และจึงมีความเป็นไปได้มากว่า จะมาจากตัวตนของเจ้าชายวลาดที่สามจริงๆ
จากการวิเคราะห์โดยภาพรวม ทำให้คณะนักวิจัยทราบสภาพแวดล้อม รวมทั้งเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่ในยุคสมัย และที่เจ้าชายวลาดที่สามได้สัมผัส แต่สำคัญที่สุด ก็คือ โปรตีน 16 ชิ้นนั้น ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพของเจ้าชายวลาดที่สามด้วย
ถึงแม้จะยังมีคำถามว่า โมเลกุลและเปปไทด์ที่ได้จากจดหมาย อาจมิใช่มาจากเจ้าชายวลาดที่สามทั้งหมด ซึ่งคณะนักวิจัยก็ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ทั้งหมด แต่คณะนักวิจัยก็มีความมั่นใจสูงว่า โปรตีนทั้ง 16 ชิ้น ที่พบ ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ เป็นของเจ้าชายวลาดที่สามจริง
และบทสรุปจากโปรตีนที่พบ คือ เจ้าชายวลาดที่สามมีปัญหาเชิงสุขภาพ เกี่ยวกับผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และเลือด ถึงขั้นมีอาการน้ำตาเป็นเลือด คือ มีเลือดไหลออกมาปนกับน้ำตา ซึ่งยิ่งเสริมความเชื่อมโยงกับแวมไพร์ผีดิบ แดรกคูลา ดูดเลือดของเจ้าชายวลาดที่สาม
...
แบรม สโตเกอร์ กับกำเนิดของ แดรกคูลา
แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) นักเขียนชาวไอริช มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี ค.ศ. 1847 – 1912 เขียนนิยายสยองขวัญแวมไพร์ผีดิบดูดเลือด Dracula ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1897
แดรกคูลาของ แบรม สโตเกอร์ เป็นวรรณกรรมลี้ลับ สยองขวัญแบบกอทิก (Gothic) แห่งยุโรปปลายศตวรรษที่สิบแปด ซึ่งมักเป็นเรื่องลี้ลับ สยองขวัญ เกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติและภูตผีปิศาจ เปิดเรื่องกับการเดินทางของทนาย โจนาทาน ฮาร์เกอร์ (Tonathan Harker) จากกรุงลอนดอน ไปยังปราสาทของเคานต์แดรกคูลาในโรมาเนีย เพื่อเป็นตัวแทนซื้อบ้านให้แดรกคูลาในอังกฤษ ใกล้กรุงลอนดอน
โจนาทาน ฮาร์เกอร์ ได้พบกับเคานต์ แดรกคูลา รู้ว่า เคานต์แดรกคูลาเป็นแวมไพร์ผีดิบที่ต้องกินเลือดมนุษย์เพื่อความเป็นอมตะ
ตัวละครสำคัญที่สุดใน Dracula นอกเหนือไปจาก โจนาทาน ฮาร์เกอร์ แล้ว ก็คือ เคานต์ แดรกคูลา และคู่ปรับคนสำคัญ ที่ร่วมกับ โจนาทาน ฮาร์เกอร์ ในการต่อกรกับเคานต์แดรกคิวลา คือ อับราฮัม แวน เฮลซิง (Abraham Van Helsing) ผู้เป็นแพทย์ นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาชาวดัตช์
นอกเหนือไปจากตัวละครสำคัญสามตัวนี้แล้ว ก็มีตัวละครอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในนิยายแดรกคูลาด้วย คือ ผู้หญิง ที่ตกเป็นเหยื่อของแดรกคูลา เพราะทุกคน เมื่อถูกแดรกคูลาดูดเลือด ก็จะกลายเป็นแวมไพร์ดูดเลือดตามเคานต์ แดรกคูลา ไปด้วย
...
แดรกคูลา แวมไพร์ กับเจ้าชายวลาดจอมเสียบ
ความเข้าใจกันว่า เจ้าชายวลาดจอมเสียบ เป็นต้นแบบเคานต์ แดรกคูลา ของ แบรม สโตเกอร์ เกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นความจริงหรือไม่?
คำตอบอย่างตรงๆ และชัดสำหรับข้อสงสัยหลังคือ ไม่จริง!
แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ส่วนหนึ่งก็มาจากความสำเร็จของหนังสือ Dracula ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านและนักวิจารณ์วรรณกรรมเป็นอย่างดี ตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรก ก่อนที่สโตเกอร์จะจากโลกไปเป็นเวลา 15 ปี
หลังสโตเกอร์ไม่อยู่แล้ว เรื่องราวของแดรกคูลา (ของสโตเกอร์) กลับยิ่งแพร่หลาย โด่งดังทั้งในวงการวรรณกรรม และสื่อบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์ แล้วก็วงการวิชาการด้วย ที่มีการเจาะเรื่องราวที่มาของแดรกคูลา
สิ่งจูงใจที่ทำให้แดรกคูลาของสโตเกอร์ถูกโยงกับเรื่องของเจ้าชายวลาดจอมเสียบก็มีอยู่มากที่เดียว ดังเช่น :-
*เจ้าชายวลาดจอมเสียบ เป็นเชื้อพระวงศ์ตระกูล ดราคูล (Dracule) เป็นโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าวลาดที่ 2 หรือ Vlad Dracule โดยคำ Dracule ของ Vlad Dracule หมายถึง Dragon คือ มังกร
*เคานต์ แดรกคูลา ของสโตเกอร์ มีประวัติเป็นนักรบในสงครามกับชาวเติร์ก เช่นเดียวกับเจ้าชายวลาดจอมเสียบ
*เรื่องราวพื้นฐานการเกิดหรือเกี่ยวกับโรมาเนีย
ถึงแม้แดรกคูลาของสโตเกอร์ จะไม่มีพฤติกรรมเป็นจอมเสียบแบบเดียวกับเจ้าชายวลาดจอมเสียบ แต่ก็ถูกโยงเข้าหากันจนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
แล้วตัวสโตเกอร์เอง และคนใกล้ชิดกับสโตเกอร์ล่ะ? ได้ให้ “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับเรื่องราวที่มาของหนังสือ Dracula อย่างไร?
...
อย่างแน่นอน คนรู้ดีที่สุด คือ ตัวสโตเกอร์เอง ส่วนคนอื่นๆ ก็ “รู้เรื่อง” หรือ “คงรู้เรื่อง” ข้อเท็จจริงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เสียงดังพอที่คนทั่วๆ ไปในวงการจะได้ยินกัน
ส่วนตัวสโตเกอร์เอง จริงๆ แล้วเขาก็มีการทำบันทึกสำหรับการเขียน Dracula ของเขาเองด้วย
แต่น่าเสียดายที่หลังการจากไปของสโตเกอร์ ภรรยาของเขาก็ขายบันทึกของสโตเกอร์ไป และก็ดูจะหายไปจากวงการอยู่นานถึง 60 ปี
ดังนั้น ตั้งแต่การจากไปของสโตเกอร์ มาถึงช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ เรื่องราวของแดรกคูลา (ของสโตเกอร์) จึงเป็นเรื่องของการค้นคว้า ศึกษา และคาดคิด ซึ่งภาพรวมที่สรุปออกมาเด่นชัด ทำให้เจ้าชายวลาดจอมเสียบ กลายเป็นต้นแบบที่มาของแดรกคูลา (ของสโตเกอร์)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือที่ชี้ออกมาอย่างชัดเจนที่สุดว่า เจ้าชายวลาดจอมเสียบ เป็นต้นแบบแดรกคูลาของ สโตเกอร์ คือ In Search of Dracula โดย เรย์อมนด์ ที. แม็กนอลลี (Raymond T. McNally) และราดู ฟลอเรสคู (Radu Florescu) ตีพิมพ์ ปี ค.ศ. 1972
เรย์มอนด์ ที. แม็กนอลลี เป็นศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา เชี่ยวชาญวรรณกรรมประเภทกอทิกสยองขวัญ ลี้ลับ ส่วน ราดู ฟลอเรสคู ก็เป็นศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอสตันเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราดู ฟลอเรสคู เป็นชาวโรมาเนีย ซึ่งทำให้หนังสือ In Search of Dracula ได้รับความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
แต่ในปีเดียวกับที่หนังสือ In Search of Dracula ตีพิมพ์ออกมา คือ ค.ศ. 1972 บันทึกการเขียน Dracula ของ สโตเกอร์ ก็ถูกค้นพบที่พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดโรเซนบาค (Rosenback Museum & Library) ในพิลาเดลเทีย ทำให้เรื่องราวที่มาและแรงจูงใจสำหรับการเขียน Dracula ของสโตเกอร์ ได้เปิดเผยออกมา ซึ่งสรุปตอบประเด็นสนใจกันมากที่สุดว่า เจ้าชายวลาดจอมเสียบ มิได้เป็นต้นแบบแดรกคูลาของสโตเกอร์
ที่มาและความหมายของชื่อแดรกคูลา
สำหรับที่มาของชื่อแดรกคูลาที่ไปพ้องกับราชวงศ์ดราคูลของเจ้าชายวลาดจอมเสียบล่ะ?
คำตอบ คือ คำว่า ดราคูล ในภาษาโรมาเนีย นอกเหนือไปจากความหมายว่า “มังกร” แล้วก็ยังหมายถึง “Devil” หรือ “ปิศาจ” ได้ด้วย
แดรกคูลาของสโตเกอร์ จึงมิได้หมายถึง “จอมมังกร” แต่หมายถึง “จอมปิศาจ” มากกว่า
มีคำถามว่า แล้วทำไมสโตเกอร์จึงเลือกโรมาเนียเป็นฉากของหนังสือ และมีประวัติเรื่องราวของเคานต์ แดรกคูลา เกี่ยวกับการทำสงครามกับกองทัพเติร์กแห่งจักรวรรดิออตโตมาน
คำตอบคือ สโตเกอร์ ชอบบรรยากาศและเรื่องราวประวัติศาสตร์ของโรมาเนียเก่าที่ “เหมาะ” กับเรื่องของเคานต์ แดรกคูลา ที่เขาตั้งใจจะเขียน
อย่างไรก็ตาม บทสรุปเป็นคำตอบของสโตเกอร์เหล่านี้ จริงๆ ก็มิได้มาจากสโตเกอร์เองทั้งหมด ถึงแม้บันทึกการเขียนแดรกคูลาของเขา จะเป็นหลักฐานสำคัญ แต่ก็มิได้มีรายละเอียดทั้งหมด
ดังนั้น สำหรับวงการวิชาการที่ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของแดรกคูลาโดยทั่วไป ก็เป็นดังที่ผู้เขียนได้สรุปอย่างย่อๆ ที่สุดว่าเจ้าชายวลาดจอมเสียบ มิได้เป็นต้นแบบแดรกคูลาของสโตเกอร์
แต่ก็ยังมีนักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งเรมอนด์ ที. แม็กนอลลี และ ราดู ฟลอเรสคู ซึ่งก็ได้ศึกษาบันทึกการเขียนแดรกคูลาของสโตเกอร์ ก็ยังศึกษา และร่วมกันเขียนหนังสือเกี่ยวกับแดรกคูลาต่อมาอีกหลายเล่ม เช่น Dracula, Prince of Many Faces (แดรกคูลา เจ้าชายหลายหน้า) ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1989
แดรกคูลากับความเป็นอมตะ!
นับเป็นเวลากว่า 129 ปี แล้ว ที่แดรกคูลาของสโตเกอร์ ได้ปรากฏตัวในรูปของหนังสือ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรากฏตัวของแดรกคูลา รวมทั้งเรื่องราวตัวละครสำคัญ ที่เกี่ยวกับแดรกคูลาทางจอเงิน แดรกคูลาก็เป็นแวมไพร์ ผีดิบโด่งดังที่สุด เทียบชั้นได้กับผีดิบแฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) ของ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) ที่เปิดตัว (หนังสือ) ก่อนแดรกคูลา 79 ปี
*ประเทศโรมาเนียกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ในยุโรป ได้ชื่อเป็น “ดินแดนแห่งแดรกคูลา”
*ปราสาทบราน (Bran Castle) ของจริงในเขตเมืองบราน ทางตอนกลางของโรมาเนีย กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังที่สุดของโรมาเนีย เรียกกันเป็น “ปราสาทเคานต์ แดรกคูลา”
*มีภาพยนตร์เกี่ยวกับ แดรกคูลา สร้างกันออกมาแล้วกว่า 80 เรื่อง ล่าสุดคือ Renfield ออกฉายเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 มี นิโคลาส เคจ รับบทเป็นแดรกคูลา โดยที่ เรนฟีลด์ เป็นคนรับใช้ของแดรกคูลา
แดรกคูลาจึงยังเป็นแวมไพร์ผีดิบโด่งดังที่สุด และมีแนวโน้มจะเป็น “อมตะ” ไปอีกนานแสนนาน
จากแดรกคูลาถึงทาร์ซานและผู้ชนะสิบทิศ
ผู้เขียนได้อ่านหนังสือและได้ชมภาพยนตร์เกี่ยวกับแดรกคูลาหลายเรื่อง (แต่ยังห่างไกลจากทั้งหมดกว่า 80 เรื่อง) ที่จดจำได้มากที่สุด ก็คือ แดรกคูลาที่รับบทบาทโดย คริสโตเฟอร์ ลี มี ปีเตอร์ คุชชิง รับบทเป็นคู่ปรับของแดรกคูลา คือ แวน เฮลซิง
จากการอ่านและดู “หนัง” แดรกคูลา สำหรับผู้เขียนในฐานะเป็นคนหนึ่งที่ชอบเขียนหนังสือ มีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนจะนึกถึง ก็คือ แบรม สโตเกอร์ สร้างผลงานการเขียนที่กลายมาเป็น “คลาสสิก” รู้จักกันดีทั่วโลกได้อย่างไร?
แล้วผู้เขียนก็นึกไปถึง เอดการ์ ไรซ์ เบอร์โรส์ (Edgar Rice Burroughs) และ “ยาขอบ”
เอดการ์ ไรซ์ เบอร์โรส์ ในฐานะนักเขียนผู้ให้กำเนิด “ทาร์ซาน”
“ยาขอบ” ในฐานะผู้เขียน “ผู้ชนะสิบทิศ”
ส่วนร่วมอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนนึกเห็นอย่างเด่นชัด คือ นักเขียนทั้งสาม เขียนเรื่องที่เป็นอมตะ จากจินตนาการถึงฉากและเรื่องราว ซึ่งอยู่ใน “จินตนาการ” เป็นสำคัญ
*แบรม สโตเกอร์ เขียนถึงโรมาเนีย โดยไม่เคยไปสัมผัสโรมาเนียด้วยตนเองเลย
*เอดการ์ ไรซ์ เบอร์โรส์ เขียนถึงแอฟริกา โดยไม่เคยไปแอฟริกามาก่อนเลย
*ยาขอบ เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพม่า โดยไม่เคยไปพม่าเลย
แต่ทั้งสามนักเขียน ก็มิได้ใช้จินตนาการทั้งหมด สำหรับฉากและเรื่องราวที่เขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สารตั้งต้น” ของผลงานอมตะ
*แบรม สโตเกอร์ ไม่เคยไปโรมาเนีย แต่ก็มีเพื่อนที่มีประสบการณ์ และ แบรม สโตเกอร์ เองก็ใส่ใจศึกษาองค์ประกอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร, สถานที่, บรรยากาศ ฯลฯ
*เอดการ์ ไรซ์ เบอร์โรส์ ไม่เคยไปแอฟริกา แต่ก็มีความตั้งใจจะเขียนถึงสถานที่และเรื่องราวแปลกใหม่ สำหรับคนอ่านทั่วไป รวมทั้งตัวผู้เขียนเอง จึงสร้าง “แอฟริกา” ในจินตนาการของตนขึ้นมา ซึ่งก็มิใช่จินตนาการ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเขาก็พยายาม “ศึกษา” เกี่ยวกับแอฟริกาเท่าที่จะหาได้
* "ยาขอบ" เขียนผู้ชนะสิบทิศ เป็นหนังสือรวมเป็นเล่มชุดปกแข็งยาว 8 เล่ม ใช้เวลาในการเขียน 8 ปี แล้วก็ยังไม่จบ เพราะ “ยาขอบ” จบอายุขัยก่อนที่เรื่องผู้ชนะจะจบสมบูรณ์ โดยที่ “ยาขอบ” หรือ โชติ แพร่พันธุ์ ไม่เคยไปพม่า แต่บอกที่มาของเรื่องว่า ได้แรงบันดาลใจจาก “ประวัติศาสตร์จริงของพม่า 8 บรรทัด” แล้วก็เขียน “ปลอมพงศาวดารพม่า” เพื่อความบันเทิงอารมณ์ของผู้อ่าน และผู้อ่านก็ “บันเทิง” กันจริงๆ จนกระทั่ง “ผู้ชนะสิบทิศ” ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสุดยอดวรรณกรรมของประเทศไทย
ในการบรรยายและฝึกอบรมการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เคล็ด (ไม่) ลับอีกข้อหนึ่ง ที่ผู้เขียนมอบให้กับ “นักอยากเขียน” นิยายวิทยาศาสตร์เป็นประจำ คือ :-
อ่าน (นิยายวิทยาศาสตร์) ให้มาก ใช้จินตนาการให้เต็มที่ แล้วก็ใช้ “จินตนาการ” (immagination) กับ “ความคิดแปลกใหม่” (creativity) เขียน (นิยายวิทยาศาสตร์) ที่ไม่มีใครเคยเขียนมาก่อน
แดรกคูลา ทาร์ซาน ผู้ชนะสิบทิศ มิใช่นิยายวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน แต่ทั้งสามเรื่องก็เป็นรูปแบบหนึ่งของ “วรรณกรรมแฟนตาซี” และผู้เขียนก็มองว่า ทั้งสามเรื่อง เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ “จินตนาการ” และ “ความคิดแปลกใหม่” สำหรับการสร้างผลงาน “สร้างสรรค์และแปลกใหม่” ได้อย่างดี
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร?