เรือดำน้ำไททัน กับ คำอธิบาย Implosion ที่นำไปสู่เหตุโศกนาฏกรรมช็อกชาวโลก...
หลัง "เรือดำน้ำไททัน" (TITAN) ประสบอุบัติเหตุขณะกำลังดำดิ่งลงไปยังซากเรือไททานิกที่ความลึกประมาณ 3,800 เมตร ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งล่าสุดได้รับการยืนยันจากหน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ แล้วว่า คนบนเรือทั้งหมดรวม 5 คน น่าจะเสียชีวิตทั้งหมด ปัจจุบัน “เรา” รู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์เศร้าสลดที่เกิดขึ้นกันแล้วบ้าง? วันนี้ “เรา” ไปร่วมฟังการบรรยายสรุป “ชุดข้อมูลที่ว่านี้ร่วมกัน”
ข้อมูลเรือดำน้ำไททัน :
น้ำหนัก 10,432 กิโลกรัม สูง 2.8 เมตร ยาว 6.7 เมตร กว้าง 2.5 เมตร ความเร็ว 3 นอต
บรรทุกผู้โดยสาร 5 คน ดำน้ำได้ลึกสูงสุด 4,000 เมตร มีออกซิเจนบนเรือดำน้ำใช้ได้ 96 ชั่วโมง (4 วัน) สำหรับ 5 คน ตัวเรือถูกสร้างขึ้นจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์หนาพิเศษและหุ้มด้วยไททาเนียมถึง 2 ชั้น ส่วนภายในเรือมีลักษณะคล้ายกับรถมินิแวน และมีห้องน้ำเล็กๆ ไว้สำหรับทำธุระส่วนตัวเพียง 1 ห้อง
...
ข้อมูลล่าสุดเรื่องการเดินเรือ : เรือดำน้ำไททัน ไม่มีระบบ GPS นำทางจึงต้องอาศัยการรับเส้นทางการเดินเรือผ่านข้อความจากเรือพี่เลี้ยง คือ “เรือ Polar Prince” ที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ
เจ้าของ : บริษัท OceanGate Expeditions
สาเหตุที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม :
Implosion :
หน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ ระบุว่า เรือ Remotely Operated Vehicle หรือ ROV ของแคนาดาที่เข้ามาร่วมในภารกิจกู้ภัย ได้พบเศษชิ้นส่วนเรือดำน้ำไททัน 5 ชิ้น ตกอยู่ห่างจากซากหัวเรือไททานิกไปประมาณ 1,600 ฟุต ที่ความลึก 3,800 เมตร
ทำให้เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า “เรือดำน้ำไททันน่าจะประสบเหตุระเบิดอย่างรุนแรงที่เรียกว่า “Implosion” หรือ “การระเบิดจากภายในซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงความดันอย่างรวดเร็วภายในเรือดำน้ำขณะกำลังดำดิ่งลงสู่มหาสมุทรได้เพียงประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที”
โดยข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องกับที่ กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่า สามารถตรวจพบสัญญาณเสียงที่สอดคล้องการระเบิดดังกล่าว ในวันเดียวกับที่เรือดำน้ำขาดการติดต่อกับเรือพี่เลี้ยงเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 23 และได้มีการส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้กับเจ้าหน้าที่ยามฝั่งของสหรัฐฯ เพื่อใช้จำกัดพื้นที่การค้นหาเรือดำน้ำไททัน ที่ ณ เวลานั้น เชื่อว่า “ยังเป็นเพียงเรือที่สูญหาย”
เนื่องจากโซนาร์มีการตรวจพบ “สัญญาณแห่งความหวัง” คือ “เสียงเคาะใต้น้ำ” (Banging Noises) ในพื้นที่การค้นหาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. และ 21 มิ.ย. ถึงแม้ว่าเสียงแห่งความหวังดังกล่าวจะไม่ชัดเจนมากนัก ทีมกู้ภัยจึงยังคงพยายามเดินหน้าค้นหาเรือดำน้ำไททันต่อไป จนกระทั่งมาพบกับหลักฐานที่สามารถยืนยันถึงการสูญเสียในที่สุด
...
แรงดันน้ำที่ความลึก 3,800 เมตร :
ข้อมูลควรรู้! ระดับชั้นความลึกและแรงดันน้ำในมหาสมุทร
1. Epipelagic Zone : ระดับผิวน้ำที่แสงสว่างส่องถึง ซึ่งมีความลึกไม่เกิน 200 เมตร โดยมีอุณหภูมิผิวทะเลตั้งแต่ สูงสุด 36 องศาเซลเซียส (ในอ่าวเปอร์เซีย) ถึง ต่ำสุด -2 องศาเซลเซียส (ใกล้ขั้วโลกเหนือ)
2. Mesopelagic Zone : ความลึกเกิน 200-1,000 เมตร เป็นชั้นความลึกที่แสงสว่างส่องถึงน้อยมากและมีออกซิเจนน้อย โดยชั้นความลึกนี้เป็นบริเวณที่อุณหภูมิของน้ำจะลดลงอย่างรวดเร็วตามความลึกที่เพิ่มขึ้น (ตั้งแต่ระดับ 8-4 องศาเซลเซียส) โดยมีแรงดันน้ำที่ระดับ 300-1500 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว!
3. Bathypelagic Zone : ลึกเกิน 1,000-4,000 เมตร เป็นเขตมืดที่มีแรงดันน้ำสูง โดยชั้นความลึกนี้จะแตกต่างจาก Mesopelagic Zone เนื่องจากอุณหภูมิน้ำจะคงที่ ที่ประมาณ 4 องศาเซลเซียส และมีแรงดันน้ำมากกว่า 5,850 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว!
4. Abyssopelagic Zone : ลึกเกิน 4,000-6,000 เมตร มีพื้นที่ถึง 3 ใน 4 ของมหาสมุทรที่มีระดับความลึกนี้ ขณะที่อุณหภูมิน้ำเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 องศาลเซลเซียส หรือ “ใกล้จุดเยือกแข็ง” ส่วนแรงดันน้ำอยู่ที่ระดับมากกว่า 11,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว!
5. Hadopelagic Zone : ลึกเกิน 6,000-11,000 เมตร เป็นร่องลึกใต้ Abyssopelagic Zone โดยจุดที่ลึกที่สุดอยู่ที่ร่องลึกบาดาลมาเรียนา (Mariana Trench) นอกชายฝั่งของญี่ปุ่น โดยมีความลึกถึง 10,911 เมตร และมีอุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส (จุดเยือกแข็ง) ส่วนแรงดันน้ำอยู่ที่ระดับ 8 ตันต่อตารางนิ้ว!
...
ในเมื่อซากเรือไททานิก จมอยู่ที่ความลึก 3,800 เมตร จึงอยู่ที่ระดับ Bathypelagic Zone ซึ่งมีอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และมีแรงดันน้ำที่กระหน่ำเข้าใส่เรือดำน้ำไททัน มากกว่า 5,850 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว! (Pounds per square inch หรือ PSI)
แล้วแรงดันน้ำ 5,850 PSI มีความหนักหน่วงรุนแรงแค่ไหน?
คำตอบ : นิตยสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังของสหรัฐฯ Scientific American หรือ SciAm เคยทำการทดลองด้วยการวัดแรงกัดของฉลามขาวขนาดยักษ์เอาไว้ว่าอยู่ที่ประมาณ 4,000 PSI นั่นจึงแปลว่า แรงดันน้ำที่อัดเข้าใส่เรือดำน้ำไททันขณะดำดิ่งลงสู่ความลึก 3,800 เมตร นั้น มีความหนักหน่วงรุนแรงมากกว่า “แรงกัดของฉลามขาวขนาดยักษ์เสียอีก”
ด้วยเหตุนี้ หากเรือดำน้ำไททัน เกิดมี “รอยรั่วเล็กน้อยแม้เพียงปลายเส้นผม” ขณะลงสู่ความลึกที่มีแรงดันน้ำมหาศาลขนาดนั้น มันจะนำไปสู่การที่เรือดำน้ำเกิดการยุบตัวภายใน “เสี้ยววินาที (Milliseconds)” และถูกบดอัดด้วยแรงดันน้ำมหาศาล จนเกิด “Implosion” หรือ การระเบิดจากภายในซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงความดันอย่างรวดเร็วภายในเรือดำน้ำนั่นเอง
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :