“เนเวอร์แลนด์” อยู่ที่ไหน? “ดาวดวงที่สองทางขวา แล้วก็ตรงไปจนกระทั่งเช้า !” แล้ว “โลก” ของเรา อยู่ที่ไหน? #เชื่อคิดและทำอย่างวิทยาศาสตร์ กับตำแหน่ง เนเวอร์แลนด์ ในระบบจักรวาล

“เนเวอร์แลนด์” อยู่ที่ไหน?

“ดาวดวงที่สองทางขวา แล้วก็ตรงไปจนกระทั่งเช้า!”

แล้ว “โลก” ของเรา อยู่ที่ไหน?

ที่ใกล้ขอบนอกของกาแล็กซีทางช้างเผือก!

“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอเชิญท่านผู้อ่าน ร่วมท่องไปในโลกแห่งจินตนาการเกี่ยวกับ “เนเวอร์แลนด์” ที่ตั้งอยู่บนฐานความจริงอันมหัศจรรย์ของมนุษย์ และความพยายามในโลกแห่ง ความจริงทางวิทยาศาสตร์ ในการค้นหาคำตอบว่า ดาวเคราะห์โลกของเรา อยู่ที่ไหนในจักรวาล?

เริ่มต้นกันใหม่ที่ “เนเวอร์แลนด์”!

“เนเวอร์แบลนด์” หรือ “Neverland” แห่งเดียวที่คนทั้งโลกรู้จักกัน คือ “เนเวอร์แลนด์” ดินแดนมหัศจรรย์ที่ “เวลา” หยุดนิ่ง ในโลกของปีเตอร์ แพน (Peter Pan) เด็กชายผู้ไม่ยอมโต

สำหรับคนทั่วโลก รู้จักปีเตอร์ แพนกันมากที่สุด จากภาพยนตร์การ์ตูน “Peter Pan” ของ วอลต์ ดิสนีย์ ออกฉายปี พ.ศ. 2496

ปีเตอร์ แพน มีกำเนิดจากจินตนาการของนักเขียนนวนิยายและบทละครชาวสก็อต เจ.เอ็ม. แบร์รี (J.M.Barrie : พ.ศ.2403–2480)

...

ก่อนที่คนทั้งโลกจะได้ชมปีเตอร์ แพน ฉบับภาพยนตร์การ์ตูนของ วอลต์ ดิสนีย์ เจ.เอ็ม. แบร์รี สร้างตัวละคร ปีเตอร์ แพน ขึ้นมาครั้งแรกในนิยายแฟนตาซี The Little White Bird ตีพิมพ์ พ.ศ. 2445

หลังจากนั้น เจ.เอ็ม. แบร์รี ก็นำส่วนที่เป็นเรื่องของ ปีเตอร์ แพน มาตีพิมพ์เป็นเล่ม และสร้างเป็นละครเวที เปิดแสดงครั้งแรกในกรุงลอนดอน แล้วก็นำมาปรับปรุงเป็นนิยายสมบูรณ์ลงตัว ตีพิมพ์เป็นเล่ม ปี พ.ศ. 2454 ในชื่อ Peter & Wendy ซึ่งในการตีพิมพ์ต่อๆ มา มักจะตีพิมพ์ในชื่อ Peter Pan

Peter Pan เป็นเรื่องราวการผจญภัยมหัศจรรย์ของ ปีเตอร์ แพน กับ นางฟ้าตัวน้อย ทิงเกอร์ เบลล์ (Tinker Bell) และเวนดีกับน้องชายสองคนใน “เนเวอร์แลนด์” ซึ่งมีเด็กหลง, ไทเกอร์ ลิลลี เจ้าหญิงลูกสาวหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง และนางเงือกอาศัยอยู่ โดยมี กัปตันฮุค และลูกน้องโจรสลัดเป็น “ตัวร้าย” และมีจระเข้ “ติ๊ก-ต็อก” ที่คอยตามล่ากัปตันฮุค

ปีเตอร์ แพน ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายครั้งแรก ปี พ.ศ. 2467 เป็นภาพยนตร์เงียบ

นอกเหนือไปจากภาพยนตร์เงียบและภาพยนตร์การ์ตูน ปีเตอร์ แพน ของ วอลต์ ดิสนีย์ แล้ว ก็มีภาพยนตร์เกี่ยวกับ ปีเตอร์ แพน สร้างกันต่อมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด คือ Peter Pan & Wendy จากค่ายวอลต์ ดิสนีย์ ออกฉายทาง Disney+ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566 ได้รับการต้อนรับจากผู้ชมอย่างดี และคำวิจารณ์ในเชิงบวก

ผู้เขียนได้ชมและชอบภาพยนตร์เกี่ยวกับ ปีเตอร์ แพน ทุกเรื่องที่ได้ชม (เพราะยังไม่ได้ชมบางเรื่อง)...

ได้ชมละครเวทีเรื่องหนึ่ง ทึ่งกับฉากการเหาะของ ปีเตอร์ แพน, เวนดีและน้องชายสองคนของเวนดี...

แต่ผู้เขียนชอบและ “ทึ่ง” ที่สุด จากการอ่านหนังสือ Peter Pan

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ผู้เขียนก็ชอบเขียนนิยายเชิงแฟนตาซี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิยายวิทยาศาสตร์และเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี

Peter Pan เป็นนิยายแฟนตาซีบริสุทธิ์ มิใช่นิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี แต่ความน่าทึ่งของ Peter Pan คือ วิธีการนำเสนอที่จริงๆแล้ว ก็มีฐานที่มาจากธรรมชาติอันชอบพิศวงของมนุษย์ ความปรารถนา ความใฝ่ฝัน ความต้องการหลีกหนี จากโลกความจริงที่ไม่ต้องการของมนุษย์ รวมไปถึงเรื่องความดี (คนดี) และความชั่วร้าย (คนร้าย) ที่ลึกๆ ล้วนมีที่มาที่ไปและเปลี่ยนได้ ดังเช่น กัปตันฮุค จริงๆแล้ว ก็มิใช่เป็นคนชั่วร้ายไปเสียทั้งหมด

...

ฉากสำคัญฉากหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดและเป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์และละครเวทีแทบทุกเรื่อง คือ ฉากทิงเกอร์ เบลล์ กำลังจะตาย เพราะช่วยชีวิตของปีเตอร์ แพน จากแผนร้ายของกัปตันฮุค (จากยาพิษในหนังสือต้นฉบับ จากระเบิดในภาพยนตร์บางเรื่อง)

ฉากนี้อยู่ในหนังสือ Peter Pan บทที่ 13 ตอน Do You Believe in Fairies ?

ตามเรื่องในหนังสือ Peter Pan ทุกครั้งที่เด็กเกิดใหม่คนหนึ่งหัวเราะเป็นครั้งแรก ก็จะมีนางฟ้าองค์ใหม่กำเนิดขึ้นมา แต่เมื่อเด็กโตขึ้นและเลิกเชื่อเรื่องนางฟ้า ก็จะมีนางฟ้าองค์หนึ่ง...ตาย !

เมื่อทิงเกอร์ เบลล์ กินยาพิษ ก็มีอาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว รัศมีแสงในตัวเธอก็อ่อนลง

ปีเตอร์ แพน รู้ว่า ถ้าแสงของทิงเกอร์ เบลล์ ดับลง ทิงเกอร์ เบลล์ ก็จะตาย

ปีเตอร์ แพน ไม่รู้จะทำอะไรที่จะช่วยชีวิตทิงเกอร์ เบลล์ได้

แล้ว ทิงเกอร์ เบลล์ ก็บอก ปีเตอร์ แพน ว่า ถ้าเด็กๆ เชื่อเรื่องนางฟ้า เธออาจจะไม่ตายก็ได้

เวลานั้น เป็นเวลากลางคืนใน “เนเวอร์แลนด์” และก็ไม่มีเด็กๆ ที่ปีเตอร์ แพน จะขอร้องได้...

แต่ ปีเตอร์ แพน ก็กางแขนออก และส่งเสียงพูดกับเด็กๆ ทั่วโลกที่อาจจะกำลังฝันถึง “เนเวอร์แลนด์” ว่า...

“เธอเชื่อเรื่องนางฟ้าไหม ?”

ทิงเกอร์ เบลล์ ดูจะมี “แสง” สว่างขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่แน่ใจ

ปีเตอร์ แพน จึงตะโกนเสียงดังว่า

“ถ้าเธอเชื่อ ปรบมือให้ดังๆ อย่าปล่อยให้ทิงก์ตาย”

เด็กหลายคนปรบมือ

บางคนไม่

บางคนแถมยี้ใส่

แต่ทิงเกอร์ เบลล์ ก็ได้ยิน และทิงเกอร์ เบลล์ ก็พลันสดใสสว่างขึ้นมาทันที

...

แล้ว “เนเวอร์แลนด์” อยู่ที่ไหน?

ในหนังสือ Peter Pan เมื่อเวนดีถามว่า บ้าน (เนเวอร์แลนด์) ของปีเตอร์ แพน อยู่ที่ไหน?

ปีเตอร์ แพน ตอบว่า “second to the right, and then straight on till morning.” (ที่สองทางขวา แล้วตรงไปจนกระทั่งถึงเช้า”

แต่ในภาพยนตร์การ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์ ได้เพิ่มคำว่า “star” เข้าไปด้วย เหตุผลก็น่าจะเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เป็น “second star to the right, and then straight on till morning.”

และในภาพยนตร์ที่สร้างต่อๆ กันมา ก็มักจะมีคำว่า “star” ตามวอลต์ ดิสนีย์ด้วย

ผู้เขียนยอมรับว่า การเพิ่มคำ “star” เข้าไปใน “ที่อยู่” เหมือนจ่าหน้าซองจดหมาย ก็ทำให้ที่อยู่ของเนเวอร์แลนด์ ดูจะเป็น “ธรรมชาติ” หรือ “ปรกติ” มากขึ้น และผู้เขียนจึงนำที่อยู่นี้ เปิดเรื่องของเราวันนี้...

แต่อย่างลึกๆ ผู้เขียนเชื่อว่า เป็นความตั้งใจของ เจ.เอ็ม. แบร์รี ที่เขียนให้ ปีเตอร์ แพน บอกกับเวนดีเช่นนั้น....

เพราะ ปีเตอร์ แพน เป็นเด็กที่มักจะพูดอะไรที่ “นึกขึ้นมาได้” โดยไม่ “คิด” ...

และบังเอิญ ในตอนที่เวนดีถามเรื่องบ้านที่อยู่ของปีเตอร์ แพน เขาจึงตอบไปอย่างที่เขาเองคิดและเข้าใจ โดยไม่สนใจว่า เวนดีจะเข้าใจหรือไม่

ในภาพยนตร์การ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์ ปีเตอร์ แพน ชี้ไปที่ดวงดาวสว่างดวงที่สองทางขวา แล้วก็นำเวนดีและน้องชายสองคน “เหาะ” ตรงไปทางดวงดาวที่สองในท้องฟ้าเวลาค่ำคืน ทำให้มีการตีความตามฉากนี้ว่า “เนเวอร์แลนด์” อยู่บนดาวดวงหนึ่งในอวกาศ

...

แต่สำหรับผู้เขียน ตีความเองว่า “เนเวอร์แลนด์” ก็เป็น “ดินแดนแห่งหนึ่ง” อยู่บนดาวเคราะห์โลกของเรานี้เอง โดยที่ตำแหน่งจริงๆ อยู่ใน “จินตนาการ” ของผู้สร้าง “ปีเตอร์ แพน” และ “เนเวอร์แลนด์” ขึ้นมา...

หรือจะกล่าวก็ได้ว่า มีเฉพาะ เจ.เอ็ม. แบร์รี เท่านั้น ที่ทราบว่า “เนเวอร์แลนด์” อยู่ที่ไหน?

แล้วโลกของเรา อยู่ที่ไหนในจักรวาล?        

ในหนังสือ Peter Pan เมื่อปีเตอร์ แพน บอกเวนดี “ที่อยู่” ของเขาว่า “ที่สองไปทางขวา แล้วตรงไปจนกระทั่งถึงเช้า”

เวนดี ก็กล่าวว่า “เป็นแอดเดรส (ที่อยู่หน้าซองจดหมาย) ที่แปลกนะ !

ปีเตอร์ แพน ก็รู้สึกใจเสีย และเริ่มรู้สึกตามเวนดี ว่า เป็นแอดเดรสที่แปลกจริง แต่ก็เถียงว่า “ไม่นะ ไม่เห็นแปลกนี่”

มาถึงเรื่องตำแหน่งที่อยู่ของโลกเรา!

ถ้าวันนี้ ถ้าเราได้รับสัญญาณวิทยุจาก “มนุษย์ต่างดาว” ถามเราว่า “คุณอยู่ที่ไหน?” ซึ่งแสดงว่า มนุษย์ต่างดาวก็คงส่งสัญญาณไปรอบดาวของมนุษย์ต่างดาว โดยมิได้ตั้งใจส่งมาให้โลกโดยตรง เผื่อจะมี “สิ่งมีชีวิตทรงปัญญา” ร่วมจักรวาลกับมนุษย์ต่างดาวได้รับ แล้วก็ตอบกลับไป

คำตอบของเราอย่างตรงๆ สั้นๆ ก็จะเป็นว่า “เราอยู่ที่ดาวเคราะห์โลก ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ใกล้ขอบนอกของกาแล็กซีทางช้างเผือก”

แต่ถ้า (สมมติว่า) เราได้รับสัญญาณจากมนุษย์ต่างดาว ย้อนหลังไปเมื่อประมาณสองพันปีเศษ ในยุคสมัยของ อริสโตเติล (พ.ศ. 160-222)

คำตอบบอกที่อยู่ของเราก็จะเป็นว่า “เราอยู่ที่ใจกลางจักรวาล”

แล้วถ้า (สมมติอีกว่า) เราได้รับสัญญาณคำถามย้อนหลังไปไกลกว่านั้นอีก คือ ประมาณ สอง-สามหมื่นปีก่อน หลังจากที่มนุษย์ยุคใหม่ โฮโมเซเปียนส์ได้เดินทางออกมาจากแอฟริกาแล้ว และกระจายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ใน ยุโรป, เอเชีย, อเมริกา และที่อื่นๆ ทั่วโลก

คำตอบบอกที่อยู่โลกเรา สำหรับมนุษย์ต่างดาว อาจจะเป็นว่า “ใต้จักรวาลรูปครึ่งทรงกลมที่ครอบคลุมโลกอยู่”

กาลิเลโอ
กาลิเลโอ

ทำไมคำตอบสำหรับคำถาม “โลกของเราอยู่ที่ไหนในจักรวาล” จึงแตกต่างกันสำหรับสามมิติเวลา

คำตอบ คือ ความแตกต่างมาจากความเข้าใจของมนุษย์โลก ต่อโครงสร้างหรือรูปร่างของจักรวาล และตำแหน่งของโลกในจักรวาล

สำหรับคำตอบที่สาม เป็นคำตอบสะท้อนความรู้ความเข้าใจของมนุษย์ต่อโลกและจักรวาลเก่าแก่ที่สุด

น่าสนใจว่า สำหรับมนุษย์ในยุคเก่าแก่เป็นหมื่นๆ ปีนั้น จริงๆ แล้ว ก็อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ความคิดจึงแตกต่างกันออกไป และความคิดเกี่ยวกับโลกและจักรวาลของมนุษย์ในสมัยเก่าแก่นั้น จริงๆ แล้ว ก็มีแตกต่างกันออกไปมาก

แต่ก็มีหลายอย่างที่ตรงกันอย่างน่าทึ่ง ดังเช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของโลกและจักรวาล

ที่ตรงกัน คือ ความเข้าใจถึงลักษณะสัณฐานของโลกว่า โลกมีลักษณะแบน โดยมีขอบเป็นวงกลม หรือรูปสี่เหลี่ยม มีท้องฟ้าเป็นรูปครึ่งทรงกลมครอบคลุมโลก

แล้วก็มีคำอธิบายสำหรับคำถามว่า “แล้วโลกอยู่บนอะไร?” เพราะเข้าใจกันว่าโลกจะลอยอยู่เฉยๆ โดยไม่มีสิ่งรองรับ ไม่ได้ คำตอบที่ตรงกัน ในหลายภาคพื้นที่ของโลก เช่น อินเดีย, จีนและชนเผ่าพื้นเมืองในอเมริกา คือ โลกอยู่บนหลังเต่ายักษ์

แล้วเต่ายักษ์ที่แบกโลกล่ะ อยู่บนอะไร?        

คำตอบ คือ ก็อยู่บนเต่ายักษ์ต่อๆ กันไป

ส่วนท้องฟ้าที่ครอบคลุมโลกอยู่ ก็มีแบ่งเป็นชั้นๆ ประกอบด้วยดาวทั้งหมดประมาณ 7 พันดวง (ที่เห็นด้วยตาเปล่า) ซึ่งก็เป็นที่อยู่ของพระเจ้า

สำหรับคำตอบที่สอง เป็นคำตอบที่มีบันทึกเขียนไว้โดย อริสโตเติล ความว่า "จักรวาลมีลักษณะรูปร่างเป็นทรงกลม มีโลกอยู่ที่ตำแหน่งศูนย์กลางของจักรวาล"

เป็นคำตอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่อริสโตเติลประมวลมาจากความเข้าใจและการสังเกตของนักดาราศาสตร์โบราณในยุคสมัยนั้น ประกอบกับการสังเกตจากสภาพของจักรวาลที่อริสโตเติล และทีมงานของเขา ได้ศึกษาอย่างละเอียด ดังเช่น ลักษณะการเคลื่อนที่ของดวงดาวในท้องฟ้า และสภาพการเปลี่ยนแปลงบนโลก…

แล้วก็บวกกับความเชื่อในเรื่องของพระเจ้าผู้สร้างโลก จักรวาล มนุษย์และสรรพสิ่ง เพราะอริสโตเติลก็นึกไม่ออกว่า โลกและจักรวาลจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะการสร้างของพระเจ้า

ความเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างหนึ่งของโลกและจักรวาล ตามความคิดของอริสโตเติล คือ รูปร่างลักษณะของโลก ที่ยังถกเถียงกันในยุคสมัยของอริสโตเติลว่า โลกแบนหรือกลม...

โดยอริสโตเติลสรุปอย่างชัดเจนว่า โลกมีรูปร่างลักษณะมิใช่แบบ “แบน” แต่เป็นทรงกลม ตามหลักฐานการสังเกตตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของดวงดาวในท้องฟ้า

หลังแอดเดรสที่สองของโลกตามแบบของอริสโตเติลเป็นเวลาประมาณสองพันปี มนุษย์โลกก็ต้องเปลี่ยนที่อยู่ของโลกอีก เริ่มจากโคเปอร์นิคัส (พ.ศ. 2016–2083) ที่เสนอแอดเดรสใหม่ของโลกว่า มิได้อยู่ที่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่อยู่ที่ตำแหน่งดาวเคราะห์ดวงที่สาม โคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยมีดวงอาทิตย์ครองตำแหน่งอยู่ที่ศูนย์กลางของจักรวาลแทนโลก

หลังโคเปอร์นิคัส ก็มาถึงกาลิเลโอ ผู้ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูท้องฟ้า พบหลักฐานชัดเจนสนับสนุนโคเปอร์นิคัสว่า โลกมิได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

จากนั้นก็มาถึงการค้นพบโดยเอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) เมื่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบ (ในปี ค.ศ. 1923 หรือ พ.ศ. 2466) ว่าจักรวาลมิได้มีเพียงกาแล็กซีทางช้างเผือก

แอดเดรสใหม่ของโลกจึงเป็นดังคำตอบของเราวันนี้ว่า โลกของเราอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่ตำแหน่งใกล้ขอบนอกของกาแล็กซีทางช้างเผือก

แล้วแอดเดรสใหม่ของโลก จะต้องเปลี่ยนอีกหรือไม่?

คำตอบตรงๆ คือ คงไม่ต้องเปลี่ยนไปอีกนาน แต่อาจจะต้องเพิ่มรายละเอียดตามข้อมูลความรู้ใหม่สำหรับโครงสร้างของจักรวาลที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น

เช่นอย่างไร?

เช่นถ้าจักรวาลของเรา มิใช่เป็นจักรวาลเพียงหนึ่งเดียวที่มีอยู่ หากจักรวาลของเรา เป็นเพียงหนึ่งในจักรวาลจำนวน (อาจจะ) มหาศาล ตามทฤษฎีความคิดใหม่ของพหุจักรวาล หรือ พหุภพ (มัลติเวิร์ส : multiverse) ที่มีการกล่าวถึงจักรวาลคู่ขนาน และจักรวาลอื่นอีกมากมาย ที่อาจเกิดขึ้นมาพร้อม หรือก่อน หรือหลัง จักรวาลของเรา

เมื่อถึงเวลานั้น และถ้าเราได้รับสัญญาณถามแอดเดรสของเราบนโลก (ถ้าโลกยังมีมนุษย์อยู่) เราก็คงจะต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งที่อยู่ของโลก เพื่อสำหรับทั้งมนุษย์ต่างดาวที่อยู่ร่วมจักรวาลกับเรา และที่อยู่ในจักรวาลอื่นด้วย

สำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ ปีเตอร์ แพน ก็ขอเรียนว่า ปีหน้า (พ.ศ. 2567) หรือปีถัดไป ก็จะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับปีเตอร์ แพน เรื่องใหม่ออกฉาย

แต่จะเป็นปีเตอร์ แพน ฉบับผู้ใหญ่ ประเภท โหด สยองขวัญ

ถ้าท่านผู้อ่านไม่พร้อมหรือไม่อยากดูปีเตอร์ แพน ฉบับสยองขวัญ ก็ขอให้รอต่อไปอีกไม่นานนัก ผู้เขียนเชื่อและมั่นใจว่า ก็จะมีภาพยนตร์ปีเตอร์ แพน ฉบับครอบครัว สร้างออกมาให้ชมกันอีก

แล้วเรื่องที่อยู่ของโลกในจักรวาลล่ะ? เป็นไปได้หรือไม่ ที่วันหนึ่ง จะไม่มีความหมายแม้แต่เมื่อมีสัญญาณจากมนุษย์ต่างดาว ถามหาที่อยู่ของเราบนโลก ก็จะไม่มีใครตอบ?

คำตอบคือ เป็นไปได้ ถ้าโลกถูกมนุษย์ทำลาย ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา จนกระทั่งโลกกลายเป็นดินแดนอันตราย ที่มนุษย์อาศัยอยู่ไม่ได้

แล้วมนุษย์จะสามารถป้องกัน มิให้ดาวเคราะห์โลก กลายเป็น “โลกร้าง” ได้หรือไม่?

ผู้เขียนเชื่อว่า ได้!

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร?