เหตุแผ่นดินไหวในตุรกี ขนาด 7.8 แมกนิจูด ความลึก 17.9 กม. สร้างความเสียหาย และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 4.8 พันคน แต่การช่วยเหลือท่ามกลางซากปรักหักพังของตึกสูง เป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายระลอก โดยไทยเตรียมส่งทีมช่วยเหลือ กู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search and Rescue) หรือทีม USAR Thailand ที่มีขีดความสามารถช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในซากตึก จากเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

“เลอพงศ์ สวนสังข์” ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฐานะหัวหน้าทีม USAR Thailand วิเคราะห์ถึงการช่วยชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า เหตุแผ่นดินไหวในตุรกีสร้างความสูญเสียจำนวนมาก แต่การเข้าไปช่วยเหลือต้องประสานกับทาง UN ที่เป็นตัวกลางประสานกับทีมกู้ภัยทั่วโลกกว่า 100 ทีม ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือ

อุปสรรคการช่วยเหลือในตุรกี ขณะนี้มาจากอุณหภูมิหนาวเย็นเฉลี่ยอยู่ที่ 0 องศาเซลเซียส แต่ทางทีมมีเครื่องนุ่งห่มที่ทนความหนาวเย็นได้ ด้วยการฝึกฝนระดับนานาชาติ และอุปกรณ์ช่วยเจาะ ตัดสิ่งกีดขวาง ทำให้ทางทีมมีความพร้อมหากต้องลงพื้นที่ปฏิบัติงาน

...

“ทีมงานมีการเตรียมความพร้อมระดับสูง รอเพียงคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี สามารถปฏิบัติการได้ภายใน 6 ชั่วโมง ตามมาตรฐานการช่วยเหลือของ UN ขณะเดียวกันต้องมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ปลายทาง ถึงจุดที่สามารถนำเครื่องบินลงได้ ปกติทีมงานจะทำงานในพื้นที่ได้โดยประเทศต้นทางไม่ต้องมาช่วยเหลือด้านอาหาร เนื่องจากทางทีมมีการฝึกฝน สามารถกินอยู่ในพื้นที่ประสบภัยได้ด้วยตัวเอง”

เหตุแผ่นดินไหวในตุรกีครั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์มีความเสียหายรุนแรง เพราะช่วงเกิดเหตุกำลังใกล้สว่าง ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีการเตรียมความพร้อม หลายคนกำลังหลับอยู่ ที่สำคัญเหตุการณ์ในครั้งนี้ยังมีอาฟเตอร์ช็อกความรุนแรงระดับ 7.6 แมกนิจูด

“อาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหว เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ จึงทำให้ทีมกู้ภัยทำงานลำบาก โดยเฉพาะเคสตุรกีมีความรุนแรงกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นสิ่งที่ทีมช่วยเหลือต้องเรียนรู้ร่วมกันทั่วโลก เพราะไม่แน่ว่าการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคตจะมีความรุนแรงมากกว่านี้”

สำหรับอุปกรณ์การสื่อสารของทีมจะใช้ระบบดาวเทียมทั้งหมด เพราะกรณีแผ่นดินไหว ระบบสื่อสารทั้งหมดจะไม่สามารถใช้ได้ ดังนั้นอุปกรณ์การช่วยเหลือต้องรองรับสัญญาณดาวเทียม

ภารกิจกู้ชีวิตทีม USAR Thailand ที่ผ่านมา

“เลอพงศ์” เล่าถึงแนวทางการทำงานของทีม USAR Thailand ซึ่งเป็นทีมกู้ภัยระดับนานาชาติที่มีมาตรฐานในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวระดับโลก สำหรับการทำงานสิ่งสำคัญคือ การประสานงาน ทั้งการทำงานในประเทศ และต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปช่วยเหลือเป็นหน่วยหลักในหลายเหตุการณ์ เช่น อาคารถล่ม ซอยสุขุมวิท 87 หรือเหตุตึกถล่มในพื้นที่คลอง 6

“ขณะนี้ทางทีมอยู่ในระหว่างการประเมินมาตรฐานของ UN ที่ผ่านมา 7 ปี มีการฝึกร่วมกับทีมกู้ภัยระดับนานาชาติ เช่นเดียวกับเครื่องมือในการช่วยเหลือมีประสิทธิภาพสามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ จึงเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าญี่ปุ่นและจีน”

ที่ผ่านมาเหตุการณ์ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ยากลำบากคือ เหตุเพลิงไหม้บ้านพักในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 เนื่องจากมีไฟไหม้รุนแรงทำให้อาคารถล่มลงมาทับนักดับเพลิงสูญหาย จึงเป็นการทำงานที่แข่งกับเวลา ต้องใช้เครื่องมือช่วยเหลือที่มีความทันสมัยเข้ามาช่วย ขณะเดียวกันต้องนำสุนัขมาช่วยในการค้นหา หรือกรณีตึกถล่มที่คลอง 6 ทางทีมได้พบผู้สูญหายแล้ว แต่ไม่สามารถช่วยออกมาได้ เลยเป็นอีกเคสที่สร้างความสะเทือนใจให้กับทีมทำงานทุกคน

...

แม้ประเทศไทยจะมีทีมช่วยเหลือที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องมีความรู้ในการปฏิบัติตัวเองในสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยต้องพยายามวิ่งออกมาจากอาคารสูง หรืออยู่ไกลสิ่งปลูกสร้างที่อาจถล่มลงมาทับร่างให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาหลายกรณีที่มีการเสียชีวิต เกิดการสูญเสียอย่างที่ไม่น่าเกิดขึ้น.