หลังเกิดปรากฏการณ์ “จู่ๆ คนก็รวยข้ามคืน” แบบถี่ยิบในช่วงระยะหลังๆ จนมักนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญที่ว่า “พวกเขาเหล่านั้น” ประกอบธุรกิจค้าขายสินค้าอะไรกันแน่นะ? เหตุใดสินค้าจึงขายดิบขายดี เสียจนสามารถกลายเป็นเศรษฐีพันล้านได้ในชั่วพริบตาอย่างสุดเหลือเชื่อ แต่สุดท้าย...เมื่อสาวลึกๆ ลงไปแล้ว ส่วนใหญ่มักพบว่า “เหล่าเศรษฐีพันล้านชั่วข้ามคืนเหล่านี้” ไม่เป็นเด็กในสังกัดเจ้าของเงินตัวจริง ก็มักจะเป็นเพียง “ตุ๊กตาเสียกบาล” ที่ถูกชักใยให้มารับบทเปิดธุรกิจบังหน้า และพยายามเล่นกับแสงไฟสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อเปิดทางไปสู่การ “ฟอกเงินสีเทาๆ ให้กลายเป็นสีขาว” ให้กับเจ้าของเงินตัวจริงเสียมากกว่า...
แล้ว...ข้อมูลการฟอกเงินสีเทาให้กลายเป็นสีขาว ณ ปี 2023 มีอะไรที่ “เรา” น่าเรียนรู้กันบ้าง วันนี้ “เรา” ค่อยๆ ไปสังเคราะห์ข้อมูลภาพใหญ่ๆ กรรมวิธีการฟอกเงินของเหล่าอาชญากรในระดับสากล จากรายงานของ Linkurious และ Jumio บริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์และความปลอดภัยทางไซเบอร์
...
คำจำกัดความของ การฟอกเงิน :
การนำเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาผ่านกระบวนการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เพื่อให้กลายเป็นเงินที่มีที่มาโดยชอบ เพื่อทำให้เหล่าอาชญากรสามารถสร้างภาพลวงตาว่า ได้รับเงินเหล่านั้นมาอย่างถูกต้อง
ยอดประเมินการทำธุรกรรมฟอกเงินในแต่ละปี :
อ้างอิงจากรายงานของ Linkurious และ Jumio ระบุว่า อัตราการทำธุรกรรมเพื่อฟอกเงินให้กับกลุ่มอาชญากรทั่วโลกอยู่ที่อย่างน้อย 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ - 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็น 2-5% ของ GDP โลก (96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในแต่ละปี ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโลกด้วย เนื่องจากการทำธุรกรรมฟอกเงินดังกล่าวนั้น จะมาในรูปการเสนอขายผลิตภัณฑ์ หรือบริการในราคาที่ “ต่ำกว่าราคาตลาด” เพราะไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องกำไรหรือขาดทุนของบริษัท นั่นเป็นเพราะเงินที่ได้จากธุรกิจสีเทานั้นสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาลอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้ธุรกิจที่ดำเนินการอย่างสุจริตไม่สามารถแข่งขันได้ในที่สุด
โดยเงินสีเทาที่รอการฟอกนั้น ส่วนใหญ่เป็นเงินที่มาจากการคอร์รัปชัน, การหลบเลี่ยงภาษี , การค้ามนุษย์, การค้าอาวุธ, การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และการค้ายาเสพติด
ขั้นตอนกระบวนการฟอกเงิน :
กระบวนการฟอกเงิน จะดำเนินการผ่าน 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ...1. นำเงินเข้าใส่ระบบ (Placement) นำเงินที่ได้จากธุรกิจสีเทาเข้าใส่ระบบผ่านการทำธุรกิจที่ถูกกฎหมายต่างๆ หรือฝากเงินสดไว้ในบัญชีธนาคาร ซึ่งโดยมากเลือกใช้วิธีนำเงินคราวละไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ กระจายไปฝากตามธนาคารต่างๆ หลายๆ ครั้ง เพื่อให้การธุรกรรมดูไม่น่าสงสัย เนื่องจากธนาคารจะไม่ต้องรายงานธุรกรรมดังกล่าว
2. การแบ่งแยกระดับข้อมูลที่มาของเงิน (Layering) การแบ่งแยกระดับข้อมูลที่มาของเงิน คือ การทำข้อมูลธุรกรรมทางการเงินให้สลับซับซ้อน หลากหลายขั้นตอน และแยกย่อยออกไปในหลายๆ หน่วยงาน หรือหลายๆหลายประเทศ เพื่อปกปิดเส้นทางการเงินที่แท้จริง เพื่อให้การตรวจและติดตามเป็นไปด้วยความยากลำบาก
3. การผสมผสาน (Integration) เมื่อเงินถูกผสานรวมเข้าไปในระบบจนดูราวกับมาจากแหล่งที่มาที่ถูกต้องได้แล้ว กลุ่มอาชญากรก็จะนำเงินเหล่านี้ไปใช้ได้ตามปกติ
...
ธุรกิจอะไรที่กลุ่มอาชญากรมักเลือกใช้เพื่อฟอกเงิน :
1. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ :
เหตุผลที่กลุ่มอาชญากรเลือกการฟอกเงิน ผ่านการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงินสดจำนวนมาก และผ่านขั้นตอนของระบบการเงินที่ถูกกฎหมายหลายขั้นตอน เช่น ธนาคารหรือบริษัทรับจำนองต่างๆ
โดยกลุ่มอาชญากรมักใช้วิธีซื้ออสังหาริมทรัพย์ด้วยเงินสดจำนวนมากที่ได้จากการทำผิดกฎหมาย ก่อนที่จะขายต่ออีกทอดอย่างรวดเร็วก่อนจะนำเงินที่ได้ไปฝากเข้าสู่ระบบธนาคารต่ออีกทอด
2. ธุรกิจบ่อนการพนัน กาสิโน ถูกกฎหมาย :
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บ่อนการพนัน หรือ กาสิโน ที่ถูกกฎหมาย คือ สถานที่ดีที่สุดสำหรับการอำพรางเงินสกปรกจำนวนมากของเหล่าอาชญากร ให้กลายเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด จากคำกล่าวอ้างเพียงว่า “ได้รับเงินรางวัลจากการเล่นพนัน”
3. ธุรกิจขายต่อสินค้าหรูราคาแพง :
รถซุปเปอร์คาร์ สินค้า Luxury หรือแม้กระทั่งงานศิลปะ ที่มีราคาแพงลิบลิ่ว นอกจากสามารถหาซื้อได้โดยทั่วไปจากเงินสีเทาจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ในมือแล้ว ยังมักสามารถปกปิดตัวตนของผู้ซื้อได้ด้วย (การประมูลซื้อสินค้า)
อีกทั้งสินค้าเหล่านั้นยิ่งผ่านเวลานานไปเท่าไหร่ก็ยิ่งมีราคาเพิ่มสูงขึ้นด้วย ฉะนั้น หากนำออกไปขายต่อในตลาดในเวลาที่เหมาะสมนอกจากจะสร้างผลกำไรได้แล้ว ยังสามารถเปลี่ยนเงินสีเทาให้กลายเป็นสีขาวได้ทันทีด้วย
...
4. ธุรกิจอิงกระแสเงินสด :
ธุรกิจที่อิงกับกระแสเงินสด เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ผับ บาร์, ร้านขายของชำ, โรงแรม, ร้านซักรีด, บริษัท TAXI, ร้านล้างรถ, ร้านขายเสื้อผ้า หรือ ธุรกิจขายอาหารเสริม เป็นธุรกิจที่ทั้งถูกกฎหมายและมีเงินสดไหลเข้าและออกมากๆ ในแต่ละวัน
ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากว่า “รายได้” ที่บันทึกอยู่ในบัญชีนั้นถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด “โดยเฉพาะราคาและยอดขายของสินค้าและบริการเหล่านั้น”
ยกเว้นแต่จะมีการดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง เช่น ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบธุรกิจเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจสอบหาการทำกิจกรรมที่น่าสงสัย รวมถึงการเปรียบเทียบรายได้ระหว่างธุรกิจที่ใกล้เคียงกันและอยู่ในย่านเดียวกันเท่านั้น
การเอาผิดขบวนการฟอกเงินสีเทา :
จากรายงานของ Linkurious ระบุว่า สถิติคดีฟอกเงินมีผู้ต้องหาถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงถึง 91.1% ส่วนค่าเฉลี่ยโทษจำคุกจากคดีฟอกเงินอยู่ที่ 67 เดือน ส่วนจำนวนเงินที่ถูกปรับต่ำสุดอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2022 ที่ผ่านมา ธนาคารทั่วโลกถูกปรับเป็นเงินรวมกันถึง 10,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการละเมิดหลักปฏิบัติเรื่องการต่อต้านการฟอกเงิน
...
ความพยายามสกัดกั้นการฟอกเงิน :
ปัจจุบัน แม้คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน หรือ Financial Action Task Force (FATF) ได้มีการผลักดันหลักปฏิบัติมาตรฐานสากล เรื่องการต่อต้านการฟอกเงิน (Anti Money Laundering) หรือ AML ที่เรียกว่า ข้อแนะนำ 40 ข้อ (The Forty Recommendations) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการออกกฎหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินภายในของแต่ละประเทศ แต่ในความเป็นจริง คือ FATF ไม่มีอำนาจให้ประเทศต่างๆ ต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำ 40 ข้อได้
ด้วยเหตุนี้ การทำธุรกรรมฟอกเงินจึงยังเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ย่อหย่อนเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบ หรือยังมีระบบและเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบที่ล้าหลัง โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลที่มีการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน จนกระทั่งทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ มีเวลาน้อยลงและทำงานได้ยากขึ้นในการยืนยันตัวตนและตรวจสอบการทำธุรกรรมของลูกค้า และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือยังต้องแบกรับภาระเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากต้องการให้การตรวจสอบ เท่าทันกับเทคโนโลยีการฟอกเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นทุกทีๆ ด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก Theerapong C.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง