ใครบ้างจะไปคิดว่าความพยายามของรัฐบาลแคนาดา ในการยกระดับการบังคับฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ด้วยการออกข้อกำหนดให้ บรรดา “สิงห์รถบรรทุก” ที่ขับรถข้ามพรมแดนสหรัฐฯ - แคนาดา ต้องฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 กลับกลายเป็นการทำให้ “กรุงออตตาวา” เมืองหลวงของประเทศแคนาดา กลายเป็น “อัมพาต” มาแล้วเกือบสองสัปดาห์
เพราะ “แรงต่อต้าน” มาตรการดังกล่าวได้นำไปสู่การกางเต็นท์ และนำรถกระบะและรถบรรทุกขนาดยักษ์รวมกันมากกว่า 200 คัน ออกมาปิดถนนหนทางใกล้กับอาคารรัฐสภาและย่านเศรษฐกิจสำคัญๆ พร้อมกดแตรดังสนั่น เปิดสัญญาณไซเรน และจุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองราวกับงานเทศกาลอะไรสักอย่างกลางเมืองหลวง จนกระทั่งต้องมีการตัดสินใจประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน!” เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น มันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมไปแล้ว
ทั้งๆ ที่ ประเทศแคนาดา เป็นประเทศที่มีค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อจำนวนประชากรในลำดับต้นๆ ของโลก โดยสิ้นสุดวันที่ 7 ก.พ. 65 มีชาวแคนาดา มีค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างน้อยหนึ่งเข็ม สูงถึง 85.11% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนครบสูตรสูงถึง 79.72% ต่อจำนวนประชากร 38 ล้านคน
และ The Freedom Convoy! คือ ชื่อของการ Lock down กรุงออตโตวา ในครั้งนี้!
“เสรีภาพ!”
...
บรรดาสิงห์รถบรรทุก พร้อมใจกันร่วมตะโกนและกดแตรรถเสียงดังสนั่น เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านมาตรการบังคับฉีดวัคซีนของ “นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด” หากแต่การแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อต่อต้านการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ กลับสร้างความ “หนักใจ” ให้กับ รัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีพฤติกรรมใดๆ ที่แสดงออกถึง “ความรุนแรง” ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะสามารถใช้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าจัดการได้ ถึงแม้ว่าจะมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจที่สูญเสียยอดขายมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน พยายามกดดันให้ รัฐบาลแคนาดา พยายามเร่งหาทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุดก็ตาม
นั่นเป็นเพราะสิ่งที่กลุ่มผู้ประท้วงแสดงออก นอกจากนำรถกระบะและรถบรรทุกมาปิดถนน คือ จัดตั้งเวทีละคร แคมป์ที่พัก ห้องซาวน่า ปราสาทเป่าลม โรงอาหารชั่วคราวเพื่อแจกจ่ายอาหารให้กับผู้ชุมนุม รวมถึงเปิดเวทีการแสดงดนตรี ราวกับงานเทศกาลรื่นเริงประจำปีของกรุงออตตาวา แถมแกนนำในการจัดการประท้วงครั้งนี้ ยังได้มีการเปิดขอรับบริจาคเงินจากผู้สนับสนุนทั่วประเทศ ผ่านแพลตฟอร์ม GoFoundMe จนกระทั่งได้รับเงินบริจาคมากกว่า 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ! (ประมาณ 257 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 7 ก.พ. 65) จากจำนวนผู้บริจาคเกือบ 1 แสนคน แถมยังมีเซเลบคนดังอย่าง โจ โรแกน นักจัดรายการพอดแคสต์ชื่อดัง และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงตัวให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยอีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : บทเรียนมูลค่า 60,000 ล้าน ของ Spotify จริยธรรมสื่อต้องอยู่เหนือ Fake News
ในขณะที่เงินบริจาคจากแพตลฟอร์มอื่นๆ นั้น “ม็อบรถบรรทุก” ยังได้รับเงินรวมกันอีกมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ! (ประมาณ 33 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 7 ก.พ. 65) ซึ่งถือเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า การกระท้วงล็อกดาวน์เมืองหลวงในครั้งนี้จะอยู่กันไปแบบยาวๆ จนกว่าจะได้รับชัยชนะ นั่นก็คือ รัฐบาลแคนาดาจะต้อง “ยกเลิก” มาตรการบังคับฉีดวัคซีนสิงห์รถบรรทุกทุกคน!
ขณะเดียวกัน การโหมกระแสในโซเชียลมีเดีย ยังทำให้ Freedom Convoy ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเรียกรถบรรทุกและรถกระบะออกมาสมทบกันปิดท้องถนนเพิ่มเติมในหลายๆ เมืองทั่วประเทศแคนาดา โดยเฉพาะที่นครโตรอนโต หนำซ้ำเมื่อขบวนรถผ่านไปยังจุดใด ก็มักจะได้รับเสียงเชียร์จากผู้คนที่อยู่บนสะพานลอยและริมถนน ด้วยการโบกธงชาติแคนาดา และเสียงตะโกนด่าทอ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด อีกด้วย
และล่าสุด ผลสำรวจความคิดเห็นที่ถูกจัดทำโดย Innovative Research Group พบมาว่ามีชาวแคนาดามากถึง 36% สนับสนุนการประท้วง และต้องการให้ รัฐบาลแคนาดา “ยกเลิก” มาตรการบังคับฉีดวัคซีนบรรดาสิงห์รถบรรทุกอีกด้วย
...
อย่างไรก็ดี ท่าทีของ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยผู้นำแคนาดา ยืนยันว่า บรรดาสิงห์รถบรรทุกเหล่านี้เป็นเพียง “คนกลุ่มน้อย” เท่านั้น
อะไรคือเหตุผลที่นำไปสู่ The Freedom Convoy?
จากการประเมินของ พันธมิตรผู้ประกอบการรถบรรทุกแคนาดา (Canadian Trucking Alliance) หรือ CTA คาดว่าน่าจะมีพนักงานขับรถบรรทุกชาวแคนาดาถึง 85-90% จากจำนวน 120,000 คน ที่ขับรถข้ามพรมแดนสหรัฐฯ - แคนาดา ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว แต่การออกข้อบังคับเรื่องการบังคับฉีดวัคซีน ได้ทำให้สิงห์รถบรรทุกที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน ต้องตกงานทันทีเกือบ 16,000 คน
และประเด็นนี้เองนอกจากจะสร้างความหนักใจให้กับบรรดาผู้ประกอบการและนักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกรงว่า จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาวิกฤติห่วงโซ่อุปทานเข้าไปอีกแล้ว
บรรดา “คนฐานราก” ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสารพัดปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันแพง และวิกฤติแรงงาน จนกระทั่งทำให้ ราคาสินค้า อาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นและหนำซ้ำยังขาดแคลน รวมถึง “เหนื่อยล้าเต็มที” กับมาตรการคุมเข้มต่างๆ ในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 มาเนิ่นนานกว่า 2 ปี “รู้สึกขุ่นเคืองรัฐบาลแคนาดา” มากยิ่งขึ้นเข้าไปอีกด้วย
...
** หมายเหตุ สำนักงานสถิติของแคนาดา รายงานว่า ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลให้มีแรงงานถูกเลิกจ้างมากกว่า 200,100 คน **
หากแต่สิ่งที่บรรดานักวิเคราะห์ “รู้สึกวิตกกังวล” มากไปกว่านั้น คือ จุดเริ่มต้นของ The Freedom Convoy อาจกลายเป็นสารตั้งต้น “ให้เกิดความไม่พอใจ” ลุกลามขยายไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นเป็นเพราะ “การเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัด” ในสหรัฐฯ ได้เริ่มเข้ามากระพือโหม “ความขุ่นเคือง” เกี่ยวกับความไม่พอใจเรื่องมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้แพร่ขยายวงออกไปมากขึ้นแล้ว และนำไปผูกโยงเข้ากับปัญหาปากท้องของชาวสหรัฐฯ และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ยังไม่มีอะไรคืบหน้ามากนักด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
...