ในทุกๆ การเปลี่ยนแปลง
ย่อมมี "โอกาส" เสมอ
แต่... นั่นก็ย่อมไม่ใช่กับ "ทุกคน"

บางคนอาจเห็น "โอกาส" แล้วคว้ามันไว้ได้ บางคนอาจเห็น "โอกาส" แต่ไม่อาจคว้ามันได้ และบางคนก็อาจจะไม่มีทางได้เห็น "โอกาส" ให้ได้ไขว่คว้าแม้สักการเปลี่ยนแปลงเดียว

ซึ่งแน่นอนว่า "บางคน" ที่เห็น "โอกาส" ในทุกๆ การเปลี่ยนแปลง แล้วคว้ามันไว้ได้ ในจำนวนรายแรกๆ นั้น หนีไม่พ้น "บางคน" ที่เรามักเรียกพวกเขากันว่า "นายทุน!"

เช่นกัน... เมื่อ "โลก" กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ที่หลายๆ คนลงความเห็นว่า นี่ไม่ใช่แค่ "ภาวะโลกร้อน" แต่เป็น "ภาวะโลกรวน"

เหล่ามวลมนุษย์ที่กระจัดกระจายอยู่ในแต่ละประเทศต่างต้อง "รับผิดชอบร่วมกัน" กับสิ่งที่กระทำลงไปต่อโลกใบนี้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ในขณะเดียวกันกับเวลาที่เราต้องหาทางรักษา หรือป้องกันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการหาวิธีการและสิ่งที่ดีต่อโลกมากขึ้น อีกด้านหนึ่งก็มี "กลุ่มนายทุน" ที่กำลังได้รับประโยชน์จากการกอบกู้โลกในครั้งนี้ ชนิดที่เรียกว่ามากมายมหาศาล

"นายทุน" ที่ว่านั้นหมายถึงใคร?
แล้วกอบโกยความมั่งคั่งได้มากแค่ไหน?

...

เราจะพา "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ไปไล่รายชื่อจากเอกสารการรายงานของ "ฮูรุน ริช ลิสต์" (Hurun Rich List) ที่คอยติดตามความมั่งคั่งของบรรดานายทุนขาใหญ่ ณ ดินแดนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดในโลก... เช่น "จีน"

โดยรายงานประจำปีของ Hurun Rich List ของปีนี้ (2564) พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 3 ของการเติบโตในส่วนรายชื่อปี 2564 ปัจจุบันติดตาม "นายทุน" กว่า 2,918 คน มีมูลค่าความมั่งคั่งรวม 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 175 ล้านล้านบาท

เรื่องของเรื่องมันเริ่มนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563!!

ประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" ได้ประกาศเป้าหมาย ณ องค์การสหประชาชาติ หรือ "ยูเอ็น" (United Nations: UN) อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า จีนจะผลักดันยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change โดยมีคำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเชิงพาณิชย์จนกลายเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2603 หรือปี ค.ศ.2060!!

นับเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อขาใหญ่ปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่าง "จีน" ที่ปี 2562 ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 10,200 ล้านตัน (*เกือบ 2 เท่าของอเมริกา : 5,300 ล้านตัน) ทั้งนี้ แม้จะมีสัดส่วนเกือบ 28% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งโลก แต่ก็ไม่อาจกล่าวโทษได้ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนเป็นตัวการทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเพียงฝ่ายเดียว

จากภาพรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมด นับตั้งแต่ปี 2393-2564 อันดับ 1 เป็นอเมริกา 20.3%, อันดับ 2 จีน 11.4% และอันดับ 3 รัสเซีย 6.9%

แน่นอนว่า เมื่อ "นายท่านสี" ให้คำมั่นสัญญาด้วยตัวเอง แถมยังเกิดขึ้นบนเวทีโลก เหล่าบรรดา "นายทุน" ก็ขยับขับเคลื่อนกันทันที เสมือนอ้อยเข้าปากช้าง งานนี้ใครจะปล่อย "โอกาส" ให้หลุดมือ โดยผลลัพธ์ที่ปรากฏหลังจากนั้น หนีไม่พ้น "ตัวเลข" ของทรัพย์สินความมั่งคั่งของพวกเขาที่หมุนอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อการก้าวสู่ "โลกสีเขียว!" ด้วยความเต็มใจ

...

การจุดประกายเล็กๆ ที่มาจากเป้าหมายการปรับลดปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Reduction) ได้ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับ "พลังงานรูปแบบใหม่" ได้รับความนิยมอย่างมากในบรรดาเหล่านายทุน และนั่นก็ทำให้เห็นการเติบโตอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะ "นายทุนหน้าใหม่" ในส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี ที่มีรายชื่อเอ่อล้นอย่างคาดไม่ถึง ทำให้ปีนี้ (2564) Hurun China Rich List ทำสถิติสูงสุดเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ทั้งในแง่จำนวนคนและความมั่งคั่งรวมทั้งหมด

จากรายชื่อที่ปรากฏบน Hurun Rich List เห็นได้ว่า 8 ใน 10 คน ที่มีความมั่งคั่งพุ่งทะยานและเติบโตรวดเร็วที่สุด ล้วนเป็น "นายทุน" ที่มีส่วนในธุรกิจการสร้างสรรค์ "พลังงานรูปแบบใหม่" (New Energy)

ตัวอย่างเช่น "เซง หยูคุน" (Zeng Yuqun) ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตแบตเตอรี่ CATL (Contemporary Amperex Technology Co., Limited) และ "หวัง ฉวนฟู" (Wang Chuanfu) ซีอีโอ Warren Buffet เบื้องหลังผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า BYD โดยพวกเขามีความมั่งคั่งมากถึง 4.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.57 ล้านล้านบาท) และ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.28 แสนล้านบาท) ตามลำดับ

แต่ที่น่าสนใจอีกส่วน คือ ขณะที่ "นายทุนเทคโนโลยีสีเขียว" กำลังมีอิทธิพล ได้รับการขับเคลื่อนและผลักดันจาก "รัฐบาลปักกิ่ง" ในการเดินหน้ากระบวนการตามเป้าหมายบรรลุการกำจัดคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เหลือศูนย์ อีกด้านหนึ่ง "นายทุนบางคน" ที่เป็น "ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต" ของประเทศ กลับกำลังเผชิญกับความน่าตึงเครียดที่กระทบต่อความมั่งคั่งในกระเป๋า กับการ "ปรับลด" ถูกกดดันโดยมาตรการลงโทษขั้นรุนแรงของรัฐบาล เหตุจากการดำเนินการทางข้อมูลและมีพฤติกรรมเข้าข่าย "กึ่งผูกขาด" ในภาคธุรกิจต่างๆ

...

"นายทุน" ผู้โชคร้ายคือใคร?

หากไม่มีรายชื่อ 2 นายทุนผู้ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงระดับโลก ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ โดยรายแรก คือ "โพนี หม่า" (Pony Ma) ผู้ก่อตั้ง Tencent ที่ความมั่งคั่งสุทธิตกฮวบ 19% นับตั้งแต่ปี 2563 อีกราย คือ "แจ็ค หม่า" (Jack Ma) ผู้ก่อตั้ง Alibaba ที่ยอดพีระมิดความมั่งคั่งพังทลายลงกว่า 36% นับตั้งแต่ปี 2563 แถมยังร่วงชั้นจากอันดับ 1 มาอยู่อันดับ 5 ในรายชื่อนายทุนแสนร่ำรวย แต่ใดๆ ก็ตาม แม้เงินก้อนมหึมาจะหายไป แต่พวกเขาทั้งคู่ก็ยังอยู่ในขั้นที่เรียกว่า "ระดับมหาเศรษฐี" ซึ่งมีความมั่งคั่งกว่า 4.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.61 ล้านล้านบาท) และ 3.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.3 ล้านล้านบาท) ตามลำดับ

หากยังจำข่าวช่วงที่ผ่านมาได้... ตลอดช่วงปี 2564 นี้ "นายท่านสี" ได้ออกมาตรการกำราบบรรดานายทุนแสนมั่งคั่งทั้งหลาย เพราะต้องการลดช่องว่างระหว่าง "คนรวย" กับ "คนจน" ขจัดความเลวร้ายของ "ระบบทุนนิยม" ให้สอดคล้องกับความตั้งใจของ Common Prosperity! หรือก็คือ "ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน"

...

และเพื่อไม่ให้คนทั่วไปเข้าใจความมุ่งหมายของ "นายท่านสี" กันไปผิดๆ เหล่าอาวุโสของรัฐบาลปักกิ่งก็เรียงหน้าออกมาย้ำถึงความมุ่งหมายชัดๆ อีกครั้งว่า Common Prosperity ไม่ใช่แนวคิดเสมอภาคนิยม และไม่ใช่การ "ฆ่าคนรวย" เพื่อช่วยคนจน อย่างที่หลายฝ่ายกำลังตีความ!

ผลพวงจากการกำราบอย่างเข้มข้นนั้น ตกลงไปสู่ "ธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษา" และ "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" รวมถึงธุรกิจบันเทิงและเกมด้วยเช่นกัน

"จาง ปันซิน" (Zhang Bangxin) ผู้ก่อตั้งธุรกิจติวเตอร์เอกชน Tal Education ความมั่งคั่งตกฮวบ 94% หลังถูกเจาะจงว่ากำลังทำสิ่งผิดกฎหมายในส่วนภาคการศึกษาเอกชนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (2564) ปัจจุบัน นายทุนติวเตอร์รายนี้นับเป็น "มหาเศรษฐีตัวกระจ้อย" ที่มีความมั่งคั่งสุทธิ 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.91 หมื่นล้านบาท

ส่วนบรรดานายทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่เหนือความคาดหมายพังลงตามๆ กัน เหตุก็เพราะ "รัฐบาลปักกิ่ง" มองเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องควบคุมในส่วน "หนี้สิน" ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งอุตสาหกรรมอสังหาฯ นี้ ด้วยการขัดขวางวิธีการกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนจนมากเกินไป

ผลที่เกิดขึ้น คือ จากรายชื่อใน Hurun Rich List ของปีนี้ (2564) ใน 10 อันดับแรก ไม่มีรายชื่อนายทุนหรือนักธุรกิจใหญ่อสังหาริมทรัพย์เลยสักคนเดียว!

สำหรับนายทุนอสังหาฯ รายใหญ่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปีนี้ (2564) อย่าง "สวี เจียหยิ่น" (Xu Jiayin) ประธานอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ที่กำลังอยู่ในสถานะเสี่ยงอันตรายและติดหนี้อย่าง Evergrande ก็ไถลลงไปอยู่อันดับ 70 จากปีที่แล้ว (2563) เคยอยู่ถึงอันดับ 5

เมื่อวนกลับมาที่ "นายทุนเทคโนโลยี" แม้จะไม่ได้เป็น Green เต็มตัว แต่ก็มีส่วนได้ประโยชน์อย่างมากจากอานิสงส์ของวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้คนหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะ "จาง อี้หมิง" (Zhang Yiming) ผู้ก่อตั้งบริษัทแม่ของ TikTok อย่าง ByteDance ที่คาดว่าในเวลานี้คงกำลังหาวาทกรรมตอบโต้ที่หวังจะให้สะดุ้งสะเทือนกันบ้าง ต่อมาตรการกำราบการปรับลดในส่วนยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี (Big Tech) ซึ่งจากปีที่แล้ว (2563) ความมั่งคั่งของเขาเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า อยู่ที่ราว 5.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.73 ล้านล้านบาท กลายเป็นผู้ชายที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 2 ในจีน

เฉพาะ "จาง อี้หมิง" เขาเป็น "นายทุน" ที่อันดับ 5 เพียงรายเดียวนับตั้งแต่ปี 2542 ที่สามารถก้าวขึ้นสู่ Top 3 ได้ ทั้งๆ ที่ยังมีอายุเพียงแค่ 38 ปี โดยจากการคาดการณ์ของ Hurun Rich List มีความเป็นไปได้ว่า เขาอาจนั่งแท่นคนที่รำ่รวยที่สุดในจีนได้ภายในปี 2565 นี้

แล้วอันดับ 1 ในรายชื่อ Hurun Rich List ปีนี้ (2564) คือใคร?

"จง ซานซาน" (Zhong Shanshan) ผู้ก่อตั้งบริษัทน้ำดื่มขวด Nongfu Spring ที่มีความมั่งคั่งสุทธิมากถึง 6.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.98 ล้านล้านบาท โดยความมั่งคั่งของเขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากบริษัทเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก หรือ IPO ในฮ่องกง มูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.28 หมื่นล้านบาท เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2563)

แต่ช้าก่อน... แม้ "นายทุน Green" จะมีแววอนาคตสดใสในแบบฉุดไม่อยู่ ก็กลับต้องเฝ้าระวังกันสักนิด!!

ด้วยเหตุเพราะเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2564 นี้ จีนกำลังเผชิญกับวิกฤติพลังงานขาดแคลนในชนิดที่ว่าสุ่มเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศ จนอาจเรียกได้ว่านี่เป็นภาวะวิกฤติด้านพลังงานที่เลวร้ายที่สุดของจีนเลยก็ว่าได้ ถามว่าแล้วจะกระทบอย่างไรต่อ...

จากหลากคำวิเคราะห์ของบรรดาผู้เฝ้าสังเกตการณ์ด้านพลังงานอย่างใกล้ชิด มองว่า ผลจากภาวะวิกฤติด้านพลังงานนี้ อาจทำให้จีนต้องจำใจเดินอ้อมเส้นทางในการพิชิตเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งนั่นจะทำให้แผนการไปถึงเป้าหมายนั้นชะลอลงเล็กน้อย และก็หมายความว่า มาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะสั้นๆ ช่วงปลายปี 2564-2565 นี้ อาจมี "บางสิ่งบางอย่าง" ที่ไปกระทบต่อความมั่งคั่งในกระเป๋าของบรรดา "นายทุนเทคโนโลยีสีเขียว" ได้

หรือดีไม่ดี หากเติบโตมากเกินไป รวยจนเหลือเฟือ และขยายช่องว่างให้ถ่างออกไปอีก จนกระทบต่อ Common Prosperity หรือ "ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" ที่เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญยิ่งกว่าของ นายท่านสี ก็เกรงว่าจะล้มลุกคลุกคลานไม่ต่างจาก "นายทุน" รายอื่นๆ ขอจงก้าวอย่างระมัดระวัง!

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Chonticha Pinijrob

ข่าวน่าสนใจ:

อ้างอิง:

  • Carbon Brief (Clear on Climate), Analysis: Which countries are historically respondsible for climate change? [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : www.carbonbrief.org [12 Nov. 2021]