ภาพจำของเหล่านักดูซีรีส์เกาหลีที่หากเรื่องใดมีฉากหลังที่ว่าด้วยชีวิตเด็กมัธยมวัยใส ซีนหนึ่งที่จะต้องปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ คือ การสะท้อนปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียน "อย่างชนิดจงใจและตรงไปตรงมา"

ซึ่งนั่นอาจเป็นความปรารถนาที่ต้องการบอกเล่ากับคนในสังคมก็เป็นได้ว่า จริงๆ แล้วปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของเกาหลีใต้นั้นมีอยู่จริง และหนำซ้ำยังเต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างชนิดสุดเหลือเชื่อ และประเด็นปัญหานี้ ในปัจจุบันมันมักจะถูกตอกย้ำซ้ำๆ จนปรากฏเป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะหลังจากเกิดกรณี "สองสาวฝาแฝด" ดาวเด่นแห่งวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ "อี-แจยอง" (Lee Jae-yeong) และ "อี-ดายอง" (Lee Da-yeong) ถูกผู้ที่อ้างว่าเป็น "เหยื่อ" ขุดพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื่นสมัยชุดนักเรียนมัธยมวัยใส จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่วทั้งประเทศเพียงไม่นาน...

เกาหลีชนทั้งมวลต่างก็ต้องตื่นตระหนกตกใจมากขึ้นไปอีก เมื่อผู้ตกเป็นเหยื่อการถูกกลั่นแกล้งสมัยมัธยมต้นและมัธยมปลายอีกหลายต่อหลายคน ต่างออกมารัวนิ้ว "แฉ" ความเน่าเฟะในระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมอันแสนงดงามอีกหลายต่อหลายกรณีจนกระทั่งท่วมท้นโลกออนไลน์ หนำซ้ำคราวนี้ ผู้ที่ตกเป็น "ผู้ถูกกล่าวหา" กลับเป็นเหล่าไอดอล K-POP ที่กำลังจรัสแสงทั้งหญิงและชายรวมกันมากกว่า 10 คนอีกด้วย!

พวกเขาและเธอเหล่านี้ ถูกผู้ที่อ้างว่า "ตัวเองเคยเป็นหยื่อ" ออกมาชี้นิ้ว "กล่าวหา" ในโลกออนไลน์ จนกระทั่งบางคนถูก "บทลงโทษทางสังคมขั้นรุนแรง"

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความดุดันจนแทบจะไม่ต่างจาก "คำพิพากษาประหารชีวิต" ใครบางคนไปแล้วนั้น คำถามจากผู้ที่เริ่มตั้งสติได้หลังเสพความเกรี้ยวกราดไปสักระยะ ก็เริ่มค่อยๆ ดังขึ้น นั่นก็คือ...

...

"ข้อกล่าวหาของบุคคลลึกลับในโลกออนไลน์ที่มีต่อพวกเขาและเธอที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตกลงมันเป็นเรื่องจริงทั้งหมด หรือมีการมั่วนิ่มสร้างข้อกล่าวหาขึ้นมาลอยๆ หรือไม่?"

โดยเฉพาะหลังเกิดปรากฏการณ์กล่าวหา และด่าทออย่างหนักหน่วงรุนแรงและขยายวงกว้างออกไปราวกับไฟลามทุ่ง ต้นสังกัดของสตาร์เหล่านั้นเริ่มมีการออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างแข็งแรง ในขณะที่บางคนยอมรับ และขอโทษกับพฤติกรรมน่าละอายในอดีต

แต่เอาล่ะ! หากเราจะค่อยๆ สังเคราะห์ประเด็นร้อนนี้ ก่อนอื่นเราควรแยกมันออกเป็น 2 ประเด็นหลักๆ นั่นก็คือ

1. ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของเกาหลีใต้มีอยู่จริงหรือไม่?

2. อะไรคือ ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ต้องแปดเปื้อนจากปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน

งั้น "เรา" ไปเริ่มต้นกันที่ประเด็นแรก 1. ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของเกาหลีใต้มีอยู่จริงหรือไม่?

ก่อนอื่นแม้การกล่าวหาที่เกิดขึ้นจะมีทั้ง "เรื่องจริง" และ "เรื่องไม่จริง" แต่มันคงปฏิเสธได้ยากว่า ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของเกาหลีใต้ "มันมีอยู่จริงและยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง"

อะไรคือ สิ่งที่ยืนยันในประเด็นนี้?

ผลสำรวจล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้เมื่อปี 2019 พบว่า มีนักเรียนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย จำนวนเกือบ 60,000 คน หรือ 1.6% จากจำนวนนักเรียนมากกว่า 3,700,000 คน ในระดับประถม มัธยมต้นและมัธยมปลายที่เข้าร่วมการสำรวจ เคยตกเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงและการกลั่นแกล้งในโรงเรียน โดยในระดับประถมศึกษาพบอัตราการถูกกลั่นแกล้งมากที่สุดที่ 3.6% ในขณะที่ ระดับมัธยมต้นอยู่ที่ 0.8% ในขณะที่ มัธยมปลายอยู่ที่ 0.4%

ส่วนลักษณะของการใช้ความรุนแรงในการกลั่นแกล้ง ประกอบด้วย

1. การใช้วาจาข่มขู่คุกคาม 8.1 คน จากทุกๆ 1,000 คน

2. การรวมกลุ่มกันกลั่นแกล้ง 5.3 คน จากทุกๆ 1,000 คน

3. การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ 2 คน จากทุกๆ 1,000 คน

4. การสะกดรอยตาม 2 คน จากทุกๆ 1,000 คน

5. การใช้กำลังทำร้ายร่างกาย 2 คน จากทุกๆ 1,000 คน

6. การข่มขู่กรรโชก 1.4 คน จากทุกๆ 1,000 คน

7. การบังคับให้ไปทำธุระให้ 1.1 คน จากทุกๆ 1,000 คน

8. การล่วงละเมิดทางเพศ 0.9 คน จากทุกๆ 1,000 คน

หากแต่สิ่งที่น่าวิตกกังวลมากยิ่งไปกว่าปัญหาการใช้ความรุนแรงและการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนของเกาหลีใต้ คือ ทัศนคติของผู้บริหารโรงเรียนในเกาหลีใต้ที่ส่วนใหญ่กลับมองปัญหาเรื่องนี้ว่า "ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร"

...

โดยหลักฐานที่ยืนยันในประเด็นดังกล่าว คือ รายงานวิจัยของสถาบันพัฒนาการศึกษาเกาหลีใต้ (The Korean Educational Development Institute หรือ KEDI) เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ครูตามสถานศึกษาต่างๆ จำนวนมากถึง 85% รายงานว่า "ไม่พบปัญหาการกลั่นแกล้งในห้องเรียน" ซึ่งมันช่างขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ!

นอกจากนี้ โรงเรียนส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้มักจะพยายามปกปิดปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียน โดยการรายงานจำนวนเหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้งให้ต่ำกว่าความเป็นจริง หนำซ้ำ ยังมักโยนภาระไปให้ผู้ปกครอง โดยอ้างว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่พ่อและแม่ต้องเข้าไปจัดการแก้ไขเพราะเป็นปัญหาครอบครัวเสียด้วย

แต่ที่ดูเลวร้ายจนยากที่จะยอมรับได้ คือ มีเหยื่อจำนวนมากที่นอกจากจะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากครูหรือผู้บริหารของโรงเรียน และถูกบีบให้ย้ายโรงเรียนออกไปเพื่อหวังซุกปัญหาเอาไว้ใต้พรม แต่แม้กระนั้น เหยื่อจำนวนมากก็ยังคงถูกตามรังควานกลั่นแกล้ง หรือข่มขู่ทางไซเบอร์ จากอดีตเพื่อนนักเรียนโรงเรียนเก่าแบบกัดไม่ปล่อย ซ้ำเติมเข้าไปอีกต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ ในรายงานวิจัยของ KEDI จึงได้ระบุว่า มีเหยื่อจำนวนถึง 60% ไม่กล้าที่จะแจ้งเรื่องการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนให้ครูหรือผู้ปกครองได้รับทราบ เพราะคิดว่าจะไม่ได้รับความเชื่อถือ หรือยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ด้วยเหตุนี้ มันจึงกลายเป็นปัญหาที่คนในสังคมเกาหลีใต้พูดตรงกันแล้วว่า ควรต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน!

ประเด็นที่ 2. อะไรคือ ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ต้องแปดเปื้อนจากปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน?

เมื่อเป็นไอดอลย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย การถูกตั้งมาตรฐานศีลธรรมที่ต้องเหนือกว่าบุคคลทั่วๆ ไป

...

"การที่ K-WAVE แผ่ขยายอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้คนยึดติดกับภาพลักษณ์ที่ว่า เหล่าไอดอล K-POP คือ ตัวแทนของชาวเกาหลี เมื่อเป็นเช่นนั้น มันย่อมนำมาสู่ความคาดหวังเรื่องมาตรฐานทางศีลธรรม และจริยธรรมที่เหนือเกินไปกว่ามาตรฐานของคนทั่วๆ ไป ทำให้หลังจากนี้เป็นต้นไป บรรดาค่ายเพลงรวมถึงเอเจนซี่ต่างๆ อาจจะต้องมีการทบทวนรวมถึงลงลึกในรายละเอียดมากขึ้นในการคัดกรองบุคคลก่อนเข้าร่วมสังกัด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นกังวลสำหรับปรากฏการณ์แฉที่กำลังเกิดขึ้น คือ ข้อกล่าวหาบางเรื่องไม่เป็นความจริง หนำซ้ำยังเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบถึงที่มาที่ไปที่ชัดเจนได้ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว คือ ไอดอลผู้บริสุทธิ์บางคนถูกบทลงโทษทางสังคมที่รุนแรง จนต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง หรืออาจเลยเถิดไปถึงทำให้อนาคตในวงการบันเทิงต้องสูญสิ้น

แต่ที่น่าสังเกตในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ไม่มีการเปิดเผยตัวตนของบุคคลที่ออกมาเรียงหน้ากล่าวหาเหล่าคนดังตามชุมชนออนไลน์ต่างๆ รวมถึงไม่มีความชัดเจนด้วยว่า การกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่เอ่ยอ้างนั้นมันคืออะไรกันแน่?

มันจึงถือเป็นเรื่องที่อันตรายเอามากๆ ที่ผู้คนส่วนหนึ่งเกิดไปหลงเชื่อเพียงความดราม่าที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักอ้างว่า เป็นคำบอกเล่ามาจากความทรงจำในอดีตของเหยื่อและพยาน คิม ฮยอน-ชิก (Kim Heon-shik) นักวิจารณ์คนดังของเกาหลีใต้ ให้ความเห็นถึงประเด็นร้อนที่กำลังเกิดขึ้นบนดินแดนแห่งไอดอล

จริงหรือไม่จริงอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เรื่องอื้อฉาว คือ สิ่งต้องห้ามสำหรับไอดอลเกาหลีทุกคน

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ อี ยงฮุน (Yonghoon Lee) จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (Hong Kong University of Science and Technology) เจ้าของงานวิจัยเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ วิเคราะห์ประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นไว้อย่างน่าสนใจว่า...

...

"การมุ่งเป้ากล่าวหาไปที่บรรดาไอดอลที่อยู่ในวัยเพียง 20 ต้นๆ น่าจะเป็นภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดว่า ผู้คนในเจเนอเรชั่นนี้กำลังพยายามๆ หาทางแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่ผู้คนในสังคมต่างรับรู้รับทราบกันมาอย่างยาวนาน แต่มันกลับไม่เคยได้รับการจัดการใดๆ

หากแต่...สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คือ ประเด็นปัญหาทางสังคมที่เชื่อมโยงไปถึงเหล่าคนดังทั้งหลายของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการกลั่นแกล้งผู้ด้อยกว่านั้น มักจะส่งผลในเชิงลบทันทีกับผู้ที่ถูกกล่าวหา โดยที่แทบจะไม่มีการสืบหาข้อเท็จจริง หรือแม้แต่พยายามจะหาข้อมูลเพิ่มเติมแม้แต่น้อยว่าแท้ที่จริงแล้วคนดังที่ถูกกล่าวหานั้นได้กระทำผิดจริงอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

และสำหรับเหล่าไอดอล K-POP ยังมีปัจจัยที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดข้อหาในลักษณะนี้ จนกระทั่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบเป็นวงกว้าง สิ่งที่บรรดาผู้กุมอำนาจในอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ ซึ่งโดยมากมักไม่นิยมความเสี่ยงจะลงมือจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ การตัดความสัมพันธ์กับไอดอลที่มีปัญหาทิ้งทันที นั่นเป็นเพราะการตัดเนื้อร้ายทิ้ง มันทำได้ง่ายกว่าการลงทุนลงแรงเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงที่เสียไปขึ้นมาใหม่มากมายนัก!

วงการบันเทิงภายในประเทศเกาหลีใต้นั้น ถือเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่โตอะไรมากมายนัก ฉะนั้น หากคิดที่จะทำเงินกับตลาดแห่งนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ ห้ามเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นอย่างเด็ดขาด

สำหรับศิลปินไอดอลเกาหลีนั้น การกอบกู้ชื่อเสียงให้กลับคืนมาถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากพวกเขาจะได้รับการโปรโมตภาพลักษณ์ในแง่บวกผ่านงานแสดง หรือการขับเคลื่อนต่างๆ ในฐานะศิลปินมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีการตั้งข้อสงสัยในภาพลักษณ์อันสูงส่ง มันย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย และแน่นอนว่า...ราคาย่อมแพงกว่าปกติเสมอ!

ปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้ง สามารถเรียกความสนใจจากเกาหลีชนจำนวนมหาศาลได้เสมอ เนื่องจากมันมักมาพร้อมกับความดราม่าที่ผูกโยงเข้ากับสตอรี่การแชร์เรื่องราวจากประสบการณ์ชีวิตจริง และเมื่อใดก็ตามที่เกิดเรื่องราวทำนองนี้ขึ้น ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ชาวเกาหลีมักจะยุติการเสพงานของศิลปินที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องราวดราม่าการกลั่นแกล้งผู้อื่นแทบจะในทันทีทันใด

"ผมคิดว่า นั่นน่าจะเป็นเพราะมุมมองด้านบวกได้ถูกชำระล้างไปจนเกือบหมดจากข้อกล่าวหาต่างๆ จนนำไปสู่การสร้างภาพจำที่สุดเลวร้าย" นักวิชาการผู้ติดตามวงการ K-POP ให้ความเห็น

การเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี ทำให้เกิดช่องว่างเรื่องมาตรฐานการคัดกรองศิลปิน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อี ยงฮุน ให้ทัศนะต่อไปว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องนี้

หากพิจารณาดูดีๆ จะพบว่า จำนวนไอดอลที่ถูกกล่าวหาในประเด็นร้อนนี้ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นศิลปินของหนึ่งในสามค่ายยักษ์ใหญ่แห่งเกาหลีใต้ ในขณะที่ คนอื่นๆ มาจากค่ายในระดับกลางๆ

มาตรฐานใหม่ที่ เอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเมนท์ (SM Entertainment) ภายใต้การนำของ อี ซู-มาน (Lee Soo-man) นำมาใช้ปฏิรูประบบเด็กฝึกหัด หลังเกิดเรื่องอื้อฉาวของศิลปินในสังกัดช่วงยุค 90 ยังผลให้เกิดระบบการตรวจสอบชีวิตส่วนตัวและการพัฒนาบุคลิกภาพในสถานที่สาธารณะของเหล่าไอดอลในสังกัดอันสุดแสนเข้มงวด ซึ่งมาตรฐานใหม่ในการดูแลไอดอลนี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้วงการ K-POP ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ในขณะที่อุตสาหกรรมบันเทิงกำลังเติบโตและพัฒนาแบบก้าวกระโดดไปพร้อมๆ กันความสำเร็จของ K-POP นั้น มันได้เกิดช่องว่างเรื่องมาตรฐานการดูแลไอดอลในสังกัด โดยเฉพาะบรรดาค่ายขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังปรับตัวตามไม่ทัน

กลุ่มผู้ชมชาวเกาหลีใต้จำนวนมาก มักคุ้นเคยกับเหล่าไอดอลที่ได้รับการฝึกฝนผ่านระบบเด็กฝึกอันเข้มงวด แต่การแข่งขันในอุตสาหกรรมบันเทิงที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ได้บีบบังคับให้บางค่ายต้องพยายามมองหาอะไรใหม่ๆ และจำเป็นต้องเร่งรีบมากขึ้นในการผลิตศิลปินขึ้นมา ซึ่งนั่นรวมถึง การยอมผ่อนปรนมาตรฐานต่างๆ ในการปลุกปั้น คัดกรอง และดูแลเหล่าเด็กฝึกหัดในสังกัด

"คงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่า การตัดสินใจแบบนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง แต่ในเมื่อมันเกิดผลลัพธ์แบบนี้ขึ้นมาแล้ว บรรดาค่ายขนาดกลางและขนาดเล็กที่เลือกจะตัดสินใจเช่นนั้น ย่อมต้องพบกับปัจจัยความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อี ยงฮุน วิเคราะห์ทิ้งท้าย.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ: