ครบรอบ 1 เดือนแห่งความสูญเสียจากเหตุการณ์โครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ กว่า 30 ชั้น บนถนนกำแพงเพชร 2 กทม. พังถล่มลงมา หลังจากเกิดแผ่นดินไหวศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ช่วงเวลาประมาณ 13.20 น. เป็นเหตุให้มีผู้สูญหายและเสียชีวิตรวมกว่า 100 ชีวิต

1 เดือนแห่งความสูญเสีย ตึก สตง.ถล่ม เกิดอะไรขึ้นบ้าง?


ปฏิบัติการ
รื้อซากตึก 30 ชั้น

จากซากตึกสูง 30 ชั้น ได้รับการยืนยันจากทางกรุงเทพมหานครว่า ขณะนี้เหลือความสูงโดยเฉลี่ยจากฐานเพียง 1.37 เมตรแล้ว ภายหลังปฏิบัติการรื้อซากและค้นหาผู้สูญหายตลอด 24 ชั่วโมงในทุกวัน

โดยการปฏิบัติงานในแต่ละวันนั้น มีการใช้รถบรรทุกเฉลี่ยกว่า 300 เที่ยว ขนเศษซากอาคารออกจากจุดเกิดเหตุเฉลี่ยวันละ 10 ตัน โดยเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ประชุมหารือเพื่อปรับแผนการใช้เครื่องมือกันตลอดทุกวัน


ชีวิต 103 คน
ในตึก สตง.

เหตุการณ์ตึกถล่มที่เกิดขึ้นมีการสรุปตัวเลขผู้ประสบเหตุอย่างเป็นทางการ รวมทั้งสิ้น 103 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว 63 ราย โดยพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลทั้งหมดแล้ว บาดเจ็บ 9 ราย และยังสูญหายอีก 31 ราย

...

โดยตลอดทั้ง 30 วันในการปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย ไม่มีรายงานพบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติมที่ติดอยู่ในซากอาคารแม้แต่คนเดียว มีเพียงคืนวันแรก (28 มี.ค.) ที่ช่วยนำผู้บาดเจ็บหนักออกมาได้ แต่สุดท้ายก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า จะช่วยปฏิบัติการ รื้อซากอาคารตึกถล่มจนถึงอิฐก้อนสุดท้าย และนำร่างของผู้สูญหายออกมาครบทั้งหมด จึงจะยุติปฎิบัติการในภารกิจนี้


คืบหน้าสอบสวน
หาคนรับผิดชอบ

ล่าสุด (28 เม.ย.) มีรายงานว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เข้าตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 24 ตู้ เบื้องต้นพบว่ามีเอกสารจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับคดี เช่น แฟ้มส่งมอบงานตามงวดงานและรายงานความคืบหน้าการก่อสร้างประจำเดือน เตรียมใช้รถบรรทุก 1 คันส่งเอกสารทั้งหมดไปตรวจสอบและคัดแยกที่ DSI

โดยก่อนหน้านี้มีการจับกุมตัว ชวนหลิง จาง กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 จำกัด ในข้อหาเป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจซึ่งต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการ หรือต้องได้รับอนุญาตก่อน และเป็นนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และดำเนินการติดตาม 3 คนไทยที่ถือหุ้นในบริษัทอยู่ ส่อเข้าข่ายการเป็นนอมินี รวมถึงการฮั้วประมูลด้วย

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และทีมสุดซอย เดินหน้าตรวจสอบคุณภาพ “เหล็ก” จากบริษัท ซิน เคอ หยวน เบื้องต้นจากการทดสอบของสถาบันเหล็กฯ พบว่า มีเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวนหนึ่ง แม้ในภายหลังทางบริษัทฯ จะส่งทีมกฎหมายมาแถลงข่าวโต้ตอบในประเด็นดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาอย่างกระจ่างต่อความสงสัยของสังคม

เดินหน้าเยียวยา
เหยื่อ “ตึกถล่ม”

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าได้จ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่มไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 38 ล้านบาท โดยลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ กรณีบาดเจ็บได้จ่ายเงินรักษาตามความจริงไม่เกิน 65,000 บาท หรือบาดเจ็บรุนแรงจ่ายไม่เกิน 1 ล้านบาท หากสูญเสียอวัยวะหรือ เสียสมรรถภาพในการทำงานจะมีการจ่ายเงินชดเชยร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกินเดือนละ 14,000 บาท รวมถึงค่าทำศพของผู้เสียชีวิตรายละ 50,000 บาท

ล่าสุดก็มีตัวแทนผู้เสียหายจากตึกถล่ม ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้เสียชีวิต, กลุ่มผู้สูญหาย และกลุ่มผู้บาดเจ็บ เข้ายื่นหนังสือต่อสภาทนายความ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยทางสภาทนายความจะให้การช่วยเหลือให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังมีมูลนิธิ ภาคเอกชน และภาคประชาชนหลายฝ่าย ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเยียวยาญาติของผู้สูญหายและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องเช่นกัน