‘ด่านขุนทด’ อ่วม ดินน้ำปนเปื้อน ไร้เยียวยา ซ้ำ ‘เหมืองโปแตช’ จ่อระเบิดหิน

25 เม.ย. 2568 ที่วัดหนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มี อังคณา นีละไพจิตร เป็นประธาน ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบกรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ถึงผลกระทบของเหมืองแร่โปแตชที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด โดยการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้มีอนุกรรมาธิการ และที่ปรึกษาเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก อาทิ ประภาส ปิ่นตบแต่ง (สว.) เตือนใจ ดีเทศน์ (อดีต กสม.) สุรชัย ตรงงาม (ที่ปรึกษากรรมาธิการและทนายความสิ่งแวดล้อม) เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ณ ที่ห้องประชุมของสำนักงานปศุสัตว์ จ.นครราชสีมา คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางเข้าร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 (นครราชสีมา) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยได้เปิดให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมในครั้งนี้ด้วย

อังคณา กล่าวว่า การที่คณะกรรมาธิการฯ เดินทางมาลงพื้นที่ครั้งนี้ก็เพราะได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากนักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ว่า ‘บริษัทไทยคาลิ จำกัด’ ที่ทำเหมืองโปแตช มีการรั่วซึมของเหมืองแร่ทำให้ดินบริเวณนั้นเค็มและส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมของคนในพื้นที่ โดยเรื่องของโปแตชนั้นเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อยาวนานมาก ตนและนางเตือนใจ ในสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้ให้ความสำคัญกับการทำเหมืองที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ซึ่งเป็นปัญหาที่คาราคาซังแก้ก็ไม่เคยสำเร็จจนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน

ชี้ไทย เคยให้คำมั่นเรื่อง 'ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน'

อังคณา กล่าวว่า ที่สำคัญประเทศไทยเองได้ให้การรับรองหลักการชี้แนะสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และยังมีแผนปฏิบัติการชาติในการเคารพ คุ้มครองและเยียวยา ดังนั้นในการทำธุรกิจ จึงจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และหากเกิดผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนก็จะต้องให้มีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย การที่ตนให้ผู้ร้องเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การประชุมและร่วมให้ความเห็น เป็นเรื่องของการทำงานที่ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม เพราะเป็นปัญหาของชุมชน และตนเห็นว่าผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้ ในการประชุมเรื่องปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่คณะกรรมาธิการฯ ได้จัดประชุมขึ้นเป็นครั้งแรกที่รัฐสภา ตามข้อร้องเรียนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด วันที่ 11 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ท่านอธิบดี กพร. เองได้ให้ข้อมูลไว้ว่าจะจัดทำฐานข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลของพื้นดิน และน้ำในดิน ที่เก็บก่อนการทำเหมือง ระหว่างการทำเหมือง และหลังการทำเหมือง (Baseline Data) ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูและดาวน์โหลดได้ ตนอยากถามว่าในประเด็นนี้มีความคืบหน้าไปถึงไหน เพราะข้อมูล Baseline Data จะเป็นข้อเท็จจริงที่ช่วยให้เราพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ ทางกรรมาธิการฯ มีความกังวล หลังทราบว่า ทางบริษัทไทยคาลิฯ จะมีการใช้ระเบิดเพื่อระเบิดหินในการทำเหมือง ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบอันอาจเกิดขึ้น จึงควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเข้าถึงข้อมูล และการตัดสินใจ โดยผู้นำชุมชนในท้องถิ่น และชาวบ้านในบริเวณโดยรอบ ต้องเข้าไปร่วมในการตรวจสอบด้วย เพราะถือเป็นเรื่องของสิทธิชุมชน

 อังคณา นีละไพจิตร

หน่วยงานแจง กรณีเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทด

อังคณา กล่าวว่า วันนี้ตนจึงขอตั้งคำถามสำคัญไปยังหน่วยงานที่มาให้ข้อมูลในครั้งนี้ โดยขอถามไปยังทางจังหวัดถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบผลกระทบที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน ไม่ทราบว่าไปถึงไหน และในส่วนของการใช้ระเบิด ผู้ว่าฯ สามารถใช้อำนาจระงับหรือชะลอโครงการ หากระเบิดสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อชุมชนได้หรือไม่ รวมทั้งมีคำถามถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในการที่บริษัทได้เปลี่ยนแผนผังโครงการเป็นการใช้ระเบิด ตรงนี้อยากทราบว่า ทำไมไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลต่อการสร้างความมั่นใจ หรือความไว้ใจกับประชาชนว่า การใช้ระเบิดในการทำเหมือง จะไม่กระทบต่อประชาชน

คณัสชนม์ ศรีเจริญ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา (ในฐานะตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัด) ได้มอบหมายให้ธวัชชัย ตาเมือง ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมชี้แจงในประเด็นความคืบหน้าในการทำงานของคณะทำงานร่วมกันว่า การดำเนินงานของคณะทำงานตรวจสอบผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทด ขณะนี้กระบวนการตรวจสอบยังอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินโดย วันที่ 21 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เชิญคณะกรรมการระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน และผู้ร้องเข้าไปประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคือ ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด’

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ร้องแจ้งว่า ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ ไม่ได้เป็นผู้ร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งประเด็นการวินิจฉัยมายัง จ.นครราชสีมา เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่พิจารณาและจัดประชุมหารือในลำดับถัดไป โดยยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด อังคณา สอบถามเพิ่มเติมว่า ผู้ร้องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดินคือใคร และร้องไปเมื่อไร ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมกล่าวว่า ผู้ที่ร้องไปคือกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด อังคณากล่าวว่า ตนเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งการทำงานของ กสม.สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นมาตรวจสอบได้เอง แต่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน พรป. ผู้ตรวจการแผ่นดินบัญญัติ ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการต่อไป ตนจึงยังไม่ทราบชัดเจนถึงการเข้ามาตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีนี้

ในส่วนประเด็นคำถามเรื่องมีการเปลี่ยนแปลงแผนผังการทำเหมืองโดยการนำระเบิดเข้ามาใช้และอาจจะส่งผลกระทบต่อในพื้นที่ จะต้องมีการจัดทำอีไอเอใหม่หรือไม่ รวมถึงข้อกังวลของชาวบ้านว่าในพื้นที่อาจมีการนำวัตถุระเบิดเข้ามาไว้แล้วหรือไม่ ตัวแทน สผ.ชี้แจงว่า พอพูดถึงการใช้ระเบิดคนก็กลัวแล้ว ว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอใหม่ เพราะเป็นเพียงรายงานการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นรายงานอีไอเอ ที่มีข้อกำหนดชัดเจนในเรื่องจัดเวทีรับฟังความเห็นตามข้อกำหนดของ สผ. ทั้งนี้เรื่องการลดผลกระทบการใช้ระเบิดมีการเดินสำรวจซึ่งเป็นการสุ่มในแต่ละจุด ซึ่งกรรมการเห็นว่าเพียงพอแล้วในการเสนอรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ เพราะเป็นสเกลเล็กไม่ใช่เหมือนการทำอีไอทีที่ต้องเริ่มต้นใหม่เลย ซึ่งกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าไม่ส่งกระทบต่อชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง

กพร.เปิดข้อมูลการใช้ระเบิดในเมืองโปแตช

ขณะที่ตัวแทน กพร. ระบุว่า ในเรื่องของการใช้ระเบิดยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนกระบวนการขออนุญาต โดยทางอำเภอจะทำเรื่องไปที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งจังหวัดจะหารือกับทาง กพร.ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยต่อไป ยืนยันว่ายังไม่มีการนำระเบิดเข้ามาในพื้นที่เพราะหากเคลื่อนย้ายระเบิดในขณะที่ยังไม่ได้รับอนุญาตนั้นถือว่าผิดกฎหมาย

ด้านตัวแทนจากเทศบาลตำบลหนองบัวตะเกียดได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ในพื้นที่ได้มีการจัดทำประชาคมความสำรวจความคิดเห็นประชาชนจาก 4 หมู่บ้าน เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการนำระเบิดเข้ามาใช้ในการทำเหมืองแร่โปแตช ซึ่งผลของการทำประชาคมเราก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเราได้ส่งผลให้ทางอำเภอไปแล้ว

ซึ่งในประเด็นนี้ เตือนใจ ดีเทศน์, สุรชัย ตรงงาม, และประภาส ปิ่นตบแต่ง กรรมาธิการและที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ได้ร่วมกันสอบถามตัวแทนจากเทศบาลตำบลหนองบัวตะเกียดถึงกระบวนการจัดทำประชาคมว่ามีรายละเอียดอย่างไร มีการรับฟังครบถ้วนรอบด้านหรือไม่ โดยตัวแทนของอบต.หนองบัวตะเกียดแจ้งในที่ประชุมว่าจะส่งเอกสารให้กับกรรมาธิการฯในภายหลัง

ภาพ: จามร ศรเพชรนรินทร์

ขณะที่ ศุภนัฐ บุญสด อนุกรรมาธิการกล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่คณะกรรมาธิการได้รับในการประชุมร่วมกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดในรอบแรกที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา คือดินและน้ำโดยรอบพื้นที่การทำเหมืองได้รับผลกระทบจากความเค็ม แม้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเค็มที่เกิดขึ้นมาจากที่ใด แต่กลไกที่จะต้องแก้ไขฟื้นฟูเยียวยาจะต้องเริ่มขึ้นได้แล้วตนอยากถามว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังต้องการข้อมูลแบบไหนถึงจะตรวจสอบอย่างจริงจังและฟื้นฟูเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้

ส่วนตัวแทนอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา ชี้แจงว่า หากพบผลกระทบในพื้นที่ อุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้สั่งการตามมาตรา 129 และ 143 (2) ที่ให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข แต่การที่จะทำได้ ต้องมีการยืนยันว่าเกิดจากผู้ประกอบการเหมืองแร่ ต้องยืนยันให้ได้ก่อนที่จะเข้าสู่โหมดการเยียวยา ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ที่ผ่านมายังไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลกระทบเกิดจากทางบริษัทเอกชน จึงได้จบเรื่องไว้เท่านั้นก่อน 

อังคณา กล่าวอีกว่า ในกรณีการเยียวยาประชาชนนั้น การเยียวยาอาจไม่ได้มาจากผู้ที่ละเมิดเพียงอย่างเดียว ซึ่งกรณีที่ยังไม่พบว่าผู้ใดทำการละเมิด รัฐมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งการเยียวยาอาจไม่ใช่เรื่องของตัวเงิน แต่อาจเป็นเรื่องการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม หรือการชดเชยความเสียหายเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ชีวิตตามปกติได้ รวมถึงการให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล

ในช่วงท้าย อังคณา ได้ขอให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อที่ประชุม โดยจงดี มินขุนทด ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวว่า ก่อนอื่นเราต้องขอยืนยันข้อเท็จจริงว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดไม่เคยยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้นกรณีที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเรายื่นหนังสือร้องเรียนไปแล้วทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินหยิบยกเรื่องขึ้นมาตรวจสอบ ขอยืนยันให้ชัดเจนอีกครั้งว่าไม่ใช่กลุ่มของเรายื่นเรื่องเข้าไปอย่างแน่นอน

จุฑามาศ ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและที่ปรึกษากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวถึงประเด็นการขอให้เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในอีไอเอ เนื่องจากเห็นว่าในอีไอเอมีจุดตรวจที่ไม่ครอบคลุมในพื้นที่ โดยเฉพาะน้ำผิวดินในแหล่งน้ำสาธารณะซึ่งเราพยายามหาข้อมูลเบสไลน์ดาต้ามานานว่าทำไมแหล่งน้ำสาธารณะเหล่านี้ไม่อยู่ในรายงานอีไอเอ เราจึงขอให้ตรวจแหล่งน้ำเหล่านี้เพิ่มเติม ยืนยันว่าทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไม่เคยได้ข้อมูลนี้เลย โดยเฉพาะจาก กพร.

ย้ำรัฐมีหน้าที่ต้องสืบสวน ลงโทษ และชดเชย

สุดท้าย อังคณา กล่าวสรุปว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมให้ข้อมูลและลงพื้นที่ ซึ่งคณะ กมธ. ขอเน้นย้ำในเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวบ้าน และมีข้อเสนอแนะว่าควรตั้งคณะทำงานร่วมกันโดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้าร่วม ตามหลักสหประชาชาติเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ต้องสืบสวนลงโทษและชดเชยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นคนละเมิดและทำให้เกิดความเสียหาย แต่รัฐต้องรับผิดชอบ ซึ่งการเยียวยาไม่ใช่จ่ายเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งทางหน่วยงานก็ต้องประสานการทำงานผู้ร้องอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้จังหวัดมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ว่าฯ ซึ่งจะเป็นตัวกลางระหว่างธุรกิจเอกชนและราษฎร ซึ่งในเรื่องการพัฒนาเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ขัดขวาง แต่การพัฒนาต้องไม่ส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนด้วย

ภาพ: จามร ศรเพชรนรินทร์

ภาพ: จามร ศรเพชรนรินทร์

ต่อมาวันที่ 25 เม.ย. คณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตช โดยช่วงเช้าได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณบริษัทไทยคาลิฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชในพื้นที่ ก่อนที่ช่วงบ่ายจะเดินทางเข้าร่วมรับฟังข้อเท็จจริงและเดินสำรวจพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความเค็มของเกลือ โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้นำกรรมาธิการลงพื้นที่รอบบริเวณเหมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ของบ้านหนองไทร ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช

จากนั้นคณะได้เดินทางมายังวัดหนองไทร เพื่อพบปะพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ อังคณาได้กล่าวถึงการเข้าตรวจสอบพื้นที่เหมืองแร่ ว่า กมธ. ได้ไปดูอุโมงค์แนวเอียงซึ่งเป็นอุโมงค์เก่าที่ปิดไปแล้วเนื่องจากมีการรั่วซึม และบริเวณที่จะสร้างอุโมงค์ใหม่ รวมถึงบ่อพักน้ำซึ่งปัจจุบันได้ปูพลาสติกเรียบร้อยแล้ว และยังได้ดูสถานที่ซึ่งเตรียมไว้เก็บระเบิดซึ่งบริษัทแจ้งว่าอยู่ระหว่างการรออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย โดยให้เหตุผลว่า เมื่อก่อนเวลาขุดอุโมงค์แนวเอียงบริษัทใช้ที่ขุดแบบหัวกระสุนคว้านดิน แต่การขุดอุโมงค์แนวดิ่ง ซึ่งขุดประมาณ 280-300 ม. ไม่สามารถนำคนหรือเครื่องขุดลงไปขุดได้ ดังนั้นเมื่อเจอเนื้อดินหรือหินแข็งจำเป็นจะต้องใช้ระเบิด ตั้งแต่มีปัญหาอุโมงค์น้ำซึมบริษัทก็ไม่ได้ดำเนินการสูบแร่ ดังนั้นเพื่อให้บริษัทสามารถดำรงอยู่และดูแลคนงานได้ จึงรับซื้อเกลือสินเธาว์จากชาวบ้านในภาคอีสานมาเข้าโรงงานผลิตเกลือบริสุทธิ์หรือเกลือแกง

นอกจากนั้น กมธ. ได้มีโอกาสพบกับกำนัน ต.หนองไทร ซึ่งให้ข้อมูลว่ามีชาวบ้านบางกลุ่มไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรและไม่ให้ความร่วมมือ จึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ แต่ กมธ. ได้ชี้แจงว่าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือไม่ เป็นสิทธิของประชาชน และชาวบ้านมีสิทธิที่จะไปร้องต่อรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ ไม่จำกัดแค่ว่าถ้าไม่ขึ้นทะเบียนกับกำนันหรือหน่วยงานในพื้นที่แล้ว จะไม่มีอำนาจไปร้องที่ไหน

อังคณา กล่าวต่อว่า ขณะที่เรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน บริษัทให้ข้อมูลว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ามาศึกษาเพื่อมีข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนตัวก็ยังไม่ค่อยชัดเจนในเรื่องนี้ หลังจากนี้ กมธ. จะเชิญผู้ตรวจการแผ่นดินมาให้ข้อมูลในเรื่องการตรวจสอบเรื่องนี้ รวมถึงว่าใครเป็นผู้ร้อง ทั้งนี้ กมธ. เห็นว่าเรื่องการทำธุรกิจแล้วเกิดผลกระทบต่อชุมชน ไม่ใช่เกิดขึ้นที่นี่เป็นที่แรก แต่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศและทั่วโลก ดังนั้น หากบริษัทจะดำเนินการทางธุรกิจ จำเป็นต้องมีมาตรการในการปกป้อง คุ้มครองชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ และหากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น ก็ต้องมีการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย ในส่วนของกรรมาธิการจะทำการรวบรวมข้อมูลและสรุปรายงานข้อเสนอแนะต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่ จงดี มินขุนทด นักปกป้องสิทธิกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า เรื่องการซื้อเกลือของบริษัท หากเป็นการซื้อเกลือ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำไมโรงต้มเกลือมีการทำงาน มีการต้มเกลืออยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านกังวล ส่วนทำไมเราคุยกันไม่ได้กับเหมืองหรือผู้นำชุมชน ก็คือพี่น้องที่นั่งอยู่ตรงนี้ อย่างพี่น้องหนองไทร ที่กำนันให้ข้อมูลไปว่าไม่ยอมลงทะเบียนเกษตรกร ไม่ยอมทำอะไร เพราะพื้นที่ของเขาคือพื้นที่ได้รับผลกระทบเสียหายแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถทำอะไรได้ จะไปลงทะเบียนเกษตร ถ้าไม่มีการไถ ไม่มีการหว่าน ข้าวไม่งอกก็ลงทะเบียนเกษตรไม่ได้

ด้าน สำราญ ตุ๋นเจริญ นักปกป้องสิทธิกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวเสริมว่า การจะลงทะเบียนเกษตรได้ก็ต่อเมื่อมีการไถแล้วข้าวงอกจึงจะลงทะเบียนเกษตรกรได้ ส่วนที่บอกว่าเราใส่ร้ายไม่มีแม้กระทั่งภาพถ่ายเกลือ เราก็นำมาให้ดูในวันนี้ เป็นเกลือจากพื้นที่ของพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ ปัญหาหลักคือบอกว่าเป็นการกล่าวหา ซึ่งเราไม่มีเจตนากล่าวหาใคร สิ่งที่เราต้องการที่สุดก็คือได้รับการแก้ไขปัญหา เพราะปัญหาเดิมจากการมีน้ำรั่วซึม หรือปัญหาหลักการขุดเจาะอุโมงค์ในแนวเอียงที่ผ่านมา 3-4 ปี ที่เหมืองเอาน้ำขึ้นมา ทางเหมืองไม่เคยบอกชาวบ้านว่าเอาน้ำที่สูบมาไปไว้ที่ไหน เพราะเหมืองไม่ได้ปูผ้ายาง จน กพร. ต้องไปแจ้งดำเนินคดีไว้ที่ สภ.ด่านขุนทด ตั้งแต่ปี 65 จนตอนนี้ 68 คดียัง ไม่มีความคืบหน้า

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ที่ปรึกษากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า ตอบคำถามว่าทำไมเราถึงไม่สามารถคุยกันได้ เราคิดว่าประเด็นของการพูดคุยมันข้ามขั้นมาแล้ว หนึ่งคือบริษัทไม่เคยยอมรับว่าตัวเองกระทำความผิดแล้วจะเริ่มต้นการคุยได้อย่างไร สองกระบวนการไม่เคยหยุดเพื่อให้เกิดกระบวนการพูดคุย กระบวนการทำเหมืองยังเดินหน้าอยู่เรื่อยๆ แล้วเราจะคุยกันได้อย่างไร สามคือมวลชนสัมพันธ์ของบริษัท การที่เราร้องเรียนให้เกิดการแก้ปัญหาเราหวังให้หน่วยงานรัฐมาเป็นตัวกลาง เพราะเรารู้ว่ามันคือความขัดแย้งแต่สิ่งที่หน่วยงานราชการหน่วยงานรัฐทำตลอดคือโยนไปให้มวลชนสัมพันธ์เหมือง แล้วสุดท้ายเขาก็จะใช้วิธีเดิมๆ ก็คือมาเสนอผลประโยชน์เพื่อให้หยุดกระบวนการต่อสู้ซึ่งไม่ใช่ความต้องการของเรา

อังคณา กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า หลังจากได้ไปดูพื้นที่มาแล้ว กลับไปเราก็คงจะต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กระทรวงมหาดไทย หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ในเรื่องระเบิด เรามา 2 วันแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าในเรื่องระเบิดตกลงกระทรวงมหาดไทยจะว่าอย่างไร ซึ่งหน่วยงานต้นเรื่องบอกว่าเสนอไปแล้ว อีกทั้งคงต้องคุยกับผู้ตรวจการแผ่นดินว่าลงพื้นที่ไปศึกษามาแล้วผลเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นจะจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป



ที่มา:  Protection International (PI)  

สร้างสรรค์โดย
ทีมข่าวเฉพาะกิจ

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

Share

เราใช้คุ้กกี้ 

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookie Policy)

รับทราบ