ผ่านพ้นวันที่ 19 เมษายน 68 วันสุดท้ายของรัฐบาลที่จะลงนามรับซื้อพลังงานหมุนเวียน รอบ 5,200 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งอายุในสัญญาคือ 25 ปี ส่งผลให้ค่าไฟของประชาชนแพงขึ้นกว่าปีละ 3,600 ล้านบาท หรือตลอดสัญญา 25 ปี คิดเป็นเงิน 90,000 ล้านบาท ท่ามกลางต้นทุนของพลังงานลมและแสงอาทิตย์ เทคโนโลยีใหม่ที่ลดลงทุกปี
“ทุกสัญญาที่รัฐบาลลงนามซื้อขายไฟฟ้า จะผูกพันในต้นทุนค่าไฟของประชาชนไปอีก 25 ปี”

สานต่อขบวนการ ค่าไฟแพง ยุคประยุทธ์ ?
นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภโชติ ไชยสัจ 2 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่ตามติดปมค่าไฟแพง เปิดการแถลงข่าวที่รัฐสภา ประเด็นการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ Feed-in Tariff รอบ 5,200 และ 3,600 MW
โดยการรับซื้อพลังงานสะอาด เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2565 จำนวน 5,200 MW และรอบเพิ่มเติมอีกกว่า 3,600 MW ขณะที่การผลิตในส่วนของประเทศไทยล้นอยู่แล้ว มีโรงไฟฟ้าเอกชนกว่าครึ่งหนึ่ง (7 จาก 13 โรงไฟฟ้า) ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลย
ในยุครัฐบาลเพื่อไทย นับตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี มาจนถึงยุค น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนไปแล้ว 70 จาก 83 โครงการ (ยุคเศรษฐา 63 โครงการ ยุคแพทองธาร 7 โครงการ) แม้ในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ แพทองธาร ช่วงปลายเดือน มี.ค.68 จะยืนยันว่ายังไม่ได้มีการลงนามเพิ่มเติมแม้แต่โครงการเดียว
...

ต้นทุนค่าไฟฟ้า กำไรดีสู่เอกชน
ราคาค่าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่รัฐบาลรับซื้อจากเอกชน ในห้วงเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2573 เป็นอัตราคงที่ คือ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) 2.2 บาท/หน่วย และพลังงานลม (Wind) 3.1 บาท/หน่วย และจะคงที่ตลอดสัญญา 25 ปี ท่ามกลางต้นทุนพลังงานที่จะถูกขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลา จึงเป็นกำไรที่ดีของภาคเอกชน
อีกทั้งยังมีข้อพิรุธในการคัดเลือกเอกชน สส.พรรคประชาชนตั้งข้อสังเกตว่ามีการล็อกเกิดขึ้น และยังไม่มีการเปิดประมูล ใช้วิธีคัดเลือกจากดุลยพินิจ จากทุนพลังงาน 35 โครงการ ก็ได้รับการคัดเลือกทั้งหมดแบบ 100% คิดเป็น 41% ของปริมาณที่รับซื้อ หรือ 1,980 MW อีกทั้งยังเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ด้วย
สส.ศุภโชติ ตั้งคำถามถึงรัฐบาลเรื่องนี้ว่า สรุปแล้วเป็นการทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน หรือกลุ่มทุนพลังงานที่ได้สัมปทานที่เอื้อกำไรให้กันแน่?
“กระบวนการทั้งหมดไม่ผิดกฎหมาย เพราะทำตามมติ กพช. เมื่อ 6 พ.ค.65 แต่หากถามความเหมาะสม เราจะเห็นว่ามันไม่ควรเกิดขึ้น รัฐบาลกำลังปล่อยให้มีการทุจริตเชิงนโยบายขึ้นใช่หรือไม่” สส.ศุภโชติ กล่าว

เสนอ “Direct PPA” ขายไฟตรง-ลดภาระ
สส.พรรคประชาชน เสนอแนวคิดการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่ลดการสร้างภาระให้กับคนไทย ด้วยการ “Direct PPA” หรือ Direct Power Purchase Agreement เป็นรูปแบบของสัญญาซื้อขายพลังงานโดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้าถึงผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง เช่น ผู้ให้บริการระบบไฟฟ้า (Utility)
โดยในปัจจุบันนั้น Direct PPA ยังถูกจำกัดไว้เฉพาะบางกลุ่มธุรกิจเท่านั้น ยังไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง ทั้งที่กลุ่มผู้ประกอบการจำนวนมากรอคอยมากว่า 10 ปีแล้ว
สส.พรรคประชาชน ยืนยันว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ให้ซื้อพลังงานสะอาด เพื่อลดคาร์บอน แต่เราต้องดูว่าใครต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และรัฐบาลก็ควรเลือกวิธีที่ไม่เพิ่มต้นทุนค่าไฟจากประชาชน