วันที่ 6 เดือนมีนาคม ค.ศ. 2025 คณะนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ซานฟรานซิสโก (University of California-San Francisco : UCSF) ตีพิมพ์รายงานในวารสาร Cell ความสำเร็จในการพัฒนาระบบทำงานร่วมกันระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ช่วยให้คนป่วยเป็นอัมพาตและพูดไม่ได้ สามารถใช้แขนหุ่นยนต์ “ทำงาน” ตามคำสั่งของสมองได้

“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปดูความก้าวหน้าล่าสุดแบบหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อช่วยคนพิการให้สามารถ “สั่งการ” ร่างกาย โดย “การคิดสั่ง” คือ การใช้ “สมอง” สั่งหรือควบคุมการทำงานของ “อวัยวะเทียม” เช่น แขนหุ่นยนต์ คล้ายกับเรื่องราวของ “มนุษย์ไบโอนิก” (Bionic man) ในภาพยนตร์ซีรีส์โทรทัศน์ดัง Six Million Dollar Man และ Bionic Woman เมื่อทศวรรษปี ค.ศ. 1970 โดยจะไปดูว่า มนุษย์ไบโอนิกของจริง ทั้งกรณีเรื่องที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ และโดยทั่วไป จะ “ใกล้เคียง” กับมนุษย์ไบโอนิกในภาพยนตร์โทรทัศน์หรือไม่? แค่ไหน? และแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

ไปเริ่มกันก่อนกับเรื่องราวที่มาของมนุษย์ไบโอนิก

มนุษย์ไบโอนิก

ในโลกของวิทยาศาสตร์และจินตนาการสำหรับเรื่องของมนุษย์กับหุ่นยนต์โดยทั่วไปมี 2 แบบ คือ หุ่นยนต์มนุษย์ กับ มนุษย์หุ่นยนต์

หุ่นยนต์มนุษย์ คือ หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ เคลื่อนไหว ทำงานได้คล้ายมนุษย์  เป็นเรื่องมีมานานเก่าแก่นับเป็นพันๆปี ดังเช่น ทาโลส (Talos) สร้างโดย ฮีฟีสตัส (Hephaestus) เทพเจ้าแห่งการช่าง ในเทพปกรณัมกรีก ตามคำสั่งของเทพซูส

...

ทาโลส เป็นหุ่นยนต์มนุษย์ขนาดยักษ์ นักดูหนังในยุคซิกตีจะจดจำหุ่นยนต์ทาโลสได้จากภาพยนตร์วีรบุรุษเทพนิยายกรีกโบราณเรื่อง Jason And The Argonauts ออกฉายปีค.ศ. 1963 เป็นเรื่องของเจสันที่เดินทางไปค้นหาขนแกะทองคำ มีเหล่าวีรบุรุษรวมทั้ง เฮอร์คิวลีส ร่วมเดินทางไปด้วย...

แล้วเฮอร์คิวลีสไปขโมยเข็มกลัดขนาดใหญ่เท่าหอกจากห้อง “เก็บสมบัติของพระเจ้า” ทำให้ทาโลสเคลื่อนไหวเพื่อจัดการกับลูกเรือ และทำให้เฮอร์คิวลีสไม่ได้เดินทางไปหาขนแกะทองคำกับเจสันต่อ เพราะเสียใจที่สหายสนิทต้องตายเพราะการกระทำของตน

หุ่นยนต์มนุษย์ มีเรื่องราวมากมาย ทั้งในส่วนของจินตนาการและวิทยาศาสตร์จริง แต่วันนี้ เราจะโฟกัสที่เรื่องของมนุษย์หุ่นยนต์ ตามข่าววิทยาศาสตร์จริงนำเรื่องของเราวันนี้

มนุษย์หุ่นยนต์ อย่างตรงๆ ก็คือ มนุษย์ที่มีบางส่วนของร่างกายเป็นหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกล คำภาษาอังกฤษที่ใช้มี เช่น cybernetic man (มนุษย์ไซเบอร์เนติก) และ cyborg (ไซบอร์ก) แต่ที่ใช้กันมากอย่างติดปากกัน คือ bionic man หรือ bionic woman (มนุษย์ไบโอนิก) ซึ่งหมายถึงมนุษย์มีบางส่วนของร่างกายเป็นอุปกรณ์เครื่องมือ “ก้าวหน้า” มิใช่เป็นเพียงแขนเทียม ขาเทียม หรือตาเทียมที่ช่วยให้ดูเป็นมนุษย์ปกติ แต่ขยับเคลื่อนไหวหรือช่วยในการมองเห็นไม่ได้

ภาพยนตร์เรื่อง Six Million Dollar Man
ภาพยนตร์เรื่อง Six Million Dollar Man

แล้วจึงมาถึง “มนุษย์ไบโอนิก” กับภาพยนตร์ชุดโทรทัศน์ Six Million Dollar Man (จารชนคอมพิวเตอร์) ออกฉายปี ค.ศ. 1973-1978 นำแสดงโดย ลี เมเจอร์ ในบทของนักบินอวกาศนาซาที่ประสบอุบัติเหตุการทดลองบินแล้วถูกซ่อมแซมร่างกายขึ้นใหม่ โดยมีบางส่วนของร่างกายเป็น “หุ่นยนต์คอมพิวเตอร์” มีความสามารถเหนือมนุษย์ทั่วไป โดยนาซาต้องเสีย “ค่าซ่อมแซม” ไปทั้งหมด 6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกนำมาตั้งเป็นชื่อชุด Six Million Dollar Man

ตามมา (เพราะความฮิตของ Six Million Dollar Man) ด้วย “Bionic Woman” มี ลินด์เซย์ แวกเนอร์ เป็น “มนุษย์ไบโอนิกหญิง” ออกฉายปี ค.ศ. 1976-1978

ภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด Six Million Dollar Man สร้างจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง cyborg (ค.ศ. 1972) ของ มาร์ติน ไคดิน (Martin Caidin : ค.ศ. 1927-1997) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน

หลังภาพยนตร์ชุดโทรทัศน์ Bionic Woman ฉบับปี ค.ศ. 1976-1979 ก็มีการสร้างภาพยนตร์ชุดโทรทัศน์ Bionic Woman ขึ้นมาอีก รับบทนำเป็นมนุษย์ไบโอนิกหญิงโดย มิเชล ไรอัน ออกฉายปี ค.ศ. 2007 แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก จึงสร้างออกมาเพียงซีซันเดียว 8 ตอน

ทว่า ถึงแม้ Bionic Woman ฉบับปี ค.ศ. 2007 จะไม่ประสบความสำเร็จในด้านความนิยม แต่ก็ช่วยตอกย้ำให้คำ “มนุษย์ไบโอนิก” เป็นที่คุ้นเคยกันมากขึ้น 

ภาพยนตร์เรื่อง Bionic Woman
ภาพยนตร์เรื่อง Bionic Woman

...

มนุษย์ไบโอนิกคนแรกของโลก

ใครเป็นมนุษย์ไบโอนิกคนแรกในโลกวิทยาศาสตร์ของจริง?

เจสซี ซัลลิแวน (Jesse Sullivan) ช่างไฟฟ้าชาวอเมริกัน ได้ชื่อเป็นมนุษย์ไบโอนิกคนแรก...หรือคนแรกๆ...ของโลกวิทยาศาสตร์จริง

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2001 เจสซี ซัลลิแวน ขณะมีอายุ 54 ปี ประสบอุบัติเหตุถูกไฟฟ้าแรงสูงดูด ทำให้ต้องถูกตัดแขนถึงไหล่ทั้งสองข้าง

ซัลลิแวนได้เข้ารับการรักษาที่สถาบันการพักฟื้นแห่งชิคาโก หรือ อาร์ไอซี (Rehabilitation Institute of Chicago: RIC) โดยในตอนแรก ก็ได้ใส่แขนเทียมแบบดั้งเดิมทั้งสองข้าง แต่ก็เกิดปัญหาเจ็บกล้ามเนื้อไหล่ที่ควบคุมแขนเทียม ซัลลิแวนจึงได้มีโอกาสเป็นมนุษย์คนแรก ที่ได้ใช้แขนไบโอนิกโดยเทคนิคใหม่ของอาร์ไอซี

แต่เป็นการทดลองให้ซัลลิแวนได้ใช้แขนไบโอนิกเฉพาะกับแขนซ้าย ส่วนแขนข้างขวาก็ยังเป็นแขนเทียมแบบเดิม แต่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

ในการใช้แขนไบโอนิกข้างซ้าย คณะแพทย์ย้ายเส้นประสาทควบคุมการทำงานของแขนไบโอนิก จากตำแหน่งเดิมที่ไหล่ ไปอยู่ที่กล้ามเนื้อหน้าอก เพื่ออาศัยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหน้าอก รับคำสั่งจากสมองไปถึงแขนไบโอนิก

หลังการฝึกใช้สมองสั่งแขนไบโอนิก ผ่านกล้ามเนื้อหน้าอก ในที่สุด ซัลลิแวนก็สามารถใช้แขนไบโอนิก (โดยการสั่งหรือคิด) ขยับเคลื่อนไหว โดยมีมือและนิ้วมือ สามารถหยิบแก้วน้ำ เปิดตู้ กินน้ำได้ และต่อๆ มา ถึงปี ค.ศ. 2005 ก็เป็นข่าวดังไปทั่วโลก ในฐานะเป็นมนุษย์ไบโอนิกคนแรก (หรือคนแรกๆ) ของโลก

จากนี้ เราไปดูเรื่องเป็นข่าวล่าสุดเกี่ยวกับมนุษย์ไบโอนิกที่ผู้เขียนขึ้นหัวเป็น “คนอัมพาตใช้แขนหุ่นยนต์ด้วยความคิด” กัน

(ขอบคุณภาพ ucsf )
(ขอบคุณภาพ ucsf )

...

มนุษย์ไบโอนิกอัมพาตใช้แขนหุ่นยนต์ด้วยความคิด

เทคโนโลยีเพื่อพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตของคนพิการวันนี้ เป็นผลงานจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ซานฟรานซิสโก ร่วมกับสถาบันไวล์สำหรับประสาทวิทยา (Weill Institute for Neurosciences) ที่ทำงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อคนมีปัญหาสุขภาพรุนแรง จากความผิดปกติหรือความพิการที่เกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ มาแล้วเป็นเวลายาวนาน

สำหรับผลงานล่าสุดที่ผู้เขียนกำลังนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน เป็นเทคโนปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ที่คณะนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเป็นชาย เป็นอัมพาตจากสาเหตุหลอดเลือดในสมองแตก ทำให้ร่างกายขยับเคลื่อนไหวและพูดไม่ได้

วิธีการที่คณะนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามช่วย คือ สร้างระบบเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ แบบเรียกว่า Brain-Computer Interface (BCI) เพื่อจับสัญญาณจากสมอง ที่พยายามสั่งการผ่านเอไอไปควบคุมการทำงานของแขนหุ่นยนต์

ในขั้นต้น คณะนักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษารูปแบบของสัญญาณสมองในการสั่งร่างกาย เช่น ขยับมือ เคลื่อนไหว พบว่า แต่ละสัญญาณการสั่งมีรูปแบบค่อนข้างคงที่ แต่ “ไม่นิ่งอยู่กับที่” ซึ่งทำให้การทำงานของสมองสั่งการขยับเคลื่อนไหวของแขนไม่ได้คงที่

(ขอบคุณภาพ Noah Berger / ucsf )
(ขอบคุณภาพ Noah Berger / ucsf )

...

คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองศึกษากับสัตว์ทดลอง พบลักษณะรูปแบบของสัญญาณจากสมองในการสั่งการมีรูปแบบชัดเจนเช่นเดียวกับของคน และขยับเคลื่อนที่เช่นเดียวกับที่พบในคน

ในที่สุด คณะนักวิทยาศาสตร์ก็นำผลจากการศึกษาทดลองกับสัตว์ และกับคนป่วยเอง มาปรับปรุงระบบให้คนป่วยทดลองใช้สมอง คือ การคิด สั่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ให้แขนเทียมที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ขยับเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่ได้ผลนัก

คณะนักวิทยาศาสตร์จึงปรับวิธีการใหม่ ให้คนป่วยทดลองใช้ระบบเอไอ ควบคุมการขยับเคลื่อนไหวของ “แขนปรากฏ” หรือ “virtual arm” เพราะสามารถทดสอบ-ปรับปรุงได้ง่ายกว่าทดลองกับแขนคอมพิวเตอร์ของจริง และก็ได้ผล คนป่วยสามารถฝึกการใช้สมอง คิด (สั่ง) ให้ “แขนปรากฏ” ขยับเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นมาก

จนกระทั่งในที่สุด เมื่อคณะนักวิทยาศาสตร์ให้คนป่วยใช้ระบบเอไอ ที่ใช้กับแขนปรากฏ สั่งแขนคอมพิวเตอร์จริง ก็พบว่า คนป่วยสามารถสั่ง คือ คิดให้แขนคอมพิวเตอร์ทำงานตามที่สมองสั่งได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว คือ คล่องขึ้น จนกระทั่งเหมือนกับการสั่งแขนของจริง ให้ขยับเคลื่อนไหว เช่น เปิดตู้เก็บแก้วน้ำ หยิบแก้วน้ำออกมา และกดน้ำจากเครื่องกดน้ำดื่มได้...

และที่น่าตื่นเต้นที่สุด คือ พบว่า แทนที่จะต้องปรับระบบเอไอ ที่เชื่อมต่อกับสมองบ่อยๆ ก็พบว่า ในการปรับเพียงครั้งเดียว คนป่วยก็สามารถใช้แขนคอมพิวเตอร์ทำงานตามสมองสั่งได้นานถึง 7 เดือน แทนที่จะเป็นเพียงหนึ่งหรือสองวันดังในระยะแรกๆ

สำหรับภาพรวมของระบบใช้เอไอช่วยให้สมองสั่งการโดยตรงกับแขนคอมพิวเตอร์ ก็ดูเป็นแบบง่ายๆ คือ มีแผงอิเล็กโทรดติดกับศีรษะคนป่วย เพื่อจับสัญญาณจากสมอง แล้วก็มีสายไฟเชื่อมต่อแผงอิเล็กโทรดไปที่คอมพิวเตอร์เอไอ ซึ่งก็มีสายรับสัญญาณจากคอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อไปที่แขนหุ่นยนต์...

เป็นภาพที่ห่างไกลจาก Six Million Dollar Man และ Bionic Woman ในภาพยนตร์โทรทัศน์มาก... แต่สำหรับมนุษย์ไบโอนิกตัวจริงของเราวันนี้ ถึงแม้จะไม่มีพลังพิเศษเป็นซูเปอร์มนุษย์ไบโอนิก เท่าที่ได้เกิดขึ้น ก็มีความหมายต่อคุณภาพชีวิตของเขาอย่างเกินความคาดหวัง

แนวโน้มอนาคต “มนุษย์ไบโอนิก”

จากเจสซี ซัลลิแวน มนุษย์ไบโอนิกคนแรกที่เป็นข่าวดังเมื่อปี ค.ศ. 2005 ก่อนจะถึงเรื่องราวของมนุษย์ไบโอนิกคนล่าสุดที่เป็นโฟกัสเรื่องของเราวันนี้ ก็มีตัวอย่างของมนุษย์ไบโอนิกที่ “น่าทึ่ง” หลายคน ดังเช่น: -

  • แมททิว เนเจิล (Matthew Nagle) ในปี ค.ศ. 2006 นักศึกษาหนุ่มอเมริกัน เป็นอัมพาตจากการถูกมีดแทงตัดไขสันหลังที่คอ เขาต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต ได้รับการรักษาที่มหาวิทยาลัยบราวน์ ในสหรัฐอเมริกา ใช้ “เบรนเกต” (Braingate) เชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ และก็สามารถใช้สมองสั่งผ่านทางเมาส์คอมพิวเตอร์ ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงาน เช่น เขียนข้อความ ใช้งานอีเมล และอื่น ๆ รวมทั้งสั่งการผ่านทางคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ เช่น เปิด-ปิดโทรทัศน์ได้

    แต่เนเจิลได้ทดลองใช้เบรนเกตเพียงหนึ่งปี ก็ต้องหยุดตามข้อกำหนดสำหรับการทดลองใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อประเมินผลและน่าเสียดายที่เนเจิลเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2007 ขณะมีอายุ 27 ปี สาเหตุจากการบาดเจ็บที่ทำให้เขาต้องเป็นอัมพาต

  • ”แอน” คุณครูจากแคนาดา ป่วยเป็นอัมพาตและพูดไม่ได้ฉับพลันในปี ค.ศ. 2005 จากสาเหตุหลอดเลือดในสมอง (ส่วนก้านสมอง) อุดตัน เธอได้เข้ารับการรักษาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ซานฟรานซิสโก ที่เดียวกับมนุษย์ไบโอนิกของเราวันนี้ และเป็นข่าวดังเมื่อปี ค.ศ. 2023 สามารถใช้ระบบเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ ใช้งานแขนไบโอนิกได้ พิมพ์ข้อความได้ (แม้จะอย่างช้า ๆ เพียง 14 คำต่อนาที) ที่สำคัญ ใช้เอไอแสดงใบหน้าของเธอบนจอคอมพิวเตอร์แสดงความรู้สึก ดีใจ เสียใจ เศร้า และพูดแบบเธอได้
(ขอบคุณภาพ Noah Berger / ucsf )
(ขอบคุณภาพ Noah Berger / ucsf )

นอกเหนือไปจากสามตัวอย่างยกมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านไปแล้ว ก็มีกรณีอื่นๆ อีกที่แสดงถึงพัฒนาการของมนุษย์ไบโอนิกที่น่าทึ่ง

แล้วต่อไปในอนาคตล่ะ?

ประเด็นใหญ่ที่ผู้เขียนมองเห็น มีทั้งส่วนที่ “เกิดขึ้นได้” และคำถาม “จะได้เกิดขึ้นหรือไม่?”

จับส่วนแรกคือ “เกิดขึ้นได้” ก่อน ซึ่งก็คือ การมองพัฒนาการและศักยภาพอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่า วิทยาศาสตร์จะทำอะไรได้ ซึ่งผู้เขียนขอสรุปอย่างชัดๆ และสั้นๆ ว่า:

วิทยาศาสตร์ถึงวันนี้ มีศักยภาพที่จะเดินหน้าสร้างมนุษย์ไบโอนิก แม้แต่ในลักษณะคล้ายแบบซูเปอร์ฮีโรในจินตนาการ คือนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรได้ เพราะวิทยาศาสตร์วันนี้ มีความพร้อม 2 อย่างที่สำคัญ

หนึ่ง คือ ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของสมองและทุกส่วนของร่างกาย

สอง คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่มีศักยภาพจะสร้างหรือทำงานแทนหรือชดเชยส่วนที่ขาด หรือ “ทำงานไม่ได้” ดังเช่น แขน, ขา, ตา, หู, จมูก และอวัยวะภายในร่างกายหลายอย่าง รวมไปถึงการสร้างเสริมการทำงานของสมอง คือ เรื่องความจำ การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว การสังเคราะห์ “คำตอบ” หรือ “ทางออก” ที่เป็นไปได้ และผลที่เกิดขึ้น

แต่การจะเกิดขึ้นหรือไม่ของมนุษย์ไบโอนิกระดับซูเปอร์ฮีโร หรือในระดับที่ไม่ต้องเป็นถึงซูเปอร์ฮีโร ทว่า ให้คนส่วนใหญ่ที่ “จำเป็น” หรือ “สมควร” จะได้รับ มิได้ขึ้นอยู่กับนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น

เพราะถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะมีศักยภาพและความตั้งใจในการเดินหน้าต่อ เพื่อสร้างมนุษย์ไบโอนิก เช่น สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่นักวิทยาศาสตร์จะเดินหน้าโดยลำพังตนเองไม่ได้ เนื่องจากในการเดินหน้าต่ออย่างเต็มที่ ต้องอาศัยทั้งการสนับสนุน ซึ่งอย่างตรงๆ คือ เงินสนับสนุน และต้องทำงานเป็นทีมใหญ่ ดังกรณีของสหรัฐอเมริกา ที่มีเงินทุนสนับสนุนสำหรับโครงการวิจัยและพัฒนามนุษย์ไบโอนิกโดยตรง จากดาร์ปา (DARPA: Defense Advanced Research Projects Agency: สำนักโครงการวิจัยการป้องกันประเทศก้าวหน้า) ของกระทรวงกลาโหม เพื่อช่วยทหารผ่านศึกที่พิการจากการรับใช้ประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในการมองไปในอนาคต ผู้เขียนก็ยังรู้สึก “ค่อนข้างดี” สำหรับเรื่องของเทคโนโลยีไบโอนิกเพื่อการรับใช้มนุษย์ในวงกว้าง...

บางที อาจจะเกิดการค้นพบอย่างก้าวกระโดด ทำให้มนุษย์ไบโอนิกก้าวหน้าและราคาถูก เพื่อคนส่วนใหญ่ที่จำเป็นหรือควรจะมี สามารถเข้าถึงได้เหมือนกับที่คอมพิวเตอร์ได้ก้าวหน้ามาถึงขั้นซูเปอร์มือถือ ที่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร?