พิรุธ "บ.เหล็ก" สร้างตึก สตง. "มูลนิธิบูรณะนิเวศ" ตั้งข้อสังเกตุพบ “ฝุ่นแดง” เกือบครึ่งแสนตัน เกินกว่าปริมาณขอไว้ อาจโยงปมคุณภาพต่ำ นำมาหลอมใหม่ลดต้นทุน
ข้อมูลจากเพจ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) โพสต์ถึงข้อพิรุธ บริษัทผู้ผลิตเหล็ก กรณีเกิดแผ่นดินไหว จนอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ถล่มลง ชื่อของบริษัททุนจีนที่ปรากฏเป็นข่าว และถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง นอกจากบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ยังมีชื่อของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์เหล็กเส้น

โดยเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 และ 32 มิลลิเมตร ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เก็บตัวอย่างมาจากตึก สตง. ทดสอบพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)
จากผลการตรวจพบข้อเท็จจริง ทำให้เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา คณะตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้าตรวจสอบโรงงานซินเคอหยวน ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยตั้งเป้าตรวจสอบใน 2 ประเด็นหลักคือ
...
1. ตรวจสอบว่าเหล็กตกมาตรฐานของบริษัทที่เคยถูกยึดอายัดไว้เดือนธันวาคม 2567 ยังอยู่ครบหรือไม่ 2. บริษัทซึ่งถูกสั่งปิดปรับปรุงตั้งแต่ปลายปีนั้น มีการลักลอบประกอบกิจการหรือไม่
โดยผลการตรวจสอบพบว่า เหล็กของกลางที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดอายัดไว้ยังอยู่ครบถ้วน ไม่มีการเคลื่อนย้าย ส่วนการตรวจในประเด็นที่ 2 ในวันที่ลงตรวจไม่พบการประกอบกิจการ

การที่คณะตรวจการสุดซอยฯ ตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าในโรงงานจากบิลค่าไฟ แม้พบว่า ค่าไฟในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2568 ลดลงอย่างมาก จากค่าเฉลี่ยเดิมที่ประมาณเดือนละ 150 ล้านบาท คงเหลือที่ 1.2 ล้านบาท 0.64 ล้านบาท และ 6.4 ล้านบาท ตามลำดับ แต่ตัวเลขของเดือนล่าสุดยังมีความน่าสงสัย

ฝุ่นแดง อาจมีการสะสมมากกว่าการผลิตเหล็กจริง
ประเด็นกังขาอยู่ที่ “ฝุ่นแดง” ที่ทางบริษัทมีอยู่ในครอบครอง เจ้าหน้าที่ประเมินว่า น่าจะมีจำนวนมากกว่า 43,000 ตัน ขณะที่จำนวนที่บริษัทแจ้งต่อภาครัฐมีเพียง 2,245 ตัน/ปี อีกทั้งในปี 2567 บริษัทฯ ไม่มีการแจ้ง หรือรายงานการกักเก็บฝุ่นแดงแต่อย่างใด
ฝุ่นแดงคือ ฝุ่นที่เกิดจากเตาหลอมเหล็ก ในระดับนานาชาติถือว่าเป็นของเสียอันตรายที่ต้องควบคุมการก่อเกิด การเคลื่อนย้าย และการกำจัดอย่างเข้มงวด เนื่องจากมีส่วนประกอบเป็นโลหะหนักที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
การมีฝุ่นแดงในครอบครองกรณีนี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ในฐานะของเสียจากกระบวนการผลิต เพียงแต่ปริมาณที่แตกต่างมหาศาล จากระดับ 2,000 ตัน กลายเป็น 40,000 ตัน ก่อให้เกิดคำถามใหญ่และสำคัญว่า ฝุ่นแดงส่วนเกินนั้นมาจากไหน และฝุ่นแดงเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในโรงงานของบริษัทในฐานะอะไร เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นข้อพิรุธใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการสืบสวนสอบสวนต่อ

ทีมข่าวสอบถามไปยัง "ฐิติกร บุญทองใหม่" ผู้จัดการแผนงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ข้อมูลว่า จากการลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบกับกระทรวงอุตสาหกรรม พบฝุ่นแดงที่ถูกเก็บไว้ในกระบวนการผลิตเหล็กเส้นจำนวนมาก โดยปีที่แล้วมีการขออนุญาติเพื่อนำฝุ่นแดงออกจากโรงงานกว่า 5 หมื่นตัน/ปี แต่เท่าที่กรมโรงงานตรวจสอบ พบการกักเก็บฝุ่นแดงในพื้นที่กว่า 4 หมื่นตัน จากการปริมาณ ถือว่ามีฝุ่นแดงเกินปริมาณที่ครอบครองได้
...
แม้ผู้ที่ดูแลโรงผลิตเหล็กอ้างว่า ฝุ่นแดงมาจากกระบวนการผลิตทั้งหมด แต่การมีฝุ่นแดงเก็บไว้มากขนาดนี้ ต้องมีกระบวนการผลิตเหล็กเส้นจำนวนมากแค่ไหน ถึงได้ปริมาณมากขนาดนี้ จึงน่าสนใจว่า ฝุ่นแดงอาจไม่ได้มาจากกระบวนการผลิตเหล็กเส้นอย่างเดียว แต่อาจมีการนำฝุ่นแดงนำเข้ามาจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีการตรวจสอบช่องโหว่ที่เกิดขึ้นด้วย
“การประเมินคาดว่า กระบวนการผลิตไม่น่าจะได้ของเสียที่เป็นฝุ่นแดงในปริมาณมากอย่างที่เก็บไว้ คือ มีจำนวนมากเกินความจำเป็น ปกติของเสียจากการผลิตเหล็กในอุตสาหกรรม มีข้อกฎหมายที่กำหนด ห้ามนำออกนอกประเทศ หากเป็นของเสียจากการผลิตในประเทศไหน ควรกำจัดในประเทศนั้น”

โรงงานแห่งนี้ได้ถูกกรมโรงงานเข้ามาตรวจสอบ และให้ปรับปรุงอยู่ช่วงหนึ่ง จึงมีการนำฝุ่นแดงไปขายต่อให้กับบริษัทของชาวจีนกว่า 10 บริษัท
ความน่าสนใจคือ ฝุ่นแดงสามารถนำไปหลอมเป็นเหล็กได้ แต่ไม่บริสุทธิ์ ส่วนคุณภาพความยืดหยุ่น คงทนจะลดลง ซึ่งบางพื้นที่มีการลักลอบนำไปหลอมใหม่ โดยเป็นเหล็กที่ลดคุณภาพลง หรือบางครั้งก็มีการสกัดเอาแร่ที่ปนอยู่ในฝุ่นแดงออกมา ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องมีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป
...
“จริงๆ เราไม่อยากให้มองแค่ประเด็นเรื่องตึกที่ถล่ม แต่อยากให้มีการสาวไปถึงต้นตอ ผู้ผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และเปิดเผยข้อมูลรอบด้านให้กับประชาชนรับทราบ”
ตรวจสอบถุงใส่ฝุ่นแดง หาที่มาชัดเจน
ข้อมูลจากเพจ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ยังตั้งข้อสังเกตุว่า เท่าที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศสังเกตดูกองถุงบิ๊กแบกบรรจุฝุ่นแดงภายในโรงงานของซินเคอหยวน พบว่าลักษณะของถุงมีความแตกต่างกัน ส่วนที่กองอยู่ในฟากหนึ่งเป็นถุงสีขาวออกน้ำตาลที่มีดูหมองและเก่า หลายจุดมีหยากไย่เกาะปกคลุม
ขณะที่อีกฟากมีถุงบิ๊กแบกสีดำที่มีอักษรจีนกำกับ ซึ่งลักษณะดูใหม่กว่า และส่วนใหญ่จะวางทับถุงสีขาวน้ำตาล คล้ายกับว่าถุงเหล่านี้ถูกนำหรือเคลื่อนย้ายเข้ามาทีหลัง
สำหรับถุงบิ๊กแบกสีดำที่มีอักษรจีนเป็นแบบเดียวกับเราเคยพบมาก่อนจากการลงพื้นที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร โดยเป็นถุงบรรจุฝุ่นแดงเช่นเดียวกัน
และเมื่อวานนี้ (3 เมษายน 2568) ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานดีเอสไอรับประเด็นเรื่องฝุ่นแดงกรณีบริษัทนี้ เป็นคดีพิเศษแล้ว
ภาพโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ