‘มิน อ่อง หล่าย’ ถึงไทย ฟังเสียงรอบด้าน ไทยได้หรือเสีย

ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมไทยและเมียนมา 319 องค์กร ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทย ยกเลิกการเชิญ ‘มิน อ่อง หล่าย’ และตัวแทนอื่นใดจากกองทัพเมียนมาเข้าร่วมประชุม ในวันที่ 3-4 เมษายน 2568 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม

อ่าน: ร้องนายก-รัฐบาลไทย ‘หยุดสังฆกรรม’ กองทัพพม่า ขับ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ออกจาก BIMSTEC

ที่สุดแล้ว การเรียกร้องนี้ก็ไม่เป็นผล เมื่อกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาค BIMSTEC ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ในวันศุกร์นี้ และมาเข้าร่วมด้วยตนเองอีกด้วย

ลองมาดูกันว่า แต่ละฝ่ายมีท่าทีอย่างไรกับการมาเยือนของผู้นำทหารคนนี้

ประณามไทย เปิดประตูต้อนรับเผด็จการ

Blood Money Campaign กลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือดในเมียนมา ระบุว่า ในขณะที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ยังหลีกเลี่ยงการเชิญ ‘มิน อ่อง หล่าย’ เข้าประชุม แต่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กลับยอมให้ ‘อาชญากร’ คนนี้เป็นตัวแทนชาวเมียนมาเข้าร่วมประชุม BIMSTEC จริงหรือ?

นอกจากนี้ กลุ่มดังกล่าวยังกล่าวหาว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนกลุ่มทหารเมียนมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านการเงิน การทูต และนโยบาย โดยการเชิญมิน อ่อง หล่ายครั้งนี้ เป็นเหมือนการยอมรับอย่างเป็นทางการ แม้หลายประเทศตะวันตกจะคว่ำบาตรผู้นำทหารคนนี้แล้วก็ตาม


กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โพสต์ประณามรัฐบาลที่เชิญเผด็จการทหารพม่าเข้าประเทศ โดยระบุว่า การเชิญผู้นำเผด็จการเข้าประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุม BIMSTEC ในครั้งนี้ ถือเป็นการทำลายหลักการด้านสิทธิมนุษยชน และคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพควรให้ความสำคัญ และควรยกเลิกการให้ค่ากับเผด็จการที่ฆ่าล้างทำลายชีวิตประชาชน

และจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์เมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งประกอบด้วยกองทัพโกก้าง (MNDAA) กองทัพตะอาง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ได้ประกาศหยุดปฏิบัติการทางทหารเป็นเวลาหนึ่งเดือน แต่กองทัพพม่าฉวยโอกาสในขณะที่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ปฏิเสธการหยุดยิงในครั้งนี้

ฉะนั้น เมื่อรัฐบาลไทยเดินหน้าเจริญสัมพันธ์กับเผด็จการฆาตกร จึงสมควรถูกประณามจากการกระทำอันไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี ทั้งที่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่กลับคบค้าสมาคมกับเผด็จการ โดยไม่ตระหนักว่าสิ่งนี้เป็นบาดแผล และคล้ายกับสิ่งที่พรรคแกนนำรัฐบาลเคยประสบมาในปี 2549 - 2557

กลุ่มปกป้องประชาธิปไตย Defend Myanmar Democracy ในเมียนมา ก็ได้ออกมาโพสต์แสดงความผิดหวัง ระบุว่า ขณะที่ประชาชนชาวไทยเองก็ไม่ต้อนรับ มิน อ่อง หล่าย ชายที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางอากาศ การฆ่า และความโหดร้ายนับไม่ถ้วนในเมียนมา แต่รัฐบาลไทยและ BIMSTEC กลับเปิดประตูต้อนรับเสียเอง

อย่างไรก็ดี หากมองในมุมของรัฐบาล การจะทำตามข้อเรียกร้องนั้นก็ไม่ง่าย เพราะการประชุม BIMSTEC หรือ ‘ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ’ มีความสำคัญหลายด้านต่อไทย โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการขนส่งและความมั่นคงทางทะเล ซึ่งเป็นประหลัก โดยอินเดียเองก็ให้น้ำหนักกับนโยบายปฏิบัติการมุ่งสู่ตะวันออกและมองมาที่เมียนมาและไทยอีกด้วย

ระวัง BIMSTEC กลายเป็นเครื่องมือฟอกตัว

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวชายขอบว่า การเชิญมิน อ่อง หล่ายมาไทย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีของรัฐบาลไทยที่กรุงเทพและรัฐบาลพม่าที่เนปีดอว์ และเปิดช่องให้ไทยสามารถเชื่อมต่อไปยังศูนย์กลางอำนาจที่เนปีดอว์โดยตรง เช่น การกรณีการปล่อยตัวลูกเรือไทย ก็เป็นผลมาจากความสัมพันธ์นี้

แต่ข้อควรระวังคือ หากในเวที BIMSTEC มีการสะท้อนว่าไทยให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์ของมิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาล พล.อ.มิน อ่อง หล่ายในการหาความชอบธรรม ก็อาจถูกครหาและถูกมองในแง่ลบ จากฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร กลุ่มสิทธิมนุษยชน และนานาชาติ

อย่างไรก็ดี อาจารย์ดุลยภาคมองว่า การประชุมครั้งนี้แตกต่างจากการประชุมอาเซียน ที่มี Code of Conduct กีดกันตัวแทนรัฐบาลทหารพม่า ไม่ให้มาร่วมวงการทูตอาเซียน แต่วงนี้ไม่มีข้อจำกัดนั้น และไม่มีการตกลงหรือมีข้อห้ามว่าทหารพม่าเข้ามาไม่ได้ ซึ่งเป็นคุณต่อ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เพราะการเข้ามาในวงนี้ช่วยสานความสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ ให้ recognize ทางอ้อมในการสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐบาลพม่า ดังนั้นวงประชุมนี้จึงมีประโยชน์ต่อ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย

ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้ให้ข้อสังเกตต่อสำนักข่าวชายขอบว่า การที่มิน อ่อง หล่ายเข้าร่วมประชุมในไทย จะทำให้ไทยตกเป็นเป้าการวิจารณ์แน่นอน แต่ในฐานะเจ้าภาพการประชุม การจะยกเลิกการเชิญก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ ไทยจะกำหนดท่าทีอย่างไร หากไทยแสดงท่าทีปกป้องผู้นำทหารเมียนมา เราก็อาจกลายเป็นจำเลยไปด้วย

มากกว่านั้น ไทยควรกำหนดท่าทีที่ชัดเจนถึงจุดยืนในสถานการณ์เมียนมา โดยเฉพาะการให้กองทัพยุติปฏิบัติการทหาร เพื่อทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งรัฐบาลไทยควรแสดงออกและเรียกร้องอย่างชัดเจน ว่าปฏิบัติการทหารจะต้องหยุด อย่างน้อยยุติเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการปูทางสำหรับการผลักดันเวทีสันติภาพเมียนมาร์ที่จะเกิดในอนาคต มิเช่นนั้น การประชุม BIMSTEC จะถูกมองเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างภาพฟอกตัวให้กับผู้นำทหาร

ที่มา:

สร้างสรรค์โดย
ทีมข่าวเฉพาะกิจ

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

Share

เราใช้คุ้กกี้ 

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookie Policy)

รับทราบ