เสียงอ้อนวอนจากคนงานก่อสร้าง ในวันที่คนรักสูญหาย ชีวิตยังไม่รู้จะไปทางไหน

หลังเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่มได้ 1 วัน (29 มี.ค. 68) บรรยากาศในแคมป์คนงานก่อสร้างแห่งหนึ่ง ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์อยู่ในสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ หนึ่งในคนงานก่อสร้างชาวไทย กล่าวพร้อมน้ำตาว่าเขาเดินทางไปที่ซากอาคารทุกวัน เพราะเขารู้ว่าภรรยาของเขาอยู่ที่นั่น

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน ให้ข้อมูลหลังจากลงพื้นที่ในแคมป์ก่อสร้างแห่งนี้ว่าแรงงาน 15 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ร่วมกัน พวกเขาเหลือหม้อหุงข้าวแค่เพียง 1 ใบ เนื่องจากคนงานก่อสร้างมักจะหิ้วหม้อหุงข้าว และของใช้ส่วนตัวต่างๆ ไปสถานที่ทำงานในไซต์งานก่อสร้างด้วย เหตุการณ์อาคารถล่มโดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้ทุกคนวิ่งหนีเอาชีวิตรอด โดยทิ้งข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมดภายใต้ซากปรักหักพังของอาคาร

1 วันให้หลังจากที่สุธาสินีส่งสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตให้แรงงานกลุ่มนี้ เธอพบว่าแรงงานเกิดความกังวลว่าการเข้ามาของเธอ จะทำให้พวกเขามีปัญหากับทางนายจ้าง อย่างไรก็ดีในวันที่ 1 เม.ย. 68 มีแรงงานภายในแคมป์ก่อสร้าง 2 คน ตัดสินใจหอบหิ้วเอกสารของเพื่อนร่วมงานที่สูญหายไปทั้งหมด 11 คน เดินทางไปพบกับตัวแทนของกระทรวงแรงงาน ที่เปิดศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือแรงงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ฝั่งตรงข้ามกับอาคารที่ถล่มลงมา เพื่อขอความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของเพื่อนร่วมงานที่สูญหาย และไม่มีบุคคลรับรอง รวมทั้งในเรื่องของสิทธิแรงงานที่พวกเขามีโอกาสที่จะตกงาน

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน  / ภาพ:ณฐาภพ สังเกตุ

ร้องขอพบหน้าเพื่อนผู้เสียชีวิต

ภายในศูนย์ประสานงานที่มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน 3 คน พร้อมล่ามอีก 1 คนให้บริการ มิน เท็ต และ จอ ซิน (ใช้นามสมมุติเพื่อความปลอดภัยของตัวแรงงาน) ได้หยิบเอกสารปึกใหญ่ออกมาจากกระเป๋าสะพายที่เป็นเอกสารเพื่อนร่วมงานทั้ง 11 คนของเขาที่สูญหายไป

ทั้งสองกล่าวว่า บริษัทนายจ้างของเขานั้นมีแรงงานก่อสร้างที่เข้าไปทำงานก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทั้งหมด 62 คน มีคนที่สูญหาย 11 คน ซึ่งตอนนี้ได้พบศพแล้ว 3 คน

“พวกผมไม่มีโอกาสเห็นหน้าร่างที่ถูกเก็บกู้ออกมาเลย แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าใช่หรือไม่ใช่เพื่อนของพวกผม”

ชาวเมียนมาที่มารอผู้สูญหาย / ภาพ:ณฐาภพ สังเกตุ

มิน เท็ตกล่าวผ่านล่ามไปยังตัวแทนของกระทรวงแรงงาน เขาแสดงความประสงค์อยากเห็นร่างคนที่ช่วยเหลือออกมาได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นเพื่อนร่วมงานของเขา และเพื่อแจ้งกับทางครอบครัวของผู้เสียชีวิต

ทางด้านตัวแทนจากกระทรวงแรงงานได้ชี้แจงว่า เนื่องจากภายหลังการนำร่างออกมาได้แล้ว จำเป็นต้องมีขั้นตอนการพิสูจน์อัตลักษณ์ รวมทั้งข้อมูลของนายจ้างเพื่อให้ข้อมูลสอดคล้องกันทั้งหมด ทางกระทรวงฯ จึงอยากขอความร่วมมือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตรอการพิสูจน์ให้แน่ชัดเสียก่อน

นอกจากนี้ทางมิน เท็ตและจอ ซิน ยังแสดงความเป็นกังวลว่า ผู้สูญหายและเสียชีวิตที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ ผู้รับมอบอำนาจตามกฎหมายไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองไทย เช่น บิดาหรือมารดา รวมทั้งสามีหรือภรรยาที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเอกสารใบสำคัญสมรส ทำให้ยากต่อการขอความช่วยเหลือและรับการเยียวยา

“พวกผมจะสามารถขอใบมอบอำนาจจากพ่อแม่ของพวกเขามาได้ไหม” จอ ซิน ถามทางตัวแทนกระทรวงแรงงาน “ถ้าพ่อแม่ของพวกเขามาไม่ได้จากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาตอนนี้ จะสามารถให้ญาติที่อยู่ใกล้ที่สุดเขียนใบมอบอำนาจมาได้ไหม”

ปัญหาที่แรงงานก่อสร้างกลุ่มนี้ประสบอยู่คือ การที่พวกเขาเดินทางไปยังสถานีตำรวจหรือโรงพยาบาล เพื่อแจ้งว่าเป็นเพื่อนร่วมงานของผู้เสียชีวิตหรือสูญหาย แต่ทางการจำเป็นต้องให้ญาติพี่น้องผู้มีอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น ที่จะสามารถเป็นคนดำเนินเรื่องได้ แต่วิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่นั้น พวกเขามักเดินทางเข้ามาทำงานตัวคนเดียว ในขณะที่ครอบครัวยังคงอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา

อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานยังไม่มีข้อสรุปหรือมาตรการในการช่วยเหลือ ในกรณีที่แรงงานที่เสียชีวิตไม่มีญาติพี่น้องอยู่ในประเทศไทย ทางด้านสุธาสินีได้เสนอว่า เงื่อนไขปกติของกฎหมายตอนนี้ เป็นปัญหาต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเรื่องรับเงินชดเชยจากกองทุนทดแทน (สำนักงานประกันสังคม) อย่างแน่นอน เพราะสิทธิประโยชน์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีที่แรงงานเสียชีวิตหรือสูญหาย ต้องเป็น บิดา มารดา และภรรยาที่จดทะเบียนสมรส และทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

รวมทั้งเงื่อนไขพิเศษที่สำนักงานประกันสังคมตั้งขึ้นมาสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารการเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน วีซ่า และข้อมูลนายจ้างต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่แรงงานไทยสามารถยื่นได้โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนแค่เพียงใบเดียว ดังนั้นจึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทั้งตัวแรงงานข้ามชาติ หรือทายาทมีโอกาสเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากกองทุนเงินทดแทนได้อย่างแท้จริง

ชาวเมียนมาที่มารอผู้สูญหาย / ภาพ:ณฐาภพ สังเกตุ

ความกังวลของแรงงาน สิทธิ-อนาคต

“ตอนนี้พวกผมต้องหยุดงานแบบนี้ พวกผมสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง”

มิน เท็ตกล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. เป็นต้นมาพวกเขาถูกให้หยุดทำงานอย่างไม่มีกำหนด ทั้งยังแสดงความไม่มั่นใจว่าตนเองอยู่ในระบบประกันสังคมหรือไม่ พวกเขารู้เพียงว่าในทุกๆ เดือนนายจ้างจะหักเงินค่าจ้างส่วนหนึ่งของพวกเขาไป โดยมินเท็ตได้แสดงบัตรประกันอุบัติเหตุเอกชนที่นายจ้างระบุว่า สำหรับใช้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับประกันสังคม

“พวกผมทำ MOU กับมี CI ถูกต้องทุกอย่าง”

โดย MOU ที่พวกเขากล่าวถึงนั้นหมายถึง สถานะความร่วมมือด้านการจ้างงานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม) ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าพวกเขาเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้ง CI คือ หนังสือรับรองสถานะบุคคล เป็นเอกสารที่แสดงการรับรองสัญชาติเมียนมา

โดยกระทรวงแรงงานได้ตอบคำถามนี้แก่ มิน เท็ตและจอ ซิน ว่าในกรณีที่พวกเขาประสงค์ที่จะทำงาน

แต่นายจ้างไม่มีงานให้ทำ ถือว่าเป็นสิทธิของแรงงานในการได้รับค่าจ้างตามปกติ โดยถ้าหากนายจ้างไม่จ่ายเงินสามารถมาเขียนคำร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ รวมทั้งการเปลี่ยนนายจ้างจะกระทำได้ต่อเมื่อ นายจ้างเลิกจ้างหรือเสียชีวิต, นายจ้างกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกาย, นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างงาน, นายจ้างล้มละลายหรือหยุดกิจการ, สภาพการทำงานไม่ปลอดภัย, และนายจ้างใหม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้นายจ้างเดิม เท่านั้น

โดยทางมิน เท็ต แสดงความเป็นกังวลต่อว่าหากนายจ้างของเขาไม่ได้นำพวกเขาเข้าสู่ระบบประกันสังคม จะทำให้เพื่อนร่วมงานของเขาที่เสียชีวิตได้รับเงินชดเชยหรือไม่

ซึ่งทาง สมศักดิ์ พรหมดำ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ที่ได้เดินทางลงมายังพื้นที่ก็ได้ให้ความมั่นใจกับกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบว่า ‘หากพวกเขาเป็นคนงานที่ทำงานอยู่ภายในอาคารดังกล่าว’ ทางกระทรวงแรงงานจะเข้าไปดูแล

สมศักดิ์ พรหมดำ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน / ภาพ:ณฐาภพ สังเกตุ

ทางด้านสุธาสินีที่ทำงานคลุกคลีกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติมาเป็นเวลานาน ก็ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า นอกจากรายชื่อแรงงานที่ทำงานกับผู้รับเหมาในอาคารดังกล่าวที่เปิดเผยออกมาแล้ว เธออยากให้ทางกระทรวงแรงงานตรวจสอบ กลุ่มคนงานที่ทำงานรับจ้างรายวันที่ไม่ได้มีนายจ้างประจำ ซึ่งสุธาสินีคาดการณ์ว่าจำนวนรายชื่อของผู้สูญหายอาจจะมีมากกว่า โดยทางตัวแทนกระทรวงแรงงานก็ได้ตอบกลับว่า ตอนนี้ได้เรียกนายจ้างที่เป็นผู้รับเหมาทั้งหมดในอาคาร เข้ามาพูดคุยรายละเอียดแล้ว

สุขภาพจิตแรงงาน ไม่อาจมองข้าม

ฝั่งตรงข้ามกับบริเวณอาคารที่ถล่มลงมา ครอบครัวของผู้สูญหายจำนวน 4-5 ครอบครัว ยังคงเฝ้ารอผู้สูญหายอยู่ทุกวัน ครอบครัวหนึ่งเดินทางมาจาก จ.เพชรบูรณ์ พวกเขาเล่าว่ามีสมาชิกในครอบครัว 1 คน ทำงานเป็นช่างไฟอยู่ภายในอาคารที่ถล่มลงมา พวกเขามาเฝ้ารอตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา จนกระทั่งวันนี้เวลาผ่านไป 5 วันแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันร่างของผู้สูญหาย

ในอีกมุมหนึ่งสุธาสินี แสดงความเป็นกังวลต่อสภาพจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ เธอเล่าประสบการณ์ที่เธอเดินทางเข้าไปเยี่ยมแรงงานในแคมป์งานก่อสร้างว่า มีชายคนหนึ่งที่ภรรยาติดอยู่ภายใต้ซากของอาคารอยู่ในสภาวะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ในขณะที่ตัวหัวหน้างานออกเดินทางไปยังบริเวณอาคารที่ถล่มทุกวัน เพื่อรอคอยเพื่อนร่วมงานของเขา

“เราลองนึกภาพคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เห็นอาคารถล่มและคนที่เขารักอยู่ในนั้น เราเป็นห่วงเรื่องสุขภาพจิตของแรงงานกลุ่มนี้ มันคือความรุนแรงทางจิตใจที่พวกเขาต้องเผชิญ”

ภาพ: ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์

สุธาสินีกล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือแรงงานกลุ่มนี้ ภาครัฐและภาคประชาสังคมต้องทำงานร่วมกันให้ได้มากยิ่งขึ้น แต่อัปเดตสถานการณ์ล่าสุดพบว่าในวันนี้ (2 เม.ย. 68) มีการเคลียร์พื้นที่บริเวณศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือแรงงาน ทำให้เกิดความสับสนและยังไม่มีคำตอบสำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือว่าพวกเขาจะไปร้องเรียนที่ใด

สุธาสินีให้ข้อเสนอว่า ภาครัฐควรมีจุด One stop service ที่หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงแรงงาน, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (แรงงานบางส่วนเอกสารสูญหายระหว่างเกิดอุบัติเหตุ), กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งภาคประชาสังคมที่มีนักกฎหมายและล่าม ที่สามารถคอยสนับสนุนงานของภาครัฐ นอกจากนี้ควรมีการพูดคุยสามฝ่ายให้นายจ้าง ลูกจ้างที่อยู่ไซต์งาน และกระทรวงแรงงานเพื่อช่วยเหลือและให้ข้อมูลแก่แรงงานกลุ่มนี้ให้สามารถผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้



สร้างสรรค์โดย
ทีมข่าวเฉพาะกิจ

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

Share

เราใช้คุ้กกี้ 

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookie Policy)

รับทราบ