จากกรณีแผ่นดินไหวเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่แรงสั่นสะเทือนรุนแรงมาถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย ส่งผลให้มีอาคารพังถล่ม ตึกและบ้านเรือนจำนวนมากมีรอยแตกร้าว จนหลายคนเป็นกังวลว่าอาคารบ้านเรือนในประเทศไทยของเราแข็งแรงมากแค่ไหน และหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีกจะรับมือได้ไม่พังถล่มลงมาหรือไม่

กฎหมายเกี่ยวกับการสร้างอาคารต้านแรงแผ่นดินไหว 

หากตรวจสอบกฎหมาย พบว่า ประเทศไทยมี “กฎกระทรวง” อยู่ 3 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการสร้างตึกเพื่อรับมือแผ่นดินไหวขนาด 7 - 7.5 

ฉบับแรกคือปี 2540 บังคับให้อาคารสูงเกิน 15 เมตร หรือประมาณ 5 ชั้นขึ้นไป ใน 10 จังหวัดเสี่ยงที่อยู่ใกล้รอยเลื่อน ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน, กาญจนบุรี ต้องออกแบบให้ทนแผ่นดินไหวได้ 

ฉบับต่อมา ปี 2550 ขยายพื้นที่บังคับเพิ่มใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร เพราะแม้จะอยู่ห่างไกลรอยเลื่อน แต่ดินบริเวณนี้ค่อนข้างนุ่ม จึงอาจได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนได้

ฉบับล่าสุด 2564 ยกเลิกฉบับเก่าและปรับปรุงใหม่ทั้งหมด โดยแบ่งโซนความเสี่ยงใหม่เป็น 3 ระดับ ครอบคลุม 40 จังหวัด แบ่งเป็นโซนเสี่ยงน้อย ปานกลาง เสี่ยงสูง ซึ่งฉบับนี้ไม่ได้บังคับแค่ตึกสูง แต่รวมถึงตึกอื่นๆ ที่มีคนอยู่มาก และบ้านจัดสรรบางแห่งด้วย

สำหรับอาคารในกรุงเทพฯ ต้องรับแรงสั่นสะเทือนที่มากระแทกอาคารได้ คิดเป็นสัดส่วน 4-12% ของน้ำหนักอาคาร ส่วนอาคารในจังหวัดกาญจนบุรีและภาคเหนือ ต้องรับแรงสั่นสะเทือนคิดเป็นสัดส่วน 4-15% ของน้ำหนักอาคาร เพราะอยู่ใกล้ศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า

...

กล่าวโดยสรุปคือ ตึกเก่าที่สร้างก่อนปี 2540 ในพื้นที่ภาคเหนือ และสร้างก่อนปี 2550 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโอกาสเสี่ยงที่จะไม่ทนต่อแผ่นดินไหวมากกว่า เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับ 

เปิดแนวทางเสริมความแข็งแรงให้ตึกเก่า รับมือแผ่นดินไหว

แนวทางการเสริมอาคารเก่า รับมือแผ่นดินไหว 

อย่างไรก็ดี เราสามารถปรับปรุงอาคารเก่าให้มีความแข็งแรง รับมือกับแผ่นดินไหวได้หลายวิธี โดย ดร.ภาณุมาศ ไทรงาม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างอาคารต้านทานแผ่นดินไหว เคยให้ข้อมูลถึงกรณีอาคารเก่าว่า ในหลักการของทางวิศวกรรม อาจจะต้องทำการวิเคราะห์ก่อนว่าอาคารรับแรงแผ่นดินไหวได้หรือไม่ หากไม่ได้จะทำการเสริมกำลังอาคาร ดังนี้ 

1.เสริมคอนกรีตและเหล็กเสริมที่เสาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม (Concrete jacketing) เป็นวิธีการเสริมแรงแบบดั้งเดิม เหมาะสำหรับอาคารที่ต้องการเสริมความแข็งแรง โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญในงานก่อสร้างด้านการเสริมกำลังด้วยโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก 

2.เสริมกำลังด้วยแผ่นเหล็กที่เสา (Steel jacketing) แทนการเอาเหล็กเสริมและคอนกรีตเข้าไปพอกที่เสาเพียงอย่างเดียว จะทำให้อาคารมีการรับแรงด้านข้างได้มากขึ้น  เหมาะสำหรับอาคารที่ต้องการเสริมความแข็งแรงของอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหว โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้างงานด้านการเสริมกำลังด้วยโครงสร้างเหล็ก 

3.เสริมกำลังโดยให้กำแพงสามารถรองรับแรงเฉือน (Shear wall) คือใส่เหล็กเพื่อช่วยรับแรงด้านข้างดังกล่าว หรือเรียกว่าเป็น ผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก กำแพงแบบนี้จะไม่มีโครงสร้างเสาคานให้เห็น ซึ่งเกิดจากการออกแบบให้รับน้ำหนักแทนเสาและคาน ผนังแบบนี้แข็งแรงกว่าผนังก่ออิฐฉาบปูน แต่มีข้อเสียตรงที่เราไม่สามารต่อเติม หรือเจาะผนังได้ เพราะจะเกิดความเสียหาย

4.เสริมกำลังด้วยโครงแกงแนง (Bracing) ใช้เหล็กแท่งเสริมเข้าไประหว่างเสา 2 ต้น เพื่อเพิ่มการรับแรงกระทำจากด้านข้าง การยึดรั้ง และเพิ่มเสถียรภาพและความแข็งแรงทางด้านข้าง 

เปิดแนวทางเสริมความแข็งแรงให้ตึกเก่า รับมือแผ่นดินไหว

ขณะที่ รศ.อาคันชู ชาร์มา คณะวิศวกรรมโยธาและการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเพอร์ดู สหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า อาคารมากกว่า 50% ทั่วโลกไม่ได้ถูกออกแบบให้ทนทานต่อแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา จำนวนอาคารที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวอาจสูงถึง 90% แม้แต่แผ่นดินไหวขนาดเล็กก็อาจนำไปสู่ความเสียหายอย่างมากหรือการพังทลายทั้งหมดของโครงสร้างเหล่านี้ได้

...

ขณะนี้ที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเพอร์ดูกำลังคิดค้น "ฮันช์" (haunches) หรือการเสริมเหล็กที่สามารถติดตั้งในอาคารเก่าเพื่อเสริมโครงสร้าง จุดเชื่อมต่อหรือจุดต่อคานเสา เมื่อเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวจะสามารถปกป้องข้อต่อและถ่ายโอนแรงรอบ ๆ ข้อต่อ ไปทำให้เกิดความเสียหายในส่วนอื่นแทน ป้องกันการพลังทลายแบบเปราะ (Brittle Fracture) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน จนไม่สามารถอพยพออกมาได้ทัน ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น จะนำวิธีการก่อสร้างนี้ไปใช้จริงอาจเริ่มได้ภายใน 1-2 ปี 

...