วันนี้ (31 มีนาคม 2568) มีรายงานอาคารหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร มีการสั่นไหว สั่งอพยพเจ้าหน้าที่และประชาชนออกมาด้านนอก ข้อมูลล่าสุด ณ เวลา 12.15 น.มีที่ใดบ้าง ไทยรัฐออนไลน์ รวบรวมให้
1.ศาลยุติธรรม-ศาลอาญา รัชดาภิเษก
เวลาประมาณ 09.25 น.เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลยุติธรรม แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพ อพยพลงจากอาคารสำนักงานศาลยุติธรรม ความสูง 27 ชั้น หลังจากพบว่าตัวอาคารรู้สึกถึงการสั่น
ส่วนอาคารศาลแพ่ง ศาลอุทธรณ์ และอาคารศาลอาญา เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนย้ายคนออกมาด้านนอกเช่นกัน เนื่องจากรับรู้ถึงแรงการสั่นของตัวอาคาร ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีความต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว ต่อมาประมาณ 10.00 น. สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่และคู่ความจะขึ้นไปยังห้องพิจารณาคดีศาลอาญาตามปกติ
จากนั้นเวลา 11.30 น. สำนักงานศาลยุติธรรมได้ชี้แจง ระบุว่า
“ตามที่เกิดความตระหนกและเข้าใจคลาดเคลื่อนในความปลอดภัยของตัวอาคารสำนักงานศาลยุติธรรมและศาลในพื้นที่ ถ.รัชดาภิเษก สำนักงานศาลยุติธรรมขอเรียนว่า จากการตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดปกติของระบบต่าง ๆ ภายในอาคาร รวมถึงความแข็งแรงของตัวอาคารด้วย"

...
2.ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ หรืออาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการสำคัญหลายหน่วยงาน อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลแขวงดอนเมือง ศาลล้มละลายกลาง กรมคุมประพฤติ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ
เจ้าหน้าที่บางคนระบุว่า บางจุดของตัวอาคารเกิดเสียงดังแกรก พร้อมกับมีเศษปูนร่วงลงมา และมีรายงานว่าอาคารเอ ฝั่งศาลล้มละลายกลางมีความทรุดและเอียง จึงมีประกาศเสียงตามสายให้ทุกคนออกจากตัวอาคารทั้งหมด
ต่อมา 10.00 น. เบื้องต้นวิศวกรตรวจสอบพบเป็นรอยแยกเดิม ล่าสุด 11.00 น. สถานการณ์ปกติ มีประกาศแจ้งให้เข้าใช้งานในอาคารได้

3.ธนาคารอาคารสงเคราะห์
เมื่อเวลา 10.30 น. มีรายงาน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานใหญ่ ถ.พระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ได้รับแรงสั่นสะเทือนที่ชั้น 9 ของอาคาร 2 ทำให้มีการสั่งอพยพออกจากตึก โดยจะตรวจสอบจำนวนพนักงานและให้กลับบ้านโดยทันที
ต่อมาฝ่ายประชาสัมพันธ์ ธอส. ได้ชี้แจงว่า
“เมื่อเวลาประมาณ 10.38 น. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานใหญ่ รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่ชั้น 17 ของอาคาร 2 สำนักงานใหญ่ จึงได้ประกาศใช้แผนฉุกเฉินทางธุรกิจ (ERP) กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำการอพยพลูกค้าและพนักงานธนาคารลงมายังจุดรวมพลด้านนอกทั้งหมด ตามขั้นตอนอย่างปลอดภัย โดย ธอส. ให้ความสำคัญสูงสุดกับลูกค้าและพนักงานทุกท่าน ทั้งนี้ ธอส. อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์เพื่อประกาศให้ลูกค้าและพนักงานได้ทราบต่อไป”
4.โรงพยาบาลตำรวจ
เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. โรงพยาบาลตำรวจ ถ.พระราม 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ได้อพยพคนลงจากอาคาร เนื่องจากได้รับแจ้งว่าอาคารมีการสั่นไหว
ก่อนที่ พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ รองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ได้ประกาศเสียงตามสายว่าไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น ขอให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ขออภัยในความไม่สะดวก และขออภัยพี่น้องประชาชนทุกท่าน
พล.ต.ต.สามารถ กล่าวว่า ตนเองตรวจสอบแล้วไม่มีคำสั่งอพยพ และยังไม่มีการย้ายคนไข้ทั้งสิ้น โดยเมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา โยธาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และวิศวกรรมสถานมีการตรวจสอบโครงสร้างทั้งโรงพยาบาล มีรอยร้าวบ้างจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่ไม่สะเทือนโครงสร้าง ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ายังเปิดใช้บริการได้ จึงขอว่าอย่าตื่นตกใจ เช็กข่าวให้ชัวร์ก่อน
ขณะเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับ รพ.ตำรวจ มีข้าราชการตำรวจรับรู้ถึงแรงสั่นไหว เวียนหัว แต่ยังไม่มีคำสั่งอพยพลงจากอาคารแต่อย่างใด

...
5.กระทรวงแรงงาน
มีรายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น.เศษ ที่กระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ อาคาร 15 ชั้นซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมต่างๆ มีการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน จึงประกาศให้เจ้าหน้าที่ทุกชั้นอพยพออกมาด้านนอกอาคาร และให้เจ้าหน้าที่กลับไปทำงานจากที่บ้าน ให้บริการผ่านระบบออนไลน์แทน
โดยก่อนหน้านี้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 28 มี.ค. พบว่าชั้น 15 มีรอยร้าวเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ชั้น 15 ทำงานจากที่บ้านไปก่อนหน้าแล้ว
ล่าสุด 11.53 น.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความกรณีที่มีการอพยพออกจากตึกว่า ขณะนี้ได้ตรวจสอบกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า
1. ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานไม่มีแผ่นดินไหวในประเทศไทย และ aftershock จากเมียนมา ไม่กระทบต่อประเทศไทยใด ๆ ทั้งสิ้น
2. รอยร้าวที่เกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้เจ้าของตึกสั่งอพยพ เริ่มมีรายงานว่าเป็นรอยร้าวเดิม จึงขอยืนยันคำสั่งเดิมจากท่านผู้ว่าฯ ให้เจ้าของตึกเร่งตรวจตึก เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเป็นรอยเก่า รอยเดิม หรือรอยใหม่ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้อง
3. ขอให้เจ้าของอาคารเร่งตรวจสอบตึกให้เกิดความแน่ใจก่อนการเปิดให้ใช้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ทำงานหรือผู้พักอาศัย โดยหากไม่แน่ใจ ให้สอบถามไปยังกรมโยธาธิการ และ ปภ. เพื่อเข้าร่วมตรวจสอบตึก
4. การอพยพของแต่ละตึกขอให้เป็นคำสั่งที่ชัดเจนและได้ตรวจสอบข้อมูลจากทางราชการ
ขอยืนยันว่า ขอให้รอข่าวจากทางการจะเป็นข่าวที่ได้รับการรับรองว่าถูกต้อง และไม่เกิดการสร้างความกังวลหรือตื่นตระหนกระหว่างพี่น้องประชาชน