เตือน “พายุฤดูร้อน” 6 - 8 มี.ค.นี้ ลมแรง-ฝนตกชุก กรมอุตุฯ ชี้ภาคตะวันออก เช่น สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เสี่ยงเกิดความเสียหายสูงสุด คาดปีนี้พายุฤดูร้อนเกิดขึ้นมากตลอดปี
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน "พายุฤดูร้อน" บริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงวันที่ 6 - 8 มี.ค.นี้ โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ เนื่องจากมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
ด้วยสภาวะโลกร้อน ทำให้ปีนี้ไทยได้รับผลกระทบ คาดว่าจะมีพายุฤดูร้อนเกิดถี่กว่าปีก่อน "สมควร ต้นจาน" ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายุฤดูร้อนที่เกิดช่วงวันที่ 6 - 8 มี.ค.นี้ ทำให้เกิดพายุฝนรุนแรงบางพื้นที่ และถือเป็นพายุฤดูร้อนช่วงที่สองของปี หลังจากที่เดือนก่อนหน้านี้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งคาดการณ์การเคลื่อนไหวของพายุฤดูร้อนมีด้วยกันดังนี้

...
วันที่ 6 มี.ค.68 ช่วงเย็น พายุฤดูร้อนเริ่มก่อตัวและทำให้เกิดฝนตกหนักบางพื้นที่แถบอีสาน มีความรุนแรงทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง บางพื้นที่มีลูกเห็บตก เนื่องจากมวลอากาศเย็นพัดลงมาในช่วงฤดูร้อน เมื่อสภาพอากาศมาเจอกันทำให้พายุฤดูร้อนมีความรุนแรงกว่าทุกปี โดยพื้นที่เสี่ยงคือ อีสาน เช่น อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา
วันที่ 6 มี.ค.68 ช่วงกลางคืน ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุฤดูร้อนในระลอกนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่รับลม เป็นช่องลมที่พัดเข้าไปสู่พื้นที่ภาคกลาง โดยพื้นที่เสี่ยงต้องระวังลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักคือ สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และนครนายก
วันที่ 7 มี.ค.68 พายุฤดูร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้มีฝนตกชุกเฉพาะบางพื้นที่หนัก อาจกินเวลาตั้งแต่ 15 นาที ไปจนถึง 1 ชั่วโมง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แรงลมที่พัดแรงมากกว่าปกติ ดังนั้น ควรเตรียมตัวให้พร้อม และไม่ควรอยู่ใกล้ป้ายหรือตึกสูงขณะเกิดลมแรง
ส่วนวันที่ 8 มี.ค.68 ความรุนแรงของพายุฤดูร้อนจะลดลง เคลื่อนตัวไปยัง จ.เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ตอนบน แต่ความรุนแรงลมจะเบามากกว่าช่วงที่ผ่านมา

“คาดว่าพายุฤดูร้อนรอบนี้ สร้างความเสียหายให้กับภาคตะวันออก ที่เกษตรกรปลูกไม้ผลที่ตอนนี้เริ่มให้ผลผลิต เช่น ทุเรียน พอเริ่มให้ผลก็เจอพายุฤดูร้อนจนเสียหายหมด และอาจทำให้ผลไม้ในตลาดมีน้อยลงกว่าปีก่อน”
"สมควร" มองว่า ปีนี้พายุฤดูร้อนมาถี่มากกว่าทุกปี บางช่วงรุนแรงอาจมาแบบเว้นสัปดาห์ หลังจากช่วงวันที่ 6 - 8 มี.ค.นี้ อาจเกิดพายุฤดูร้อนอีกช่วงในวันที่ 12 – 13 มี.ค.นี้ ต่อเนื่อง
ปี 2568 จะเกิดพายุฤดูร้อนมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้มีมวลอากาศเย็นนานในช่วงฤดูหนาว และเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน มวลอากาศทั้งสองแบบมาปะทะกันต่อเนื่อง
อยากเตือนประชาชน การเกิดพายุฤดูร้อนจะมีสัญญาณเตือนจากเมฆที่ก่อตัว และมีการเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ ควรระมัดระวังสิ่งปลูกสร้างเช่น ป้ายโฆษณา ฟ้าผ่าแรง ด้านเกษตรกรที่ปลูกไม้ผล จะต้องเตรียมพร้อมเสริมความแข็งแรงของลำต้น.