เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตกค้างฝั่งเมียนมา จำนวนมาก ขณะกลุ่ม BGF และ DKBA เริ่มส่งสัญญาณให้ "ไทย-จีน" สนับสนุนเงินดูแลกวาดล้าง "นักวิชาการ" ประเมินเสี่ยงกลับสู่วังวนเดิม ไทยควรเจรจาข้อตกลงพิเศษร่วมทุกฝ่าย ผลักดันศูนย์เฉพาะกิจปราบริมชายแดน "ตาก-สระแก้ว"
การกวาดล้างขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฝั่งประเทศเมียนมา เป็นไปอย่างเข้มข้น หลังกองกำลังกะเหรี่ยง BGF และกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA ใน จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ดำเนินการกวาดล้างกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน โดยทางการจีนได้นำเครื่องบินมารับกลับไปแล้วบางส่วน แต่มีชาวต่างชาติตกค้างอยู่กว่า 7,000 คน

การควบคุมตัวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเหยื่อการค้ามนุษย์ ที่รอการส่งตัวกลับประเทศต้นทาง มีรายงานว่ากองกำลัง BGF ต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูกลุ่มคนเหล่านี้จำนวนมาก จึงมีความประสงค์อยากให้รัฐบาลไทยกับสถานทูตชาติของเหยื่อค้ามนุษย์เร่งประสานผ่านรัฐบาลเมียนมา รับตัวชาวต่างชาติกลับประเทศไปโดยเร็ว ที่ผ่านมาได้ส่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนกลับไปได้เพียงแค่ 621 คน ในห้วงเวลาแค่ 3 วัน
...
ด้านกองกำลังกลุ่ม DKBA ตอนนี้รวบรวมชาวต่างชาติไว้จำนวน 401 คน ก็ประสบปัญหาต้องรับภาระการเลี้ยงดูด้วยเช่นกัน มีบางส่วนที่ได้ส่งตัวผ่านท่าข้าม 28 บ้านช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก มาแล้ว โดยไทยยังคงรองรับค่าที่พัก ค่าอาหาร น้ำดื่ม ครบ 3 มื้อ ตามที่ มทบ.310 รับไว้เบื้องต้น 260 คน ล่าสุดมีสถานทูตมารับตัวไปคงเหลืออีกประมาณ 148 คนที่ยังอยู่ในค่ายทหารไทย
สถานการณ์นี้บีบรัดไทย ให้ต้องจัดการกับเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชาวต่างชาติที่ตกค้าง ก่อนปัญหาจะกลับมาเป็นวังวนเดิม รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า การจัดการกับชาวต่างชาติ ที่ตกค้างจากการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฝั่งเมียนมา ไทยควรเป็นแม่งานในการประสานกับประเทศต้นทาง และไม่ควรให้คนที่ตกค้างเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน จ.ตาก ของไทย

“ตอนนี้มีบางสถานทูตตอบรับในการพาคนกลับบ้างแล้ว แต่บางสถานทูตยังไม่ตอบรับก็ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นไว้ เพราะบางประเทศที่ไทยเป็นทวิภาคีกันก็สามารถส่งกลับได้รวดเร็ว เช่น อินเดีย แต่บางประเทศโซนแอฟริกา ยากในการติดต่อส่งกลับ”
กรณีที่กลุ่ม DKBA และ BGF เริ่มเรียกร้องว่า ไม่สามารถดูแลกลุ่มคนที่ตกค้างได้ และอยากได้เงินสนับสนุนจากไทย รศ.ดร.ดุลยภาค มองว่า การที่กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์กำลังกวาดล้าง เพื่อให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้น เพราะถูกไทยและจีนบีบ เลยต้องมีความร่วมมือมากขึ้น ในการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ แต่กลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็มีความสัมพันธ์กับกองกำลังชาติพันธุ์อยู่เดิมแล้ว เลยทำให้การกวาดล้างจับกุมผู้ร่วมขบวนการในชั้นปลายแถว แต่ระดับบอสจีน ยังไม่มีแนวโน้มได้รับการจับกุม
เรื่องค่าใช้จ่ายของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำการกวาดล้าง มีการใช้กำลังพลไปปิดล้อมตึกของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ประกอบกับเมื่อควบคุมตัวได้ ต้องมีอาหารเลี้ยงกลุ่มชาวต่างชาติที่รอส่งกลับ เมื่อกลุ่ม DKBA และ BGF ลงทุนลงแรงในการกวาดล้าง อาจมีความกังวลว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะกลุ่มทุนจีนสีเทาต่างรู้จักกัน

การส่งสัญญาณของกลุ่ม DKBA และ BGF ที่ต้องการให้ไทยและจีน สนับสนุนงบประมาณในการดูแลแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตกค้าง หากอยากให้เขาร่วมมือ แต่ถ้างบประมาณขาดแคลน จะแสดงท่าทีท้อแท้และไม่อยากดำเนินการกวาดล้างต่อ นี่จึงเป็นประเด็นที่ไทยต้องต่อรองหลังจากนี้ อาจต้องรอเวลาอีกสักระยะ
...
“ท่าทีไทยตอนนี้ก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ด้วยกองกำลังเหล่านี้ไทยไม่สามารถไปการันตีได้ว่ามีความชอบธรรมในการดูแลพื้นที่ หรือถ้ามีข้อตกลงที่ลงนาม แล้วเราช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายก็ยังไม่เกิดขึ้น ทางแก้ของไทยถ้าอยากดำเนินการกวาดล้างระยะยาว ต้องประสานกับทางการจีน ผลักดันงบประมาณเข้ามาในการส่งกลับประเทศต้นทาง จัดทำข้อตกลงพิเศษ ที่ต้องร่วมกับหลายฝ่ายทั้งกลุ่ม DKBA และ BGF รวมไปถึงรัฐบาลทหารพม่า"

แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระยะยาว
ถ้ามองถึงปริมาณของเหยื่อที่อยู่ในเขตปกครองของกลุ่ม DKBA และ BGF "รศ.ดร.ดุลยภาค" มองว่า มองให้ลึกจะเห็นตัวแสดงอื่นที่มากกว่า 2 กลุ่มนี้ แต่กลุ่ม BGF จะดูแลในกลุ่มของเมืองใหม่ ตรงข้ามกับแม่สอด จ.ตาก บางจุดก็อยู่ในความดูแลของกลุ่ม DKBA ซึ่งตลอดแนวชายแดน จะมีกลุ่มชาติพันธุ์ดูแลในหลายพื้นที่
ถ้าโฟกัสในจุดที่วิกฤติบริเวณตรงข้ามพบพระ อุ้มผาง ไล่ไปจนถึงเมืองพญาตองซู ตรงข้ามสังขละบุรี ตรงนี้อยู่ในความดูแลของกลุ่ม DKBA ที่มีความเข้มข้น แต่ถ้าโซนแม่สอดเหนือขึ้นไป อยู่ในความดูแลของกลุ่ม BGF แต่ก็มีฐานกำลังของ KNU และ PDF ดังนั้นโครงข่ายของจีนเทาก็กระจายไปตามแนวพรมแดน เลยเป็นความทับซ้อนในพื้นที่ แต่ถ้าไทยล็อกเป้าไปในพื้นที่เช่น เมืองพญาตองซู ก็สามารถไปเจรจากับกลุ่ม DKBA ได้ทันที
...
การแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระยะยาว ไทยต้องพยายามผลักดันให้เกิดการพูดคุยในอาเซียน เพราะเรื่องนี้ไทยทำประเทศเดียวไม่ได้ ต้องผลักดันประเทศในเครือข่ายลุ่มน้ำโขงให้มาร่วมมือกัน สร้างเป็นเครือข่าย ขณะที่ไทยต้องตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ตั้งอยู่ริมชายแดน จ.ตาก และ จ.สระแก้ว โดยมีหน่วยรบ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้ามาร่วมดูแล เพื่อมาปราบปรามเรื่องนี้โดยตรง อนาคตอาจปรับเป็นคณะกรรมการริมชายแดนตามห้วงเวลาต่อไป