โศกนาฏกรรม “เชจู แอร์” ไถลออกนอกรันเวย์ที่สนามบินในเกาหลีใต้ “อดีตนักบิน” ชี้รันเวย์สั้น มีโอกาสสูงจะเกิดปัญหา “ล้อหน้า-ระบบเกียร์-ล้อหลัง” แนะนำผู้โดยสารถ้าต้องเดินทางไปลงสนามบินที่มีรันเวย์สั้นและอันตราย
“เชจู แอร์” เที่ยวบิน 7C 2216 ที่เกิดอุบัติเหตุไถลออกนอกรันเวย์ที่สนามบิน Muan ประเทศเกาหลีใต้ หลังผู้โดยสารและลูกเรือ 181 คนบนเที่ยวบินออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย เบื้องต้นยืนยันผู้เสียชีวิตแล้ว 179 คน รอดชีวิต 2 คน ขณะเดียวกันมีการระบุว่า มีคนไทย 2 คน โดยสารไปกับสายการบิน
สำนักข่าวท้องถิ่นเกาหลีใต้ ระบุวันนี้ (29 ธ.ค. 67) เครื่องบิน Jeju Air ได้ประสบอุบัติเหตุ ขณะนำเครื่องลงจอดบนรันเวย์ ที่สนามบินนานาชาติมูอัน จังหวัดชอลลาใต้ ห่างจากกรุงโซลไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 288 กิโลเมตร เมื่อเวลา 09.07 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยเครื่องบินได้ลื่นไถลออกนอกรันเวย์ ไปชนกับรั้วกั้นสนามบิน ทำให้เกิดเปลวเพลิงและความเสียหายกับตัวของเครื่องบินอย่างรวดเร็ว
...
สนามบินนานาชาติมูอัน ในเกาหลีใต้ ที่เกิดเหตุ มีความยาวรันเวย์อยู่ที่ 2,800 เมตร ทีมข่าวเฉพาะกิจ ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง “พล.อ.ท.ดร.ศุภกฤต อริยะปรีชา” รองคณบดีฝ่ายวิชาการและเทคนิค สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า ถือเป็นรันเวย์ที่สั้นมาก ทำให้นักบินต้องใช้ความสามารถในการลงจอดค่อนข้างสูง และถ้ามีจุดขัดข้องที่ล้อหน้า หรือระบบเกียร์ที่บริเวณปีกของเครื่องบิน ยิ่งทำให้นักบินบังคับเครื่องบินได้ยาก
กรณีที่เกิดขึ้นกับ “เชจู แอร์” เที่ยวบิน 7C 2216 สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุได้ดังนี้
1. กางล้อหน้าไม่ได้ เป็นปัญหาจากระบบเครื่องยนต์ โดยระบบล้อหน้าจะเกิดปัญหาขึ้นบ่อยในการที่กางไม่ออก เนื่องจากล้อหน้ามีลักษณะโค้งไปตามหัวของเครื่องบิน จึงมีโอกาสปะทะกับสิ่งต่างๆ เช่น นก เวลาที่เครื่องขึ้นหรือกำลังลงจอด
2.ล้อหลังไม่กาง ส่วนนี้เป็นประเด็นน่าสนใจ เพราะในคลิประหว่างลงจอด จะเห็นกลุ่มควันที่เกิดบริเวณส่วนกลางลำของเครื่องบิน ที่เป็นระบบสำคัญคือ ระบบเมนเกียร์ อาจมีการชำรุดทำให้ล้อหลังไม่กาง ปกติระบบตรงนี้ชำรุดน้อยมาก แต่อาจเกิดขึ้นได้ หากระหว่างบินขึ้นมีเศษวัสดุต่างๆ อยู่บนรันเวย์ แล้วกระเด็นเข้ามายังชุดควบคุม
เช่นเดียวกับตอนแลนดิ้งลงบนพื้นสนามบินปลายทาง ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่บนรันเวย์ จะทำให้เครื่องยนต์ส่วนนี้ไม่กาง แต่ปกติส่วนตรงนี้มีความแข็งแรงสูง แต่ความเสียหายเกิดขึ้นได้กับตัวเกียร์อัพและดาวน์ ที่ควบคุมการขึ้นลงของเครื่องบิน
3.สนามบินนานาชาติมูอัน เกาหลีใต้ มีความยาวรันเวย์ 2,800 เมตร เป็นรันเวย์ที่สั้นมากๆ ยากลำบากในการควบคุมเครื่องบินลงจอดของกัปตัน โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ ที่ใช้เครื่อง แอร์บัส A320 หรือ โบอิง 737 ปกติต้องใช้รันเวย์ความยาวมากกว่า 6,500 เมตร ยิ่งรันเวย์สั้น กัปตันต้องใช้ความสามารถในการแลนดิ้ง
...
ตัวอย่างเช่น ทั้งในการเลี้ยงกำลังของเครื่องยนต์ ให้ลงไปยังจุดแตะที่หัวสนามบิน ถ้าหลุดเกินกว่านั้น มีโอกาสสูงที่เครื่องบินจะหลุดออกนอกรันเวย์ แต่เมื่อเครื่องลงมาแล้ว กัปตันต้องรีบ “reverser เครื่องยนต์” เพื่อให้เครื่องยนต์ชะลอการเร่งความเร็ว พร้อมกับการเหยียบเบรก ที่ต้องเป็นจังหวะสัมพันธ์กับเครื่องยนต์ ถ้าเหยียบเบรกทันที อาจทำให้ระบบเกียร์เสียหาย จนหลุดออกนอกรันเวย์ได้
4.เครื่องบิน ไถลออกนอกรันเวย์ไปชนกับกำแพง มักเกิดมากในสนามบินที่รันเวย์สั้น นักบินต้องมีความชำนาญ และต้องมีใบประกาศเฉพาะ ที่รับรองว่านักบินคนนั้นสามารถนำเครื่องลงจอดบนสนามบินที่รันเวย์สั้นได้ ไม่ใช่ว่านักบินทุกคนจะได้ใบรับรองนี้
...
5.ผู้โดยสาร หากต้องขึ้นเครื่องบินไปลงสนามบิน ที่มีรันเวย์สั้น ควรเลือกสายการบิน ที่มีเที่ยวบินอยู่ประจำในสนามบินนั้นๆ เพราะสายการบินจะคัดเลือกนักบินที่ได้ใบประกาศเฉพาะ และมีความชำนาญในการบินลงในสนามบินที่มีรันเวย์สั้นสูง