ในฤดูหนาวของทุกๆ ปี นกนับพันล้านตัวจะออกเดินทางครั้งใหญ่ อพยพหนีอากาศหนาวที่โหดร้าย ขาดแคลนอาหารจากซีกโลกตอนเหนือ บินไกลหลายหมื่นกิโลเมตรลงมายังซีกโลกทางใต้ เพื่ออาศัยพักพิงชั่วคราวในดินแดนที่อบอุ่นกว่า เมื่อถึงฤดูร้อนก็จะบินกลับไปถิ่นเดิมเพื่อทำรังวางไข่ เป็นเช่นนี้มายาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ
พวกมันสร้างเส้นทางอพยพที่มีความจำเพาะ รู้ว่าต้องหยุดพักในจุดไหนเพื่อหาอาหารเติมพลังก่อนเดินทางต่อ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจุดสำคัญในเส้นทางอพยพ ที่นกเหล่านี้มาอาศัยพักพิงในทุกๆ ปี อย่าง “นกนางนวลบางปู” ที่โด่งดัง ก็ถือว่าเป็นนกที่อพยพเช่นกัน
แต่โลกที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากฝีมือของมนุษย์ ทั้งการทำอุตสาหกรรม ตึกสูงระฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นต่อเนื่อง สงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้ สิ่งเหล่านี้กำลังเป็น “ภัยคุกคาม” ที่ร้ายแรงต่อนกอพยพ
...
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่า 14% ของนกอพยพ หรือ 134 สายพันธุ์ จัดอยู่ในสถานะถูกคุมคาม (Threatened) คือถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ โดยจำนวนนกอพยพทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะนกในเส้นทางอพยพ Afro-Palearctic ซึ่งเป็นเส้นทางจากยุโรปและเอเชียลงสู่ทวีปแอฟริกา และนกหลายชนิดก็ทยอยสูญพันธุ์จากโลกนี้ไปแล้ว แน่นอนว่าการหายไปของสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสมดุลของโลกใบนี้
“ตอนนี้โลกอยู่ในช่วงที่เปราะบางมากๆ เพราะว่าตลอดตั้งแต่เราลุกขึ้นมาปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการพัฒนาอย่างไม่ลืมหูลืมตา สิ่งหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังคือสมดุลทางธรรมชาติเหล่านี้ที่จะสูญเสียไปเรื่อยๆ ตอนนี้ที่เรามีความรู้มากกว่ากว่าเดิมถึงเริ่มตระหนักว่าถ้าอยากได้ประโยชน์จากระบบนิเวศอย่างที่เคยได้มา สิ่งสำคัญที่สุดคือการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้
และ นก เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด เรามีข้อมูลเยอะที่สุดในการอธิบายกับสังคมว่า อะไรในธรรมชาติที่หายไปแล้วบ้าง และมันเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร” ดร.เพชร มโนปวิตร นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อ นก ถูกคุกคามอย่างหนัก
"นก" มักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการศึกษารูปแบบการอพยพของสัตว์ รวมถึงสภาวะของสิ่งแวดล้อม เพราะว่าพวกมันง่ายต่อการสังเกตการณ์ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้เร็ว และมีบทบาทสำคัญทางนิเวศวิทยา เช่น การแพร่กระจายเมล็ดพืช รวมถึงเป็นสัตว์ที่มีคนให้ความสนใจ มีกลุ่ม "คนดูนก" อยู่จำนวนมาก และมีการศึกษาเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องและสมบูรณ์ที่สุด จึงเป็นตัวแทนความหลากหลายทางชีวภาพได้ดี
นกอพยพในประเทศไทย
“นก” ในประเทศไทย มีจำนวนมากเกือบ 1,000 ชนิด และจำนวน 1 ใน 3 ของนกในไทย เป็นนกที่อพยพมาจากถิ่นอื่น โดยไทยอยู่ในเส้นทางอพยพที่สำคัญ คือ เส้นทาง East Asian–Australasian Flyway ที่นกซึ่งมีถิ่นที่อยู่ทางตะวันออกของเอเชีย ตั้งแต่ภูมิภาคไซบีเรียของรัสเซีย ตอนเหนือของจีน เกาหลี มองโกเลีย อพยพลงมาผ่านพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วลงไปถึงออสเตรเลีย โดยจะอพยพลงมาในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายน ก่อนจะบินกลับในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
เส้นทางอพยพนี้เป็นเส้นทางที่สำคัญ ซึ่งหากต้องการอนุรักษ์นกเหล่านี้ก็ต้องอนุรักษ์ทั้งเส้นทาง จนเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในการการอนุรักษ์นกอพยพ Flyway Network ดร.เพชร เล่าว่า นกอพยพแต่ละชนิดก็จะอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานไม่เท่ากัน มีบ้างที่อยู่ไทยตลอดฤดูหนาว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการแวะพักเติมพลัง ก่อนบินต่อลงซีกโลกใต้
...
สำหรับนกอพยพในไทยมีทั้งกลุ่มนกบก นกทะล นกชายเลน นกลุยน้ำ ห่านป่า-นกเป็ดน้ำ และนกล่าเหยื่อ ซึ่งนกเหล่านี้จะบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในประเทศไทยด้วย ยกตัวอย่าง นกชายเลน ซึ่งเป็นนกอพยพกลุ่มใหญ่ของไทยและเรายังพบนกกลุ่มใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น นกชายเลนปากช้อน ที่พบฝั่งอ่าวไทยในพื้นที่ที่เป็นนาเกลือ หรือนกทะเลขาเขียวลายจุด ที่พบบริเวณ ปากแม่น้ำประแสร์ จ.ระยอง ถ้าหากพื้นที่เหล่านี้ถูกรบกวนหรือเปลี่ยนสภาพไป ก็จะทำให้สถานะของนกเหล่านี้ย่ำแย่มากขึ้น
“นกชายเลนอพยพหลายชนิด อยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง โดยสายพันธุ์หนึ่งที่ไทยมีความพยายามในการอนุรักษ์มาหลายปี คือ นกชายเลนปากช้อน ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกเหลือไม่ถึง 1,000 ตัวเท่านั้น ซึ่งถูกจัดว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ซึ่งนกชนิดนี้แม้จะเจอในประเทศอื่นๆ ด้วย แต่ประเทศไทยถือเป็นแหล่งพักที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง และมีรายงานเจอเป็นประจำ”
...
“กิจกรรมของมนุษย์” ปัจจัยหลักทำ “นก” ลดจำนวน เสี่ยงสูญพันธุ์
จำนวนนกอพยพทั่วโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดย “ภัยคุกคาม” หลักของนกอพยพเหล่านี้ คือการสูญเสียพื้นที่พักพิงและพื้นที่หากินที่พวกมันจำเป็นต้องใช้ในทุกๆ ปี ให้กับกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งสร้างเป็นท่าเรือ การเปลี่ยนพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นสนามบินหรือหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น
นกอพยพเหล่านี้ผ่านการเรียนรู้โดยสัญชาตญาณ ถูกวิวัฒนาการสอนมาแล้วว่าในเส้นทางการอพยพนี้ควรจะต้องแวะตรงไหน พื้นที่ไหนมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพที่เอื้ออำนวย แต่หากพวกมันมาถึงแล้วพบว่ากลายเป็นพื้นที่ที่ใช้ไม่ได้ นกก็ต้องหาพื้นที่ใหม่ที่เหมาะสมในระยะทางที่ไม่ไกลจากจุดเดิมมากเกินไป
ถ้าหากหาไม่ได้ นกก็จะเกิดภาวะเครียด เหนื่อยล้า ขาดแคลนอาหาร ซึ่งในช่วงอพยพเป็นช่วงที่นกมีสภาพร่างกายเปราะบางที่สุดอยู่แล้ว เมื่อสูญเสียพื้นที่พักไปพวกมันก็ต้องฝืนบินต่อโดยไม่ได้พัก จนป่วยและเสียชีวิตได้
“นึกภาพเหมือนการวิ่งมาราธอน เมื่อถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องจำเป็นต้องมีการเติมพลัง กินน้ำ กินอาหารเข้าไป แต่ว่าถ้านกมาถึงจุดที่มันแวะพักแต่ปรากฏว่า น้ำไม่มี อาหารไม่มี เขาอาจจะทนบินไปได้อีกสักระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายอาจจะไม่รอด” ดร.เพชร กล่าว
รวมถึงในหลายพื้นที่ยังมี “การล่านก” เพื่อบริโภคหรือเพื่อความบันเทิงอยู่ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่า ในทุกๆ ปี มีนก 11-36 ล้านตัวถูกล่าและถูกฆ่าตาย แค่เฉพาะในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนเพียงภูมิภาคเดียว หรืออย่างในเส้นทางอพยพ East Asian–Australasian Flyway ที่มีประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่ง ก็พบการล่า “นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง” จนทำให้พวกมันมีจำนวนที่ลดลงถึง 95% และถูกจัดอยู่ในระดับวิกฤต Critically Endangered คือมีความเสี่ยงสูงมากที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในขณะนี้
...
“การล่าโดยตรงก็ยังคงมีอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง ซึ่งเป็นนกกินเมล็ดพืช และอาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่มาก แต่ในหลายๆ ประเทศยังมีการดักนกเพื่อบริโภคอยู่ ทำให้นกประเภทนี้ลดจำนวนลงอย่างน่าเป็นห่วงมากๆ”
ภาวะโลกร้อน ก็เป็นอีกปัจจัยใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อนกอพยพและระบบนิเวศโดยรวม ดร.เพชร เล่าว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ทางนักวิทยาศาสตร์เก็บข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมนกอย่างต่อเนื่อง ทำให้จับสังเกตได้ว่าการอพยพของนกมีความผิดปกติไปอย่างไร และกลายเป็นข้อมูลชุดแรก ๆ ที่ชี้วัดได้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปของโลกทำให้เกิดภัยพิบัติที่บ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น เช่น พายุ ไฟป่า สภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงในการทำลายถิ่นที่อยู่ของนกในการใช้ทำรังและวางไข่
อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กระทบกับกลุ่มนกชายเลนโดยตรง เพราะหากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น นกก็จำเป็นต้องถอยร่นขึ้นมาบนแผ่นดินมากขึ้น แต่จากสภาพพื้นที่ในปัจจุบันแทบไม่มีพื้นที่ให้นกถอยได้อีกแล้ว ถอยขึ้นมาก็อาจเจอถนน บ้านคน เจอเมือง กลายเป็นการสูญเสียถิ่นที่อยู่ไปโดยปริยาย
สัตว์และพืชที่เป็นอาหารของนกก็มีการปรับตัวไปตามสภาพอากาศเช่นกัน อาหารที่นกเคยหาได้ เช่น สัตว์หน้าดินก็มีจำนวนลดลงไป ความชุกชุมของแมลงลดลง ซึ่งจำนวนสัตว์หน้าดินก็เป็นข้อบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชายฝั่งด้วย และสิ่งเหล่านี้ก็ลดลงจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สะสมมาต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งขยะ มลภาวะ และตอนนี้ก็มีปัญหาภาวะโลกร้อนซ้ำเติมเข้าไปอีก
“อย่างกรณีฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในภาคเหนือหรือภาคใต้ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดตามธรรมชาติ ซึ่งก็จะกระทบเป็นลูกโซ่เช่นกัน เพราะปริมาณน้ำจืดที่ลงไปเป็นจำนวนมากก็ส่งผลต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งอาหารและที่พักพิงของนก”
อีกสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนกอพยพคือ สงคราม ที่กำลังคุกกรุ่นในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเส้นทางอพยพที่สำคัญ เช่น พื้นที่ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปตะวันออก เมื่ออยู่ในสภาวะสงคราม พื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งที่เคยได้รับการดูแล ก็ถูกละเลยไม่ให้ความสำคัญเพราะทุกคนจำเป็นต้องเอาตัวรอดก่อนเป็นอันดับแรก
การโจมตีด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ก็นำไปสู่การสูญเสียพื้นที่ธรรมชาติที่เคยเป็นแหล่งแวะพักของนก รวมไปถึงเกิดการปนเปื้อน มลภาวะจากการใช้สารเคมี น้ำมันรั่ว ซึ่งสุดท้ายก็จะถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ กระทบต่อสัตว์ที่เป็นอาหารของนกโดยตรง และนกบางส่วนยังถูกล่าเป็นอาหาร จากการขาดแคลนอาหารในสภาวะสงครามด้วย
"การหายไปของนก จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะนกเป็นกลไกที่สำคัญในการทำงานของระบบนิเวศ ตั้งแต่ การควบคุมประชากรแมลง ที่หลายชนิดก็เป็นศัตรูพืช การผสมเกสร การแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ที่นกช่วยทำให้ระบบนิเวศเดินต่อไปได้ ถ้านกเริ่มสูญพันธุ์หรือมีประชากรลดลงอย่างผิดปกติ สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือสมดุลเหล่านี้จะหายไป ซึ่งในบางป่าตอนนี้ต้นไม้หลายชนิดก็หายไปบ้างแล้ว"
ความพยายามอนุรักษ์นกในประเทศไทย
ประเทศไทยถือเป็นจุดพักสำคัญของนกอพยพ แต่พบว่าหลายพื้นที่ที่นกเหล่านี้ใช้ เป็นของเอกชนไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งและป่าชายเลน ดร.เพชร เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ มองว่าแนวทางที่ยั่งยืนคือการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่อนุรักษ์ให้มากขึ้น จึงได้มีการเปิดรับเงินสนับสนุนจากกองทุนต่างประเทศและระดมทุนจากบุคคลทั่วไป เพื่อซื้อที่ดินเอกชนที่มีนกอพยพมาแวะพักเป็นประจำ และเข้าไปจัดการให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพ อย่างเช่นที่ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
นอกจากนี้บรรดานักวิจัย นักดูนก และกลุ่มอนุรักษ์ในท้องถิ่น ยังได้ร่วมมือกันในการนับจำนวนนก ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพเป็นประจำทุกๆ ปี เช่น การประเมินประชากรของนกน้ำอพยพ ที่เรียกว่า Asian Waterbird Census เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลง แนวโน้มประชากร และ “ตรวจสุขภาพสิ่งแวดล้อม” ที่นอกจากจะทำให้รู้จำนวนของนกแล้ว ยังเป็นการดูด้วยว่า พื้นที่ที่เป็นแหล่งแวะพักมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ในนกบางกลุ่มที่ประชากรลดลง ก็ต้องศึกษาต่อไปว่าเกิดจากปัญหาอะไร มีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ หรือมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมใดที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
ในส่วนของการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ในระดับบุคคลทั่วไป ดร.เพชร เชิญชวนให้คนที่สนใจนก เข้ามาเรียนรู้และเป็น “นักดูนก” ซึ่งจะทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับนกชนิดต่างๆ ได้ทักษะอ่านสิ่งแวดล้อม รู้ว่านกประเภทไหนอยู่ในป่าแบบใดรู้ว่าต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบบ้านหรือในพื้นที่ของตัวเองอย่างไรให้เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัยของนก
อีกทั้งยังเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญในการช่วยเก็บข้อมูล เพราะในการนับจำนวนนกแต่ละครั้งต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมาก รวมถึงสร้างความตระหนักให้สังคมเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์นกด้วย
“ลองคิดดูว่าถ้าไม่มีนกกินยุง ควบคุมปริมาณแมลงบางชนิดที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ ไม่มีนกที่ผสมเกสรให้พืชบางกลุ่ม หรือไม่มีนกในการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์และปลูกป่า แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ถ้าเราขาดแคลนหมอ ขาดแคลนพนักงานเก็บขยะ ขาดแคลนอาชีพบางอย่างไป เมืองก็จะเริ่มไม่ทำงาน และมีจุดอ่อนเกิดขึ้นในที่สุด”