ดราม่า รพ.ริมชายแดน แบกรับภาระรักษาคนไข้ต่างด้าว กระทบสิทธิคนไทย ชี้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ใช้งบรักษาแบบสงเคราะห์ แนะทางแก้ต้องสร้างความร่วมมือประเทศต้นทาง

หลังเพจ Drama-addict โพสต์ข้อความจากบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ชายแดนแห่งหนึ่งในไทยว่า หญิงตั้งครรภ์ข้ามมารักษาจากพม่า สิทธิชำระเงินเอง เรื่องแผนการรักษา แม่ที่ต้องนอนนาน ค่าผ่าตัดคลอด ลูกที่ต้องนอน NICU นาน ค่าใช้จ่ายรวมกันน่าจะหลายแสนรวมแม่กับลูก คนไข้มาพร้อมกับล่ามที่พูดภาษาไทยได้ บอกรู้ว่าหลังจากที่ลูกคลอด เขาสามารถเอาใบรับรองการเกิดลูกไปทำสิทธิเพื่อรักษาฟรีได้

บอกตรงๆ พยาบาลอึ้งค่ะ เขารู้กันขนาดนี้ ส่งต่อกันไปขนาดนี้ แล้วประเทศไทยแบกรับต่อไปไหวแค่ไหนอ่ะ ไม่ใช่เฉพาะแค่ค่ารักษา แต่ภาระงานที่เพิ่มขึ้น การเข้าถึงระบบสาธารณสุขของคนไทยที่ล่าช้าลง เพราะมีต่างชาติเข้ามาแทรกแซงในระบบสาธารณสุขไทยมากขึ้นหลายเท่า คนไข้คนไทยมา รพ.กว่าจะได้ตรวจ เพราะรอคิวนานมากขึ้น ไปตรวจ OPD หรือ admit ตามวอร์ด มีแต่ต่างชาติเต็มไปหมด

ประเทศไทยมีกองทุนสิทธิ ท.99 (สิทธิบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ) จริง จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้รับรองปัญหาต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ เมื่อคนไข้ได้สิทธินี้จะไม่ได้จ่ายเงินค่าการรักษาเลย โดยดึงเงินจากกองทุนมาช่วย support ค่าใช้จ่ายของคนไข้ให้กับโรงพยาบาลที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจากคนไข้เหล่านี้ ตอนนี้ปัญหาคือ คนต่างด้าวส่งต่อกันไปทั่วแล้วว่าประเทศไทยเราสามารถ support พวกเขาได้จากสิทธิตรงนี้ ไหนจะการซื้อบัตร UC ที่ได้สิทธิการรักษาเทียบเท่ากับบัตรทองคนไทยทุกอย่าง อีกไม่นานระบบสาธารณสุขไทยคงล่มจม ถ้ารัฐบาลหรือกระทรวงไม่ take action ปัญหาตรงนี้

...

โรงพยาบาลริมชายแดนภาระที่ต้องรักษา

ประเด็นดราม่าเกี่ยวกับการเข้ามารักษาของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า ปกติสิทธิในการรักษาของบุคคลต่างด้าวในโรงพยาบาลของไทย ไม่ได้มีสิทธิตรงนี้ เว้นแต่บุคคลต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีการขึ้นทะเบียนประกันสังคม หรือทำประกันที่มีสิทธิในการรักษา

อีกกลุ่มเป็นบุคคลต่างด้าวมีการหลบหนีเข้าเมืองมา เช่น พื้นที่แม่สอด จ.ตาก มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โรงพยาบาลในพื้นที่นี้มีการรักษาแบบสงเคราะห์ โดยไม่ได้เก็บค่าใช้จ่าย เนื่องจากต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และมีระยะเวลาที่กำหนดไว้ประมาณ 14 วัน ต้องกลับไปยังประเทศต้นทาง

กรณีเป็นผู้ป่วยยากไร้ ถือเป็นเรื่องยากที่คุณหมอจะไล่คนไข้กลับไปยังประเทศต้นทางโดยไม่ทำการรักษา แต่ก็กลายเป็นภาระของประเทศเราเหมือนกัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัญหาระดับรัฐบาลที่ต้องมีการคุยกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป

ต้องยอมรับว่างบประมาณอุดหนุนโรงพยาบาลมาจากภาษีคนไทย แต่ด้วยหลักสิทธิมนุษยชนที่มีข้อกำหนดให้ช่วยเหลือคนที่ยากไร้ ได้รับความเดือดร้อน มีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ถ้าหากปฏิเสธการรักษาจะส่งผลกระทบในด้านจริยธรรมของแพทย์ด้วย

กรณีผู้ยากไร้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกจังหวัดของไทย แต่มักเกิดกับโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ตามแนวริมชายแดน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านตรงนี้มักมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และตามกฎหมายอาญาของไทย มีข้อกำหนดว่าหากไม่ช่วยเหลือแก่ผู้ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนก็อาจมีความผิด เช่น คนที่กำลังจะคลอด แต่หมอไม่ช่วยเหลือก็ถือว่ามีความผิด