"น้ำท่วมภาคใต้" หลายจังหวัดเสียหายหนัก วิกฤติสุดในรอบหลายสิบปี ผู้เชี่ยวชาญชี้สาเหตุ ผลกระทบจากอิทธิพลลานีญา ทำปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย ใต้ตอนล่างเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เสี่ยงกำลังลานีญาลากยาวถึงกลางธันวาคม!
สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ เข้าขั้นวิกฤติไม่ต่างจากที่ชาวแม่สายเคยประสบมาก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณ 05.00 น. ของรุ่งเช้า 29 พฤศจิกายน 2568 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 8 เตือน 10 จังหวัดภาคใต้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน
ข้อความจากประกาศบางส่วน ระบุว่า หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณช่องแคบมะละกาและประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล
ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก รวมไปถึงฝนที่ตกสะสมก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งประชาชนในภาคใต้ฝั่งตะวันออก ควรระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง
...
ผลกระทบจากลานีญา :
สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้อย่างรุนแรงครั้งนี้ 'รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช' อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ว่า "เป็นผลกระทบที่เกิดจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา"
รศ.ดร.วิษณุ อธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ผ่านมากำลังของลานีญายังไม่ค่อยแรงมาก แต่แล้วก็เริ่มเร่งกำลังขึ้นตั้งแต่ตุลาคม จนมาถึงพฤศจิกายน และคาดว่าจะลากยาวไปถึงธันวาคม ซึ่งจังหวะที่ลานีญากำลังเร่งกำลังนั้น เป็นช่วงเดียวกับที่ภาคใต้เข้าสู่ฤดูฝนใหญ่ (ขณะนี้) จึงทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
"ภาคใต้ตอนบนฝนจะเยอะช่วงตุลาคมถึงพฤศจิกายน ส่วนตอนล่างจะพีคช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคม ฉะนั้น ฝนตามฤดูกาลที่เยอะอยู่แล้ว เมื่อเจออิทธิพลลานีญาเสริมเข้าไป จึงเป็นสาเหตุให้ขณะนี้ภาคใต้ตอนล่าง ต้องเจอกับวิกฤติอุทกภัยในรอบหลายสิบปี"
เมื่อถามว่าวิกฤตินี้ส่อแววยาวนานแค่ไหน? รศ.ดร.วิษณุ ตอบว่า หากดูจากแบบจำลอง คาดว่าจะลากยาวไปถึงประมาณกลางธันวาคม โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนจะโดนอยู่เรื่อย ๆ รวมไปถึงจังหวัดสงขลาที่ฝนจะตกต่อเนื่อง นับจากนี้ขอให้เฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ
ในส่วนของภาคอื่น ผู้เชี่ยวชาญฯ ระบุว่า พ้นฤดูฝนมาแล้วจึงไม่น่าห่วงเท่าพี่น้องภาคใต้ ส่วนลานีญานั้นขณะนี้ถือว่ายังอยู่ในช่วงเร่งกำลัง ไม่ใช่ช่วง 'พีค' คาดว่าจะพีคช่วงมกราคม 2568 ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ฤดูฝนใหญ่แล้ว ต่อให้มีฝนเยอะน้ำก็น่าจะไม่ท่วมมากมาย
Extreme weather :
ปรากฏการณ์ลานีญาน่าจะช่วยฉายภาพให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความแปรปรวนของธรรมชาติ อันเป็นผลจากภาวะโลกเดือด ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า 'มนุษย์' คือตัวการสำคัญของเรื่องนี้
หนึ่งในบุคคลที่พยายามออกมาสื่อสารเกี่ยวกับโลกรวนอยู่บ่อยครั้ง คือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งวิกฤติคราวนี้ อ.ธรณ์ ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ระดับน้ำของแม่น้ำสายบุรี จ.ยะลา คงพออธิบายฝนตกแบบ Extreme weather ให้เพื่อนธรณ์เข้าใจได้"
โพสต์ของ ผศ.ดร.ธรณ์ สามารถสรุปใจความได้ว่า การที่ฝนตกแบบไม่ลืมหูลืมตา และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว Extreme Weather ซึ่งปีนี้คนไทยโดนธรรมชาติเล่นงานอย่างหนัก ตั้งแต่เหนือสุดจนถึงใต้สุดของสยาม
...
"ฝนตกภาคใต้ในช่วงนี้เป็นประจำทุกปี แต่โลกร้อนทำให้น้ำในทะเลระเหยมากขึ้น อากาศยิ่งร้อนเพิ่มทุก 1 องศา จุไอน้ำเพิ่ม 7% เมฆยุคโลกร้อนจึงเต็มไปด้วยน้ำ ฝนตกในช่วงเวลาเท่าๆ เดิม แต่ปริมาณน้ำจากฟ้ามากกว่าเดิม เราจะเห็นข่าวว่าปริมาณน้ำฝนสะสมหลายแห่งเกิน 300 มม. เยอะมากจนผิดปกติ"
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล มองภาพไกลไปในอนาคต มี 3 เรื่องน่าห่วงในยุคโลกร้อน
1) extreme weather คือ ความเสี่ยงอันดับ 1 ของโลกต่อจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 10 ปี (World Economic Forum)
2) ฝนในลักษณะนี้จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ คำว่าฝนหนักในรอบ 30-50 ปี จะกลายเป็นฝนปกติเจอกันแทบทุกปี โดยเฉพาะเมืองไทยที่อยู่ในเขตเจอฝนโลกร้อนหนักขึ้น (IPCC)
3) ไทยติด TOP10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนรุนแรงสุดในเรื่องฝน/น้ำท่วม
...
"สถานการณ์ที่เจอตลอดปี บอกเราแล้วว่าต่อจากนี้แค่เยียวยาคงไม่พอ เราต้องยกระดับในทุกด้านเพื่อรับมือภัยพิบัติ การร้องขอความช่วยเหลือในนาทีฉุกเฉิน ในยามที่ทุกอย่างวุ่นวายไปหมด เป็นเรื่องยากที่ความช่วยเหลือจะมาได้ดังใจ เราต้องพยายามเตรียมการไว้ล่วงหน้า"
"ตั้งแต่แม่สายจนถึงยะลา คำว่า "ไม่เคยพบเคยเห็น" เป็นคำปกติไปแล้วในยุคโลกร้อน ยังมีอีกหลายอย่างที่เราคาดไม่ถึง ผมก็ "ไม่เคยพบเคยเห็น" ปะการังตายขนาดนี้ เม่นทะเลหายเหี้ยน หญ้าทะเลพินาศเป็นหมื่นๆ ไร่ พะยูนตายปีละ 40 ตัว ยังมีอีกหลาย "ไม่เคยพบเคยเห็น" ที่จะได้พบได้เห็น ในยุคที่ก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์พุ่งขึ้นฟ้าเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด"