รื้อแผนที่ตรวจสอบ "ไร่เชิญตะวัน" หาคำตอบรุกป่า ภายใน 7 วัน "ป่าไม้" จ.เชียงราย สำรวจหลักเขตพร้อมชาวบ้านและผู้ดูแลไร่ฯ แต่ไม่พบ "ท่าน ว.วชิรเมธี" ย้ำพร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อโซเชียลตั้งคำถามการขออนุญาตใช้พื้นที่ของ ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน (ว.วชิรเมธี) ซึ่งมีการระบุว่า มีการใช้พื้นที่ป่าเกินกว่าที่ขอ 47 ไร่ อาจเข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนหรือไม่

จากข้อมูลเอกสาร พบว่าที่ดินของศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน (ว.วชิรเมธี) มีการขออนุญาตทั้งหมด 3 แปลง ประกอบด้วย 1.ที่ดินเนื้อที่ 113 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา อยู่ในเขตป่าสงวนป่าดอยปุย ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย ขออนุญาตโดยมูลนิธิวิมุตตยาลัย เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 66 เพื่อใช้เป็นมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ธรรมสมโภช 750 ปี รัตนบุรีเชียงราย โรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ และเพื่อใช้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน ระยะเวลาขออนุญาต 30 ปี จากวันที่ 13 มี.ค. 66 ไปจนถึง 12 มี.ค. 96

2. ที่ดินเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา ขออนุญาตโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งวัดไร่เชิญตะวัน ขออนุญาตเป็นระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 66 ไปจนถึง 22 พ.ย. 96 และแปลงสุดท้าย ขออนุญาตโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 01 ตารางวา เพื่อใช้เป็นที่ตั้งศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน ระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 66 ไปจนถึง 22 พ.ย. 96

...

จากข้อมูลในเบื้องต้น พบว่ามีการใช้พื้นที่จริงไป 190 ไร่ ถือว่าเกินจากที่ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ 143 ไร่ ซึ่งพื้นที่ป่า 47 ไร่ ที่เกินมานั้น ต้องมีการตรวจสอบหาความชัดเจนว่ามีการรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่


รู้ผลตรวจสอบไร่เชิญตะวัน ใน 7 วัน

ทีมข่าวสอบถามไปยัง "นายจตุพร บุรุษพัฒน์" ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า กรณีไร่เชิญตะวัน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตอนนี้ได้สั่งการให้อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้ตรวจสอบคาดว่า จะทราบผลภายใน 7 วัน ซึ่งตอนนี้หน่วยงานในพื้นที่ได้ลงสำรวจ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์อีกครั้ง


ป่าไม้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ไร้เงา "ท่าน ว.วชิรเมธี"


ทีมข่าวติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ จ.เชียงราย ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบ โดย "ประสิทธิ์ ท่าช้าง" ผู้อำนวยการ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ และสำนักพุทธ ตลอดจนตัวแทนชาวบ้าน ได้เดินสำรวจพื้นที่ไร่เชิญตะวัน โดยรอบก่อน หลังจากนี้จะนำข้อมูลจากการลงพื้นที่ไป ตรวจสอบอย่างละเอียดกับแผนที่ ที่ขออนุญาตไว้

กรณีนี้ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยตัวแทนผู้นำชุมชนได้ขออนุญาตในการเดินสำรวจด้วย เนื่องจากพื้นที่โดยรอบไร่เชิญตะวัน ติดกับพื้นที่ของชาวบ้าน ดังนั้น การเดินสำรวจร่วมกัน จะทำให้ชาวบ้านทราบถึงหลักเขตที่ชัดเจนมากขึ้น

...

เบื้องต้นได้ทำการวัดวงรอบตามหลักเขตที่ทางตัวแทนได้นำชี้ หลังจากนั้นจะนำแผนที่และใบอนุญาตมาทาบดูว่า เนื้อที่ใช้งานเป็นไปตามที่ขอหรือเกินกว่าที่กำหนดหรือไม่

ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจุดไหนเป็นจุดเสี่ยง ที่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ได้ขอไว้ เพราะรอบพื้นที่ มีทั้งที่ดิน ส.ป.ก. และบางจุดเป็นพื้นที่ที่เตรียมจัดสรรให้กับชาวบ้านทำกิน คาดว่าต้องใช้เวลาหลายวันในการสำรวจ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากที่สุด

การลงพื้นที่สำรวจไร่เชิญตะวัน ยังไม่พบ ท่าน ว.วชิรเมธี และไม่ได้พูดคุยกับท่าน มีเพียงตัวแทน ที่มาชี้หลักเขต และนำการสำรวจเพียงเท่านั้น

"วันนี้ทำการเดินชี้แนวเขตจากพื้นที่ขออนุญาตทั้งหมด 143 ไร่ และหลังจากได้ข้อมูลตรงนี้ ทางเราจะนำข้อมูลที่ได้ไปเข้าสู่ที่ประชุมร่วม เพื่อพิจารณาว่ามีพื้นที่ตรงกับที่ได้ขออนุญาตไว้หรือไม่ และมีพื้นที่ที่รุกล้ำเขตป่าสงวนเพิ่มเติมกี่ไร่หรือไม่ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ต้องนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ โดยละเอียดเสียก่อน ตอนนี้ยังคงบอกไม่ได้ว่ามีการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร"

...

หากตรวจสอบรังวัดแล้วพบว่า ใช้พื้นที่เกินอนุญาตจริงและพื้นที่ ที่เกินมานั้นอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน เจ้าหน้าที่สามารถแจ้งความเอาผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ม.14 ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการทำให้ป่าเสื่อมโทรม มีโทษ จำคุก 1-20 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท ถ้าได้กระทำเกินเนื้อที่เกินกว่า 25 ไร่ จำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 2,000,000 บาท.