เงินบาทแข็งค่ามากสุดในรอบ 2 ปี ผู้เชี่ยวชาญฯ ชี้เงินทุนไหลเข้ามาผ่านภาคการเงินและภาคการค้าระหว่างประเทศ มองแง่ดี นำเข้าถูกลง-เงินไหลเข้าตลาดทุน ข้อเสียส่งออกลำบาก ปัญหาเดิมซ้ำยังแก้ไม่ได้

ค่าเงินบาทแข็งตัวและผันผวนอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเช้าของวันนี้ (25 กันยายน 2567) เงินบาทแตะระดับแข็งค่ามากสุดในรอบ 2 ปี อยู่ที่ 32.563 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.62-32.64 บาทต่อดอลลาร์

เหตุที่เป็นเช่นนี้ 'รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์' อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ว่า เกิดจากการไหลเข้ามาของเงินทุน ผ่านภาคการเงินและภาคการค้าระหว่างประเทศ ซึ่ง 2 ตัวแปรนี้น่าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญ และคงมีการคาดการณ์แล้วว่า น่าจะมีการซื้อเงินบาทล่วงหน้ามาก เพราะเล็งเห็นว่าเศรษฐกิจการเมืองไทยเริ่มนิ่ง

"หลายเรื่องที่เคยค้างคาใจ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งคาใจผู้คนมานับปีเต็ม ตอนนี้เริ่มคลี่คลายเห็นภาพชัดขึ้น รัฐบาลค่อย ๆ ทำ เริ่มจากกลุ่มเปราะบาง ผมว่าตัวแปรนี้เป็นตัวที่ทำให้เห็นว่า รัฐบาลเริ่มมองไปถึงนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ที่มีลักษณะของความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น"

ผู้เชี่ยวชาญฯ อธิบายต่อว่า นโยบายเศรษฐกิจมหภาคประกอบด้วย 2 เรื่อง คือ นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ในส่วนของ นโยบายการคลัง อย่างที่เห็นว่าการใช้จ่ายของภาครัฐ ผ่านเรื่องที่ค่อนไปทางประชานิยมเริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่ว่า นโยบายการเงิน อาจจะยังมีเรื่องอื่นที่มีความขัดแย้ง ระหว่างหน่วยงานที่ดูแลนโยบายการเงินกับรัฐบาล

...

เหตุเงินบาท (เคย) อ่อนค่า กับ นโยบายการเงินสหรัฐฯ :

สำหรับเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า มันก็ไม่ใช่เงินบาทสกุลเดียวหรอก แต่ของเราดูแข็งค่าขึ้นมาก เพราะก่อนหน้านี้เงินบาทตกต่ำค่อนข้างมาก โดยลงไปอยู่ที่ 37-38 บาทต่อดอลลาร์ พอมาแตะที่ 33 บาทต่อดอลลาร์เลยเกิดการเปรียบเทียบ

"แต่เราต้องไม่ลืมว่า ระดับ 37-38 บาท ไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริงของค่าเงินบาท เมื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อ่อนค่าเต็มที่ควรอยู่ประมาณ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ แต่ที่ต้องลงไป 37-38 บาท เพราะอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยมากและรุนแรงในช่วงวิกฤติเงินเฟ้อ เงินก็ไหลออกไปหาอเมริกาอีก และมันมีช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) ของเรามีอยู่แค่ 2.5% ของอเมริกาอยู่ที่ 5.5% ห่างกันกว่าเท่าตัว ทำให้เงินบาทอ่อนค่าจนยวบลงมา"

รศ.ดร.สมภพ อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้นยังเกิดจากสาเหตุอื่นด้วย คือ ต่างชาติเทขายหุ้นเป็นว่าเล่น เมื่อได้เงินบาทมาก็นำไปแลกดอลลาร์แล้วกลับบ้าน เลยทำให้เงินบาทอ่อนค่าเกินจริง ฉะนั้น เมื่อตอนนี้ลงมาอยู่ที่ 33 บาท จึงทำให้ตกใจกันมาก แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นไปตามกระแสโลก

หากคุณผู้อ่านสงสัยว่ากระแสโลกเปลี่ยนไปอย่างไร อธิการบดี PIM อธิบายให้เข้าใจว่า กระแสโลกเกิดจากการที่อเมริกาปรับลดดอกเบี้ยลงมาค่อนข้างรุนแรง โดยปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจอเมริกา ไม่ควรปรับลดดอกเบี้ยลงมาเกิน 0.25% ถึงแม้ว่าจะควรแก่เวลาปรับลดดอกเบี้ยลงแล้วก็ตาม

"แต่การปรับทีเดียว 0.5% และมีทีท่าว่าจะปรับต่ออีก 0.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แน่นอนว่าทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง เงินเริ่มไหลออกจากอเมริกา คนเทขายดอลลาร์เพราะอ่อนค่าลง" ผู้เชี่ยวชาญฯ กล่าว ก่อนจะเสริมต่อว่า

แม้จะดูเหมือนแย่ แต่ความจริงแล้วการดำเนินโยบายลักษณะนี้ เป็นผลดีต่อการรักษาการเป็นเจ้าแห่งระบบการเงินโลกของสหรัฐฯ โดยยังคงทำให้ดอลลาร์สามารถคงบทบาทการเป็นสกุลเงินหลักที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะดอลลาร์จะไหลไปทั่วโลก

"ฉะนั้น ที่บอกว่าจะเกิด Dedollarization หรือ การลดบทบาทดอลลาร์ลงก็จะเกิดได้ยากขึ้น เพราะคนทั้งโลกหรือแม้แต่จีนเริ่มมาไล่ซื้อดอลลาร์ หากดูทุนสำรองของจีนในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่าพุ่งพรวด เขาไล่ซื้อดอลลาร์เพราะกลัวว่าเงินของเขาจะมีทีท่าแข็งค่ามากเกินไป จึงเทขายสกุลเงินหยวน หรือสกุลเงินไหนก็ตาม เพื่อไปไล่ซื้อดอลลาร์ ดอลลาร์จะได้แข็งค่าขึ้น"

"นี่คือการคงบทบาทของการเป็นเจ้าแห่งระบบการเงินโลก โดยผ่านระบบดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ Dollarization ยังคงดำรงอยู่ ผ่านตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งแต่ละวันซื้อขายกัน 6-7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ"

...

ข้อดี-ข้อเสีย เงินบาทแข็งค่า :

เมื่อถามถึงข้อดีและข้อเสียของสถานการณ์ครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญฯ ระบุว่า สำหรับข้อเสีย การส่งออกจะยากลำบากขึ้น ท่ามกลางปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากการส่งออกแผ่วลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ต้องไม่ลืมว่าการนำเข้าและส่งออกของเราเกือบเท่ากันเลย แต่ละปีเกินดุลการค้าอยู่ไม่มาก มักจะขาดดุลด้วยซ้ำไป

ส่วนข้อดีนั้นการนำเข้าจะถูกลง และข้อสำคัญคือการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะมีเงินไหลเข้าตลาดทุนมากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นขึ้นตามไปด้วย อยู่ดี ๆ พุ่งพรวดจาก 1,200 กว่าจุด เป็น 1,400 กว่าจุด ภายในเวลาไม่กี่วัน มีเงินมาจาก Capital flow ไหลเข้าในรูปดอลลาร์มาไล่ซื้อเงินบาท เพราะถ้าไม่มีเงินบาทก็เล่นหุ้นในตลาดหุ้นไทยไม่ได้

"ฉะนั้น บริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนขายหุ้น ถึงแม้ส่งออกได้น้อยลง แต่ยังได้ประโยชน์จากหุ้นที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วแบบที่เป็นอยู่ พูดง่าย ๆ ว่า กำไรลดลงแต่ราคาหุ้นคุณเพิ่มขึ้น"

อีกข้อดีคือเงินไหลเข้ามาไล่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะจากที่พันธบัตรอเมริกาเคยมีดอกเบี้ยประมาณ 5% ลงมาเหลือ 3% กว่า ทำให้แรงจูงใจในการถือพันธบัตรอเมริกาน้อยลง เงินเหล่านี้จึงไหลไปซื้อตราสารนอกประเทศ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับของสหรัฐฯ

"การที่เงินบาทแข็งค่าสินค้านำเข้าทั้งหลายก็ถูกลง แต่ก่อนที่คนไทยบ่นว่าต้องซื้อทองคำแพง ตอนนี้ราคาทองในตลาดโลกเพิ่มแต่ของไทยไม่ บางช่วงกลับลดลงด้วยซ้ำ ดังนั้น ค่าเงินบาทแข็ง ค่าครองชีพก็ลดลงด้วย แต่อาจจะไม่ได้ลดเยอะมาก"

...

แนะรัฐบาลดำเนินนโยบายให้ถูกทาง :

รศ.ดร.สมภพ ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ ต่างชาติเริ่มเห็นแล้วว่ารัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่คงเริ่มมีลู่ทางที่ชัดเจน และคงเล็งเห็นว่าเสถียรภาพของรัฐบาลก็คงอยู่ต่อไปได้สักช่วงเวลาหนึ่ง ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายอย่างถูกต้อง ทำให้เข้าหูเข้าตาประชาคมโลก ก็จะยิ่งช่วยให้มีเงินทุนไหลเข้ามา อาจเกิดการจ้างงาน และซื้อสินค้าในไทยมากขึ้น

ข้อสำคัญที่ต้องระวัง คือ ต้องทำให้ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานที่ดูแลนโยบายการเงินและการคลังลดลงให้มาก เพราะตอนนี้ดู ๆ ไปยังมีโอกาสที่จะไปกดดันแบงก์ชาติอยู่ ถ้าทะเลาะกันมากประชาคมโลกจะมองด้วยสายตาไม่ค่อยดี ดังนั้น หน่วยงานต้องคุยกันเพื่อลดช่องว่างตรงนี้

"ตอนนี้เรื่องเศรษฐกิจโลก มีผลมาจากตัวแปรปัจจัยอื่นด้วยอย่างภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมีผลค่อนข้างมาก เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และมาส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชน เราจึงต้องทำความเข้าใจว่าตอนนี้โลกเป็นแบบนี้ เวลาจะตัดสินใจลงทุนหรือบริโภคต่าง ๆ จะได้ตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น"