รักขม เจ้าสาวร้อง ฝ่ายชายหลอกจัดงานแต่ง โต๊ะจีน 30 โต๊ะ สูญเงินกว่า 3 แสน พ่อเจ้าบ่าวหายเงียบ ทะเลาะหนักจนเลิกรา "ทนายเกิดผล" ชี้ ฝ่ายชายหนียังไงก็ต้องจ่าย เพราะเซ็นสัญญาผ่อนจ่าย เปิดกฎหมาย เงินค่าจัดงานแต่ง เป็นภาระฝ่ายเจ้าสาว ด้านเจ้าบ่าวรับผิดชอบค่าสินสอด

วิวาห์วุ่น เจ้าสาวร้องขอความเป็นธรรม กรณีพ่อเจ้าบ่าวไม่จ่ายเงินค่าจัดงานแต่งกว่า 3 แสนบาท แม้ทำสัญญาจ่ายรายเดือน แต่กลับเงียบหาย

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 67 ที่บ้านใน อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร เจ้าสาววัย 21 เล่าว่า ถูกครอบครัวแฟนหนุ่ม วัย 21 ปี หลอกให้จัดงานแต่งสูญเงินไปกว่า 300,000 บาท นำทองคำ 3 บาท ไปจำนำ และเงินสด 80,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเก็บทั้งชีวิตของครอบครัวฝ่ายหญิงไปจ่ายค่าโต๊ะจีน 30 โต๊ะ และค่าจัดงานทุกอย่าง จนกลายเป็นหนี้

ตอนแรกพ่อของเจ้าบ่าว รับปากกับครอบครัวฝ่ายหญิงว่าจะนำเงินสด 200,000 บาท และทองคำ 2 บาท มาเป็นสินสอดวันงานแต่ง พร้อมเสนอให้ฝ่ายหญิงจัดงานแต่งวันที่ 21 เม.ย.67 เพราะเป็นวันเกิดของพ่อฝ่ายชาย

พอถึงวันที่ 10 เม.ย.67 ทั้งพ่อแม่ฝ่ายชายและญาติ รวม 10 คน เดินทางมาขออยู่ในบ้านฝ่ายหญิง จนถึงวันแต่งงาน ซึ่งก่อนงานจัดขึ้น พ่อฝ่ายชายได้พาบ่าวสาวไปจองชุดแต่งงาน เครื่องขันหมาก และของที่ใช้จัดงาน โดยจ่ายมัดจำบางส่วน และบอกว่าจบงานแล้วจะจ่ายส่วนที่เหลือให้
ก่อนจัดงานแต่งเพียง 1 วัน พ่อเจ้าบ่าว เข้ามาคุยกับพ่อแม่เจ้าสาวว่า ไม่สามารถหาเงินสินสอดตามที่บอก มาจัดงานแต่งได้ ขอเวลา 15 วัน หลังจบงานจะนำเงินมาคืน ครอบครัวฝ่ายหญิง เลยหาวิธีแก้ไขเบื้องต้น เพราะได้เชิญแขกไว้แล้ว จึงนำเงินและทองทั้งหมด สำรองจ่ายค่าจัดงานให้งานจบไปก่อน

...

หลังงานแต่งจบลง พ่อเจ้าบ่าวไม่ได้นำเงินมาชดใช้ตามตกลงไว้ 15 วัน หลังครบ 1 เดือน ก็ชำระเพียง 20,000 บาท และเดือนที่ 2 ชำระเพิ่ม 8,000 บาท จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ทางฝ่ายหญิงจึงพยายามติดต่อเจรจา และได้ตกลงทำสัญญาผ่อนจ่ายเดือนละ 10,000 บาท แต่แล้วทั้งคู่กลับเริ่มมีปากเสียงกัน จนต้องจบเส้นทางชีวิตคู่ ซึ่งการออกมาร้องเรียนกับสื่อในครั้งนี้ ก็เพื่อให้นำเงินที่ค้างอยู่มาชดใช้

ทางกฎหมายฝ่ายเจ้าสาว ต้องรับภาระค่าจัดงาน

เหตุวุ่นเรื่องเงินจัดงานแต่งงาน ไม่ใช่รายแรกที่ "ทนายเกิดผล แก้วเกิด" ทนายความชื่อดังเคยเจอ ทางกฎหมาย กรณีที่เกิดขึ้นมองว่า การที่ฝ่ายชายไปทำบันทึกข้อตกลงในการชดใช้เงินค่าแต่งงาน หรือทำหนังสือรับสภาพหนี้ ก็ต้องรับผิดชอบตามที่ได้ตกลงไว้ เพราะถือเป็นสัญญาที่สมบูรณ์แล้ว แม้คู่บ่าวสาวหย่าร้างกันแล้ว

การที่เจ้าบ่าวอายุ 21 ถือว่าบรรลุนิติภาวะ ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบเงินส่วนนี้ด้วย แต่ถ้าฝ่ายเจ้าบ่าวยังไม่สามารถผ่อนรายเดือนตามที่กำหนดไว้ได้ ก็อาจขอลดเงินผ่อนจ่ายลงมาอีก เพราะทุกอย่างประณีประนอมได้ หากมีการคุยตกลงกันของสองฝ่าย

ส่วนของฝ่ายหญิงที่นำของมีค่าไปจำนำ ซึ่งมีดอกเบี้ยเพิ่มเข้ามา หากไม่มีการระบุในสัญญา ฝ่ายชายก็อาจไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มเข้ามา
ที่ผ่านมามีคู่บ่าวสาวหลายราย ต้องกู้หนี้ยืมสินมาจัดงานแต่ง และเกิดการทะเลาะกัน เพราะตกลงเงินส่วนนี้ไม่ได้ เคยมีเคสที่มีหนี้สินจากการจัดงานแต่งงานใหญ่โต จนเป็นหนี้สิน โดยศาลฎีกา พิพากษาว่า ให้ฝ่ายชายไม่ต้องรับผิดชอบเงินส่วนนี้ เป็นเรื่องการจัดการของฝ่ายผู้หญิง แต่ฝ่ายชายมีหน้าที่นำเงินสินสอดไปให้ตามตกลง

“ตามกฎหมายค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงาน ฝ่ายหญิงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เว้นแต่ฝ่ายชายไปตกลงว่าจะช่วย แต่ต้องมีพยานในการรับรู้ ไม่สามารถพูดเพียงปากเปล่าได้ หรือมีข้อความยืนยัน เช่น ในแอปพลิเคชันไลน์ หรือ ระหว่างพิธีหมั้น ฝ่ายชายจะต้องประกาศต่อหน้าผู้อื่นว่าจะช่วยค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่ง”

การจัดงานแต่งงานเป็นเรื่องของสองคน ซึ่งตามกฎหมายมีระบุไว้เพียงการจดทะเบียนสมรส แต่เงินที่ใช้ในการจัดงานแต่งไม่มีระบุไว้ ดังนั้น สิ่งสำคัญของคนที่จะจัดงานแต่งควรดูตามความเหมาะสม และกำลังทรัพย์ของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาอย่างกรณีที่เกิดขึ้น.

...