จับตาพายุยางิ คาดกลายเป็นไต้ฝุ่นส่งอิทธิพลถึงไทย ภาคเหนือตอนบน เชียงราย น่าน พะเยา เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำจุดเดิม "รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" แนะเตรียมความพร้อมรับมือ

ฝนที่ตกลงมายังคงทำให้หลายพื้นที่ของไทยต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วม พยากรณ์สภาพอากาศเดือนกันยายนล่าสุดจากกรมอุตุนิยมวิทยามีการคาดหมายว่า ประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่นตลอดทั้งเดือน มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ส่วนใหญ่กับมีฝนหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่

ก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากรวมทั้งน้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่ นอกจากนี้จะมีพายุหมุนเขตร้อนบริเวณทะเลจีนใต้ที่มีโอกาสสูงจะเคลื่อนเข้าใกล้หรือเคลื่อนผ่านประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก

เมื่อพูดถึงพายุช่วงนี้มีอยู่ลูกหนึ่งที่ไทยควรจับตาเฝ้าระวัง นั่นก็คือ "Yagi" หรือ "ยางิ" ที่แม้ไม่เข้าไทยโดยตรง แต่อาจส่งอิทธิพลต่อภาคเหนือ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสสนทนากับ 'รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์' คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

...

พายุ Yagi ภาคเหนือเสี่ยงอ่วมซ้ำรอยเดิม :

สถานการณ์สภาพภูมิอากาศล่าสุด รศ.ดร.เสรี ระบุว่า ต้องจับตาและเฝ้าระวังพายุ Yagi แม้ขณะนี้จะยังไม่เป็นไต้ฝุ่น แต่กำลังเคลื่อนตัวเข้าทะเลจีนใต้ และคาดว่าน่าจะมีกำลังแรงกลายเป็นพายุไต้ฝุ่น ประมาณวันที่ 5 กันยายนนี้ โดยมีเส้นทางผ่านเกาะไหหลำ ก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่เวียดนามตอนบนตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน

"เส้นทางตอนนี้มันยังขยับขึ้นลง เพื่อความชัดเจนจึงต้องติดตามเส้นทางเคลื่อนตัวทุกวัน อย่างไรก็ตามคาดว่ามันจะส่งอิทธิพลต่อภาคเหนือตอนบนแน่นอน โดยเฉพาะ 3 จังหวัดหลักๆ อย่าง เชียงราย น่าน และพะเยา มีความน่ากังวลว่า อาจทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำเติมจุดเดิมอีกครั้ง นอกจากนั้นภาคอีสานตอนบน จ.หนองคาย จ.เลย ก็ต้องระวัง"

ผู้เชี่ยวชาญ IPCC กล่าวว่า เมื่อได้ดูผลการคาดการณ์จากแบบจำลอง Access ของออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่าช่วงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะฝนจะตกหนักถึงหนักมากคือระหว่างวันที่ 7-10 กันยายน 2567 แม้ว่าเส้นทางพายุจะเปลี่ยนได้ แต่ก็ขอให้เตรียมความพร้อมรับมือไว้ก่อน

ความน่ากังวลยังไม่หมดเพียงเท่านั้น รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ในอนาคตจะมีพายุมาอีกแน่นอน การคาดการณ์ล่าสุดเมื่อพายุลูกนี้เข้าแล้ว หลังวันที่ 15 กันยายนจะมีตามมาอีก สภาพอากาศของไทยต่อจากนี้ เดือนกันยายนจะมีฝนตกชุก และมีพายุจรเข้ามา ต้องเฝ้าระวังภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้เป็นพิเศษ ส่วนภาคอื่นๆ ก็ต้องจับตาเช่นกัน

เมื่อถามว่ามีภาคไหนของไทยที่เสี่ยงเจอฝนอ่วม หรือน้ำท่วมหนักกว่าภาคอื่นหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญ IPCC ตอบว่า ช่วงกันยายนเรากังวลภาคกลาง แต่ตอนนี้อย่างที่บอกไปว่าภาคเหนือน่าห่วงเพราะอิทธิพลพายุยางิ

"เหตุการณ์ตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปได้หมด แม้ไม่มีอิทธิพลของพายุเรื่องฝนก็ยังน่าห่วง ยกตัวอย่างเมืองพัทยาซึ่งอยู่ภาคตะวันออก เมื่อวานนี้ (2 กันยายน 2567) ฝนก็ตกหนักและน้ำท่วมรอการระบาย"

กรณีของปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) รศ.ดร.เสรี ชี้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ส่งอิทธิพลอะไรเลย เพราะมันจะไปไต่ระดับสูงสุดเดือนธันวาคม หมายความว่าช่วงนั้นมันเป็นหลังฤดูฝนของไทยแล้ว ผลกระทบที่จะได้จากลานีญา ทำให้ช่วงต้นปีไทยไม่ร้อน และช่วงสงกรานต์ 2568 น่าจะมีฝนเข้ามาทำให้ชุ่มฉ่ำ

...

การเตรียมรับมือ :

หากคุณผู้อ่านสังเกตถึงความผิดปกติของสภาพอากาศ จะเห็นว่าหลายอย่างรวนเกินคาดเดา ซึ่งนี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ในเมื่อสภาพอากาศเป็นอย่างนี้ เราต้องดูศักยภาพรับน้ำของชุมชนแต่ละแห่ง

"ต้องเฝ้าสังเกตปริมาณน้ำในคูคลอง ต้องมีการอัปเกรดระบบระบายน้ำ สิ่งไหนที่เคยก่อสร้างไว้ หากประเมินแล้วว่าในอนาคตอาจรับมือไม่ได้ ต้องเร่งปรับปรุงเพื่อรองรับน้ำท่วมที่รอการระบาย"

ผู้เชี่ยวชาญ IPCC ระบุว่า ในอนาคตเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จะเกิดถี่ขึ้น ยกตัวอย่างปี 2554 เป็นน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี แต่ในอนาคตระยะเวลาจะสั้นลง อาจจะท่วมใหญ่ในรอบ 10 ปี หรือ 7 ปี เมื่อเสี่ยงน้ำท่วมถี่ขึ้นก็มีความจำเป็นต้องเตรียมพื้นที่รับน้ำ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือแก้มลิง เราต้องศึกษาทั้งระบบ จะไปบอกให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งคงไม่ได้

อย่างตอนนี้มีแนวคิดปัดฝุ่นเขื่อนแก่งเสือเต้น มันอาจจะเป็นไปไม่ได้ที่ไปบอกให้สร้างเขื่อนอย่างเดียว เราต้องดูว่าอะไรมาก่อน อะไรที่ทำได้ก่อน เราก็ต้องทำไปตามลำดับ ทางการเมืองอาจจะพูดกันไป แต่จริงๆ ต้องดูทั้งระบบจะไปปักธงอย่างนั้นอาจจะไม่ใช่

...

"หากจะสร้างเขื่อนต้องศึกษาผลกระทบอย่างถี่ถ้วน เพราะตอนนี้มีทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทำกิน ขณะนี้สังคมโลกกำลังมุ่งสู่สังคมโลว์คาร์บอน หมายความว่ามีความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อดูดซับก๊าซ แต่ถ้าเรามุ่งสร้างเขื่อนตัดพื้นที่ป่า อาจกลายเป็นประเด็นที่ว่าโลกจะยอมรับเราไหมถ้าไปทำแบบนั้น"

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :

...